posttoday

บีโอไออนุมัติโครงการฟื้นฟูน้ำท่วม

06 สิงหาคม 2555

บีโอไออนุมัติโครงการมาตรการฟื้นฟูน้ำท่วม 24 โครงการ มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท ลงทุนที่เดิม 21 โครงการ ลงทุนใหม่ในพื้นที่น้ำท่วม 1 โครงการ และย้ายไปที่อื่น 2 โครงการ

บีโอไออนุมัติโครงการมาตรการฟื้นฟูน้ำท่วม 24 โครงการ มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท ลงทุนที่เดิม 21 โครงการ ลงทุนใหม่ในพื้นที่น้ำท่วม 1 โครงการ และย้ายไปที่อื่น 2 โครงการ

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติการขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการเพื่อฟื้นฟูฯ ตามนโยบายของรัฐบาลรวม 24 โครงการ เงินลงทุนรวม 1.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการอนุมัติภายใต้มาตรการด้านภาษีอากรเพื่อฟื้นฟูกิจการในพื้นที่เดิม 21 โครงการ มูลค่า 6,601 ล้านบาท โครงการลงทุนใหม่ในพื้นที่น้ำท่วม 1 โครงการ คือ บริษัท ซันแฟลค (ประเทศไทย) เงินลงทุน 675 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โครงการที่ขอลงทุนพื้นที่ใหม่ 2 โครงการ คือ บริษัท โซนี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ผลิตกล้องถ่ายรูปดิจิตอล ผลิตชุดเลนส์ และชิ้นส่วนสำหรับกล้องถ่ายรูปดิจิตอล เงินลงทุน 5,772 ล้านบาท เดิมตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) จ.พระนครศรีอยุธยา ย้ายไปตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี  และบริษัท เอคโค่ (ประเทศไทย) ผลิตรองเท้าและชิ้นส่วนชื่อดังจาเดนมาร์ก เงินลงทุนทั้งสิ้น 331 ล้านบาท เดิมตั้งอยู่ที่ นิคมฯ สหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา ย้ายไปตั้งอยู่ที่ อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี โดยบริษัทเอคโค่ย้ายไปทั้งหมด 6 โครงการ จากมีที่ทั้งหมด 7 โครงการ ทำให้เหลือโครงการอยู่ในนิคมฯสหรัตนนครเพียง 1 โครงการ

"การย้ายออกจากพื้นที่การลงทุนเดิมน่าจะมาจากความไม่มั่นใจในมาตรการป้องกันน้ำของพื้นที่เดิม โดยเฉพาะบริษัทเอคโค่ย้ายการลงทุนไปพื้นที่ใหม่เกือบทั้งหมด" ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ กล่าว

สำหรับสถิติการยื่นขอรับการส่งเสริมตามมาตรการฟื้นฟูลงทุนจากอุทกภัยทั้งในพื้นที่น้ำท่วมเดิมและพื้นที่ใหม่ จนถึงปัจจุบันมีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมรวม 105 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 6.27 หมื่นล้านบาท อนุมัติรวม 4 ครั้ง จำนวน 63 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 3.2 หมื่นล้านบาท

การลงทุนโครงการใหม่ในนิคมและเขตอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี มีจำนวนโครงการที่ยื่นรับการส่งเสริมรวม 17 โครงการ มูลค่าการลงทุน รวม 1.2 ล้านบาท อนุมัติรวม 4 ครั้ง จำนวน 5 โครงการ มูลค่าการลงทุน 8,528 ล้านบาท รวมมีผู้ขอส่งเสริมลงทุน 122 โครงการ วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 7.47 หมื่นล้านบาท โดยมาตรการส่งเสริมดังกล่าวจะหมดอายุวันที่ 31 ธ.ค.นี้

นอกจากนี้มีบริษัทได้รับการอนุมัติให้นำเข้าเครื่องจักรมาทดแทนเครื่องที่เสียหาย รวม 493 โครงการ รวมมูลค่าเครื่องจักร 1.08 แสนล้านบาท ภายใต้มาตรการมาตรการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่นำเข้ามาทดแทนเครื่องจักรที่เสียหายจากอุทกภัย ซึ่งมาตรการจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.เช่นกัน

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ที่ประชุมกลับไปทำตัวเลขเม็ดเงินลงทุนที่แท้จริง ตลอดจนตัวเลขการจ้างงาน เพื่อประเมินว่าสุดท้ายแล้วนโยบายดังกล่าวมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงานในพื้นที่เดิมแค่ไหน รวมทั้งช่วยชดเชยเม็ดเงินที่สูญเสียไปกับอุทกภัยครั้งที่ผ่านมาราว 4-5 แสนล้านบาทได้เพียงใด จากนั้นรัฐบาลจะกลับมาพิจารณาผลการดำเนินงานอีกครั้ง