posttoday

แนะค่าแรง 300 บาทมีทางออกถ้าสมดุล

25 มกราคม 2556

ศูนย์วิเคราะห์ชี้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เอสเอ็มอีภาคอีสาน-เหนือเจ็บสุด ทางออกภาครัฐ ผู้ประกอบการและลูกจ้างต้องช่วยกัน

ศูนย์วิเคราะห์ชี้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เอสเอ็มอีภาคอีสาน-เหนือเจ็บสุด ทางออกภาครัฐ ผู้ประกอบการและลูกจ้างต้องช่วยกัน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินต้นทุนในการดำเนินการต่อรายได้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ปี 55-56 รายภาคใน 70 จังหวัดที่เหลือจาก 7 จังหวัดนำร่อง พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่าภาคอื่นๆ เกือบ 3% ในขณะที่อัตรากำไรเฉลี่ยของสองภาคนี้ต่ำกว่าภาคอื่นๆ อยู่กว่า 2% ธุรกิจที่กระทบอันดับต้นๆ ได้แก่ รับเหมาก่อสร้าง ค้าปลีกอาหาร ของใช้ในครัวเรือน สินค้าทั่วไปและอู่ซ่อมรถ กระดาษและสิ่งพิมพ์ พืชไร่ วัสดุก่อสร้าง ปศุสัตว์ เสื้อผ้า  โรงแรมและเกสท์เฮ้าส์

ส่วนมาตรการเยียวยาเอสเอ็มอีของรัฐบาล ซึ่งเน้นด้านภาษี ถือว่ายังไม่เพียงพอ เนื่องจากธุรกิจ SME ส่วนใหญ่มีภาระภาษีน้อยเมื่อเทียบกับต้นทุนแรงงาน นอกจากนั้นสวัสดิการต่างๆ เช่น ค่าอาหารและที่พัก ผู้ประกอบการ SME เองก็ไม่สามารถไปตัดออกไปได้ เพราะลักษณะธุรกิจของ SME ส่วนใหญ่ดูแลกันอย่างใกล้ชิด เมื่อปรับค่าแรงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกภาระเพิ่มขึ้น และไม่สามารถปรับส่วนอื่นมาชดเชยได้

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี มองว่า ทุกฝ่ายต้องพัฒนาในทุกๆ ด้านพร้อมกัน ผู้ประกอบการต้องหันมาเน้นเรื่องคุณภาพและความคุ้มค่าของสินค้าต่อผู้บริโภคมากขึ้น ลดภาระต้นทุน ฝึกอบรมเพิ่มทักษะแรงงาน และทดลองขยายตลาดใหม่ๆ ส่วนแรงงานเองก็ต้องหันมาพัฒนาทักษะการทำงานของตัวเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเพื่อประโยนช์ต่อธุรกิจและสอดคล้องกับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ภาครัฐต้องหามาตรการเยียวยาเร่งด่วนระยะสั้นเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้เร็วขึ้นโดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการที่อาจไม่ได้รับการเยียวยาผ่านมาตรการทางภาษี พร้อมทั้งเข้ามาดูแลราคาพลังงาน วัตถุดิบ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดอีกหนึ่งปัจจัยคือเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเศรษฐกิจดี ผู้บริโภคและนักลงทุนก็กล้าจับจ่ายกล้าลงทุน ผู้ประกอบการก็ผลิตและขายของได้ การจ้างงานก็ไม่ได้รับผลกระทบ เห็นได้ว่าเมื่อทุกอย่างสมดุลปัญหา 300 บาทก็คงไม่หนักจนเกินไป