posttoday

ปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมก.ย.นี้

31 สิงหาคม 2555

สนพ. ยันก.ย.นี้ ปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคอุตสาหกรรม ชนเพดาน 30.13 บาท/ต่อก.ก. ตามราคาตลาดโลก

สนพ. ยันก.ย.นี้ ปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคอุตสาหกรรม ชนเพดาน 30.13 บาท/ต่อก.ก. ตามราคาตลาดโลก

นายสุชาลี สุมามาลย์   ผู้อำนวยการสำนักนโยบายปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ)   เปิดเผยว่า สนพ จะปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคอุตสาหกรรม ในเดือนกันยายนนี้ จากเดิม 29.56 บาท /ก.ก. เป็น 30.13 บาท /ก.ก. เนื่องจากราคาแอลพีจีในตลาดโลก ในเดือนกันยายน ปรับตัวสูงขึ้นจาก 775 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็น 954 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งมีผลทำให้แอลพีจีมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็น 34 บาท/ก.ก.

การปรับราคาครั้งนี้ถือเป็นการปรับขึ้นตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มอบหมายให้ สนพ. สามารถประกาศปรับราคาแอลพีจีให้สะท้อนราคาต้นทุนแอลพีจีที่ผลิตจากโรงกลั่นได้ประจำทุกเดือน แต่ต้องไม่เกิน 30.13 บาท/ก.ก. ซึ่งเป็นราคาสูงสุดตามแนวทางการลอยตัวแอลพีจี ภาคอุตสาหกรรม ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเริ่มปรับราคามาตั้งแต่เดือนก.ค. 2554

ทั้งนี้การปรับขึ้นราคาแอลพีจีตลาดโลกในครั้งนี้ ปรับตามราคาน้ำมันดิบและเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้แอลพีจี สูง ซึ่งหากราคาแอลพีจีตลาดโลกมีการปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง จนจำเป็นต้องปรับราคาแอลพีจี สูงกว่า 30.13 บาท/ก.ก.ต้องมีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีรมว.พลังงานเป็นประธาน เพื่อพิจารณาอีกครั้ง

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า การที่รัฐบาลปรับโครงสร้างราคาแอลพีจี ภาคอุตสาหกรรม ให้เป็นไปตามกลไกของตลาด อาจจะส่งผลเสียในอนาคตได้ เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถที่จะควบคุมต้นทุนการผลิตได้แน่นอน เนื่องจากแอลพีจี ภาคอุตสาหกรรม อิงราคาแอลพีจีที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และมีราคาที่ไม่แน่นอน  ซึ่งอาจทำให้ศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดโลกลดลง  โดยเฉพาะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้  เพราะกลุ่มประเทศสมาชิก โดยเฉพาะ มาเลเชีย นำแอลพีจีที่มีอยู่ในประเทศ มาใช้ในภาคอุตสาหกรรม ทำให้สามารถควมคุมราคาทุนได้  ในขณะที่ต้นทุนพลังงานของไทยต้องขึ้นลงตามกลไกตลาดโลก  เมื่อเข้าสู่ตลาดเสรีเออีซี อาจทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้าน เพราะภาคอุตสาหกรรม มีต้นทุนด้านพลังงานที่มีราคาแพง ดังนั้นรัฐบาลจะต้องปรับโครงสร้างราคาให้สะท้อนต้นทุนการผลิตในประเทศ และการนำเข้า โดยให้มีราคาเดียวกันทั้งภาคอุตสาหกรรม ขนส่ง และครัวเรือน ภายในปี 2557