posttoday

ความรู้ทางการเงิน: คุณรู้จักระบบการเงินส่วนตัวมากแค่ไหน

06 พฤษภาคม 2557

โดย...ธีระ ภู่ตระกูล CFP® นายก สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

โดย...ธีระ ภู่ตระกูล CFP® นายก สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

มีสามีและภรรยาขี้บ่นคู่หนึ่ง ได้เดินทางไปเที่ยวที่เมืองเยรูซาเล็ม ภริยาของเขาได้เสียชีวิตลงในระหว่างที่พวกเขาพักผ่อนอยู่ที่เมืองดังกล่าว สัปเหร่อได้ถามผู้เป็นสามี ว่า “คุณสามารถฝังศพของภริยาคุณในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ Holy Land แห่งนี้ โดยจะมีค่าใช้จ่าย 150 ดอลลาร์ หรือ คุณสามารถส่งศพเธอกลับบ้านเกิด ซึ่งจะมีค่าใช้จ่าย 5,000 ดอลลาร์” ผู้เป็นสามีนั่งคิดเกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าว และตัดสินใจบอกสัปเหร่อว่า ให้ส่งศพของเธอกลับบ้านเกิด สัปเหร่อจึงถามว่า “ทำไมคุณถึงยอมเสียเงินถึง 5,000 ดอลลาร์ เพื่อส่งศพภริยาของคุณกลับบ้าน เมื่อคุณสามารถจัดพิธีฝังศพให้เธออย่างสวยงามที่นี่ โดยใช้เงินเพียง 150 ดอลลาร์ เท่านั้น” ผู้เป็นสามีจึงตอบว่า “เมื่อนานมาแล้ว มีผู้ชายคนหนึ่งได้เสียชีวิตในดินแดนแห่งนี้ ถูกฝังอยู่ที่นี่ และสามวันหลังจากนั้น ก็ได้ฟื้นคืนชีพ ผมเลยไม่อยากจะเสี่ยงอย่างนั้น”

คุณสามารถบอกผมได้หรือไม่ว่าคุณจะเลือกข้อเสนอชนิดไหน ทุกวันนี้ โครงการความรู้ทางการเงิน (financial literacy) กำลังเป็นสิ่งที่นิยมมากในกลุ่มของหน่วยงานกำกับดูแล นักการเมือง องค์กรอิสระ และสื่อมวลชน ผลสำรวจ Financial Literacy Survey ซึ่งได้จัดทำขึ้นโดยศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง) ธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2556 ระบุว่า โดยเฉลี่ยคนไทยมีความรู้เกี่ยวกับการเงินน้อยกว่าอีก 14 ประเทศที่ร่วมในการสำรวจของ OECD ซึ่งการสำรวจดังกล่าว จะประกอบด้วยสามส่วน คือ ความรู้เกี่ยวกับการเงิน พฤติกรรมเกี่ยวกับการเงิน และท่าทีเกี่ยวกับการเงิน และตามความคาดหมาย ผู้ที่มีรายได้และการศึกษาต่ำ มักจะได้คะแนนความรู้เกี่ยวกับบระบบการเงินที่ต่ำเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนไทยมักจะไม่เข้าใจเกี่ยวกับการคำนวนดอกเบี้ยทบต้น นโยบายการประกันเงินฝาก และมูลค่าของเงินตามช่วงเวลา (Time Value of Money)

นอกจากนี้ คนไทยจะมีคะแนนพฤติกรรมทางการเงินที่ต่ำมาก โดยเฉพาะเกี่ยวกับ ความรับผิดชอบและความจำเป็นที่ต้องมีบัญชีครัวเรือน ซึ่งปรากฏว่า ร้อยละ 93.5 ของผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจจะมีคะแนน 0 ในส่วนนี้ อีกพฤติกรรมที่คนไทยมักจะได้คะแนนที่ต่ำมากคือ การตัดสินใจโดยมีข้อมูลที่พร้อมและการเปรียบเทียบข้อมูล ก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งในประเด็นนี้ ร้อยละ 47.7 ของผู้เข้าร่วมสำรวจมักจะตัดสินใจโดยไม่มีข้อมูลที่พร้อม หรือเปรียบเทียบข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ พฤติกรรมที่โยงกับท่าทีว่าจะมีการออมเงินสำหรับอนาคต แทนที่จะใช้ในปัจจุบัน ก็ได้รับคะแนนที่ไม่สูงมากนัก

ไม่เป็นที่แปลกใจที่การให้ข้อมูล/ความรู้ทางการเงินจะเป็นนโยบายเชิงรุกของนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งหวังไว้ว่า คนที่ได้รับความรู้เกี่ยวกับการเงินเป็นอย่างดี จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเขาได้ และสามารถบริหารการเงินส่วนตัวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เวลาเท่านั้นจะตอบได้ว่าการริเริ่มดังกล่าวจะประสบความสำเร็จมากแค่ไหน แต่หากพูดตรงๆ ผมก็ไม่ได้หวังอะไรมากนัก ถึงแม้ในตลาดที่ที่พัฒนาแล้วอย่างตลาดสหรัฐฯ ก็ยังมีคนเป็นจำนวนมากที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเงิน ผลการวิจัยโดย DALBAR ซึ่งเป็นสถาบันค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับตลาดที่ตั้งอยู่ในเมืองบอสตัน พบว่า ผลตอบแทนของนักลงทุนทั่วไปมักจะต่ำกว่าดัชนีของตลาด ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนในอเมริกาโดยเฉลี่ยจะได้ผลตอบแทนปีละประมาณร้อยละ 3.7 แต่หากนักลงทุนเหล่านี้เลือกที่จะลงทุนในหุ้นผ่านกองทุนรวมดัชนี S&P 500 ผลตอบแทนที่พวกเขาจะได้รับจะสูงถึงร้อยละ 11 ต่อปี ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

DALBAR พบว่าปัญหาจะอยู่ที่สถาบันการเงิน ซึ่งมักจะใช้ศัพท์เทคนิคเฉพาะในการอธิบายประเด็นต่างๆ ในทางที่นักลงทุนทั่วไปจะไม่เข้าใจ สำหรับคนทั่วไป คำว่า เบต้า (BETA) ความสัมพันธ์ (correlation) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) หรือแม้แต่คำว่า การจัดสรรหลักทรัพย์ (asset allocation) และการกระจายความเสี่ยงของสินทรัพย์ (diversification) ล้วนแต่เป็นคำที่ยากเกินกว่าจะเข้าใจได้ นักลงทุนหลายคนยังไม่เข้าใจว่า การซื้อและถือไว้ (buy and hold) แปลว่าอะไร เพราะฉนั้น สิ่งแรกที่ต้องปรับปรุงคือ เลิกใช้คำทรัพย์เทคนิคเฉพาะเหล่านี้และใช้คำศัพท์ง่ายๆที่คนหมู่มากสามารถเข้าใจได้  และนี่คือเหตุผลที่กองทุนเพื่อการเกษียณประเภทที่มีกำหนดวันที่ (target dated fund) มีการคำนวนและปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนโดยอัตโนมัติ มีการนำเงินปันผลไปลงทุนอีกครั้ง และมีการเก็บเงินลงทุนโดยอัตโนมัติโดยหักจากเงินเดือน แม้จะมีข้อด้อยอยู่บ้าง แต่กองทุนเหล่านี้ มักจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับหลายคน

ผู้อ่านสามารถส่งคำถามเกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคลให้ผมได้ที่ [email protected]