posttoday

กสทช.ออก20ประกาศคุมสื่อ

12 กรกฎาคม 2555

กสทช.เตรียมออก 20 ประกาศคุมเข้มวิทยุ-โทรทัศน์-สื่อดาวเทียม ก่อนเปิดเสรีให้ใบอนุญาตภายใน 2-3 เดือนนี้

กสทช.เตรียมออก 20 ประกาศคุมเข้มวิทยุ-โทรทัศน์-สื่อดาวเทียม ก่อนเปิดเสรีให้ใบอนุญาตภายใน 2-3 เดือนนี้

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช.เตรียมออกประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆเกี่ยวกับการประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ ทั้งที่ใช้คลื่นความถี่ เช่น โทรทัศน์และวิทยุที่มีอยู่เดิม และกิจการไม่ใช่คลื่นความถี่ เช่น เคเบิลและทีวีดาวเทียมกว่า 20 ประกาศ ครอบคลุมทุกด้านทั้งการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ, มาตรฐานด้านเทคนิคการรับ-ส่งสัญญาณ, การกำกับดูแลด้านเนื้อหาและการคุ้มครองผู้บริโภค ในทุกๆกิจการ ทั้งวิทยุชุมชน วิทยุหลัก ฟรีทีวี เคเบิล และทีวีดาวเทียม เป็นต้น

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะทยอยประกาศใช้ เพื่อให้ทันกับการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการด้านต่าง ๆ อย่างเสรี เช่น ภายในสัปดาห์หน้าจะพิจารณาประกาศเกี่ยวกับเกณฑ์การนำพาช่องรายการโทรทัศน์ผ่านระบบอื่น (มัส แครี่ รูล) ซึ่งเป็นประกาศฉุกเฉินที่ประชาพิจารณ์ภายใน 7 วัน คาดว่าจะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหญ่วันที่ 18 ก.ค.นี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีประกาศใช้ในราชกิจจาฯ

นอกจากนี้ จะพิจารณาหลักเกณฑ์การทดลองออกอากาศวิทยุชุมชน ที่ขึ้นทะเบียนกับกสทช.จำนวน 6,600 สถานี ซึ่งจะคุ้มครองให้ออกอากาศได้ 300 วัน ระหว่างนี้กสทช.จะกำหนดเกณฑ์ในการกำกับดูแลในช่วงของการทดลองออกอากาศด้วย เพื่อดูแลให้ทั่วถึงมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการโฆษณา การรบกวนกันของสัญญาณ รวมทั้งเนื้อหาที่เข้าข่ายเกี่ยวข้องกับการเมืองต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถกำกับดูแลได้เลย

"ในช่วง 2-3 เดือนนี้ จะออกประกาศหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่จะมากำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์ ที่จะเปิดเสรีให้มีใบอนุญาตประกอบกิจการได้ตามกฎหมาย ซึ่งทุกวันนี้หากไม่นับรวมสื่อหลักที่มีอยู่เดิม ยังมีสื่อใหม่เกิดขึ้นอีกจำนวนมาก ทั้งเคเบิลและทีวีดาวเทียมอีกหลายร้อยช่อง ต้องนำมาสู่กระบวนการกำกับดูแลทั้งหมด" น.ส.สุภิญญากล่าว

อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนของสื่อที่มีมากมายมหาศาล คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ของกสทช.อาจดูแลไม่ทั่วถึง งานด้านคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้จัดเวทีสัมนาระดับชาติของผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งเริ่มเปิดอย่างเป็นทางการและจะเดินสายไปยัง 9 จังหวัด ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อสร้างเครือข่ายผู้บริโภคในการเฝ้าระวังสื่อที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะในแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งเป็นการให้ความรู้ และให้ผู้บริโภคตระหนักในสิทธิของการรับรู้ ข้อมูล ข่าวสาร รวมถึงเปิดช่องให้ร้องเรียนที่ได้รับจากการบริโภคสื่อด้วย