posttoday

รอดู

23 พฤษภาคม 2560

โดย...บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้

โดย...บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้

ภาพรวมผลประกอบการไตรมาสแรก ปี 2560 มีกำไรสุทธิดีขึ้นมาก บวก 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และบวก 38% จากไตรมาส 4 ปี 2559 มาที่ 2.84 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 16 พ.ค. จำนวน 540 จาก 594 บริษัท หรือคิดเป็น 91%) แต่การเพิ่มขึ้นของกำไรส่วนใหญ่ถูกกระจุกตัวในกลุ่มพลังงานและกลุ่มปิโตรเคมีเป็นหลัก ซึ่งมีรายการพิเศษหลายรายการ หากไม่รวมกำไรในกลุ่มพลังงานและกลุ่มปิโตรเคมีที่รวมอยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท กำไรสุทธิของกลุ่มอื่นๆ จะรวมเท่ากับ 1.74 แสนล้านบาท แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (บวก 2%)

หากเทียบผลกำไรที่ออกมากับคาดการณ์ของตลาดโดยรวม (Bloomberg Consensus) จำนวนทั้งสิ้น 142 บริษัท จะมีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 2.43 แสนล้านบาท ดีกว่าตลาดคาดไว้เฉลี่ยถึง 18% (ตลาดคาดการณ์กำไรรวมไว้ที่ 2.05 แสนล้านบาท) แต่หลักๆ มาจากหุ้นขนาดใหญ่อย่าง บริษัท ปตท. (PTT) (ประกาศกำไรสุทธิ 4.61 หมื่นล้านบาท ดีกว่าตลาดคาด 53%) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) (กำไรสุทธิ 1.73 หมื่นล้านบาท ดีกว่าคาด 27%) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) (กำไรสุทธิ 1.31 หมื่นล้านบาท ดีกว่าคาด 20%) และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP)(กำไรสุทธิ 1.22 หมื่นล้านบาท ดีกว่าคาด 85%)

แม้กำไรในไตรมาสแรกนี้จะดีกว่าตลาดคาดถึง 18% แต่ตลอดช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ภาพรวมประมาณการกำไรของตลาดยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมกลับพบว่ามีจำนวนบริษัทถูกปรับประมาณการกำไรลงมากกว่าการปรับประมาณการขึ้น  โดยเป็นบริษัทขนาดกลาง-เล็ก และกลุ่มที่มีจำนวนบริษัทสุทธิเป็นการปรับประมาณการกำไรลงมากที่สุด คือกลุ่มอาหาร 8 บริษัท ตามด้วยกลุ่มการแพทย์ 6 บริษัท และขนส่ง 5 บริษัท

นอกจากประมาณการกำไรของบริษัทขนาดกลาง-เล็ก มีแนวโน้มปรับลงแล้ว เรายังไม่เห็นปัจจัยที่จะดึงดูดกระแสเงินทุนต่างประเทศให้ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นจาก

(1) แม้หุ้นต่างประเทศทั้งในยุโรปและสหรัฐจะเสี่ยงปรับฐานในระยะสั้น แต่เรามองโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นพัฒนาแล้วเปิดกว้างกว่า จากความเสี่ยงทางการเมืองในยุโรปที่ลดลงต่อเนื่อง และความคืบหน้าแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐในระยะข้างหน้า

(2) หากจะเทียบกับบรรดาตลาดหุ้นเกิดใหม่ การประเมินมูลค่าหุ้นไทยก็ค่อนข้างตึงตัว (สัดส่วนราคาต่อกำไร (พี/อี) ปี 2560 อยู่ที่ 15.1 เท่า) สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวและค่าเฉลี่ยในแถบภูมิภาคนี้ (ทั้งคู่อยู่ที่พี/อีล่วงหน้า ที่ 14.6-14.7x) (3) คาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า (13-14 มิ.ย.) กดดันบาทอ่อนค่า (4) TISCO Economic Strategy Unit (TISCO ESU) คาดการณ์เบื้องต้น เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 จะขยายตัวต่ำที่สุดของปีนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงมองหุ้นไทยมีแนวโน้มแกว่งซิกแซ็กลง หรือยังคงมีแนวโน้มเคลื่อนไหวแย่กว่าตลาดหุ้นต่างประเทศและตลาดหุ้นภูมิภาคต่อไปอย่างน้อยในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า

ภาพรวมกลยุทธ์การลงทุนของเรายังแนะนำรอและให้ติดตามสถานการณ์เป็นหลัก รอซื้อสะสมที่ SET Index ต่ำกว่าระดับ 1,520 จุดลงมา โดยแนะนำหุ้นพื้นฐานดีขนาดกลางถึงใหญ่ที่กำไรและปันผลดี แนะนำธนาคารกรุงเทพ (BBL) บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA) บริษัท แม็คกรุ๊ป (MC) บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ (TASCO) บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) แม้ SET Index อาจมีดีดกลับทางเทคนิค แต่มองเป็นจังหวะขายลดพอร์ต-ถือเงินสดเพิ่มมากกว่า (มองการดีดกลับไม่น่าพ้นระดับ 1,560 จุด และมีโอกาสอ่อนตัวลงต่อ)

ภาวะตลาดช่วงนี้ทำได้แค่เพียงการเก็งกำไรระยะสั้น ซึ่งเหมาะสำหรับผู้รับความเสี่ยงสูงได้เท่านั้น โดยแนะนำเลือกหุ้นในประเด็นการลงทุนดังต่อไปนี้

(1) หุ้นงบดีกว่าตลาดคาด มีโอกาสปรับประมาณการขึ้น ชอบ บริษัท อาปิโก ไฮเทค (AH) บริษัท ซีโอแอล (COL) บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) HANA บริษัท ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น (SYNTEC)

(2) หุ้นคาดเข้า SET50 Index ชอบ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) บริษัท เมืองไทยลิสซิ่ง (MTLS) คาดเข้า SET100 Index ชอบบริษัท บีซีพีจี (BCPG) บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK) บริษัท เมก้าไลฟ์ไซแอ็นซ์ (MEGA)

(3) หุ้นที่กำไรปีนี้จะโตสดใสและมีสตอรี่หนุนในระยะสั้น ชอบ บริษัท เบตเตอร์เวิลด์ (BWG) บริษัท มาลีกรุ๊ป (MALEE) บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI) บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก (SUPER) บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) และ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ (WICE)