posttoday

มังกรรุ่นใหม่แนะเคล็ดรับไม้ต่อธุรกิจไต่เวทีโลก

30 พฤษภาคม 2556

ส่องมุมมองทายาทธุรกิจชั้นนำในการสานต่อกิจการและเดินหน้าสู่เวทีโลก

โดย...ทีมข่าวธุรกิจตลาด

ผู้ที่สร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นจนมีขนาดใหญ่ได้ ถือเป็นผู้ที่มีความสามารถสูง แต่ปัญหาที่พบคือ ตัวแทนรุ่นต่อไปที่จะมาสานต่อธุรกิจให้เติบโตได้ในระยะยาว ซึ่งหลายบริษัทประสบปัญหานี้ ล่าสุด ธนาคารกรุงเทพ ได้จัดสัมมนา บัวหลวง สมาร์ท แฟมิลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ โดยมีคนรุ่นใหม่ที่สืบทอดธุรกิจต่อจากผู้บุกเบิกธุรกิจชั้นนำมาแนะแนวทางภายใต้หัวข้อ “สู่อนาคตมังกรธุรกิจรุ่นใหม่”

ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า แนวทางของตระกูลเจียรวนนท์ คือจะให้ลูกหลานที่มีความสามารถเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ส่วนธุรกิจที่มีอยู่แล้ว มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญอยู่ ไม่จำเป็นต้องเข้ามา เพราะมองว่าหากเข้ามาทำธุรกิจที่ดีอยู่แล้ว คนที่มีความสามารถจะไม่ได้แสดงความสามารถเต็มที่ แต่หากไม่มีความสามารถแล้วเข้ามาทำธุรกิจจะทำให้ธุรกิจเสียหาย เช่นเดียวกัน ตนเองที่แตกตัวมาทำธุรกิจโทรคมนาคม จากเดิมที่ครอบครัวมีธุรกิจสินค้าเกษตรและอาหารอยู่แล้ว

“คุณพ่อสอนว่าต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ ใช้เวลาให้มีคุณค่า มองวิกฤตเป็นโอกาสเสมอ ต้องเห็นความเปลี่ยนแปลง สร้างความเปลี่ยนแปลง ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงจึงอยู่รอด สิ่งสำคัญในการบริหารงานคือ ต้องสร้างคุณค่าให้บริษัท เรียนรู้นวัตกรรม และถ่ายทอดจากรุ่นไปสู่รุ่นให้ได้ ต้องมีพันธมิตรที่ดี บุคลากรในองค์กรที่ดี เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้องค์กรเติบโตก้าวกระโดด โดย 15 ปีข้างหน้าเครือซีพีมองว่าเศรษฐกิจเอเชียจะขนาดใหญ่เท่าภูมิภาคตะวันตก ก็จะใช้จุดแข็งด้านธุรกิจเกษตรและอาหารสร้างโอกาสสู่เวทีระดับโลก” ศุภชัย กล่าว

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งเป้าหมายว่า 10 ปีข้างหน้าจะก้าวสู่ผู้นำด้านเครื่องดื่มในภูมิภาคอาเซียน ส่วนการสานต่อธุรกิจที่กำลังทำอยู่ขณะนี้คือขยายธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เข้าซื้อกิจการ เอฟแอนด์เอ็น เสริมสุข และโออิชิ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งขาธุรกิจ ทั้งแอลกอฮอล์ และไม่ใช่แอลกอฮอล์

สำหรับสิ่งที่นักธุรกิจที่สืบทอดธุรกิจควรทำหลังจากนี้คือ เตรียมตัวรับการค้าไร้พรมแดนในอนาคต ต้องเรียนรู้โอกาส เน้นบริหารต้นทุนเพื่อให้บริษัทแข่งขันได้ในเวทีการค้าไร้พรมแดน รวมทั้งสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับ และให้ความสำคัญเรื่องการกระจายสินค้า นอกจากนี้ต้องเรียนรู้ประสบการณ์จากกิจการในเครือที่ไปซื้อมา เช่น เรียนรู้จากเสริมสุขว่า การขายสินค้าต้องโฆษณาให้ถึงใจ ขายให้ถึงตัว

ทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า หลังจากนี้จะเน้นขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสการเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาคนี้ ส่วนปัจจัยสำคัญในการส่งผ่านธุรกิจจากรุ่นแรกไปยังรุ่นสอง และรุ่นต่อไปให้ได้ยั่งยืนระยะยาว จะต้องวางนโยบายให้ชัดเจนในการผลักดันธุรกิจให้ขยายตัว 15% ต่อปี ดูแลค่าใช้จ่ายให้เข้มงวดเหมือนรุ่นแรก

นอกจากนี้จะต้องจัดระบบการทำงานให้ดี แม้จะเป็น|ธุรกิจครอบครัว เพื่อไม่ให้เกิดข้อคำถามในครอบครัวว่าเหตุใดคนหนึ่งได้รับตำแหน่งนี้ อีกคนทำไมไม่ได้รับโอกาส และผู้บริหารระดับสูงไม่จำเป็นต้องเป็นคนในครอบครัวก็ได้ แต่ต้องเป็นคนที่เก่งที่สุดที่จะดูแลธุรกิจ ขณะเดียวกันต้องหาคนในครอบครัวที่เชี่ยวชาญด้านการเงิน มองความคุ้มค่าของการลงทุน เพื่อพิจารณาก่อนลงทุนขยายธุรกิจ ป้องกันความผิดพลาด

“ปัญหาที่มักเกิดคือ รุ่นหนึ่งจะหาเงินเก่ง สร้างรายได้ ขยายกิจการ ดูแลค่าใช้จ่ายเก่ง ระวังทุกอย่างเพื่อให้มีกำไรที่สุด รู้ลึกและรู้รอบเพราะดูทุกขั้นตอนในธุรกิจ แต่รุ่นต่อไปเติบโตมาพร้อมกับความเป็นอยู่ที่ดี ครอบครัวมีฐานะแล้ว ความสามารถจ่ายเงินมากขึ้น แต่ความสามารถหาเงินน้อยลง ทำให้กิจการโตช้าลง ทำงานน้อยแต่ใช้จ่ายสูง ดังนั้นหากไม่วางระบบบริหารเงิน บริหารคนที่ดี ช่วงส่งผ่านธุรกิจ จะทำให้ลำบากได้” ทศ กล่าว

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ ผู้ดำเนินธุรกิจสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า สิ่งสำคัญของผู้ประกอบการรุ่นสอง คือ ต้องแสดงให้ผู้ร่วมงานรอบข้าง ซึ่งทำงานร่วมกันมาตั้งแต่รุ่นหนึ่ง เห็นความตั้งใจทำงาน เพื่อให้ไว้ใจว่าเมื่อรับช่วงธุรกิจแล้วจะนำธุรกิจไปต่อได้

ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีธุรกิจครอบครัวที่เติบโตแข็งแกร่งอยู่แล้ว ถือเป็นโชคดีมาก แต่โชคอาจอยู่ได้ไม่นาน หากรุ่นใหม่ไม่เรียนรู้บริหารจัดการบริษัทให้เติบโตต่อไป และหวังเก็บเกี่ยวประโยชน์จากบุญเก่าที่มีอย่างเดียว ธุรกิจก็คงอยู่ไม่ได้ระยะยาว

บรรยายภาพ : ทายาทไทคูนรุ่นใหม่พร้อมภรรยา (จากซ้ายไปขวา) กลุ่มแบงก์กรุงเทพ-บางกอกแอร์เวย์ส-เซ็นทรัล-ไทยเบฟ-ซีพี