posttoday

เริ่มใช้ระบบชำระบิลข้ามแบงก์18พ.ย.

17 พฤศจิกายน 2560

ธปท. เผย 18 พ.ย.นี้เริ่มใช้ระบบกลางชำระบิลข้ามแบงก์ องค์กรการกุศลฟรี ใช้บริการบิลทั่วไปเริ่มต้น 5 บาท ด้านคิวอาร์โค้ด พร้อมใช้งาน ร้านค้าติดต่อแบงก์ออกคิวอาร์โค้ดได้แล้ว ของจริงต้องรับชำระเงินข้ามแบงก์ได้

ธปท. เผย 18 พ.ย.นี้เริ่มใช้ระบบกลางชำระบิลข้ามแบงก์ องค์กรการกุศลฟรี ใช้บริการบิลทั่วไปเริ่มต้น 5 บาท ด้านคิวอาร์โค้ด พร้อมใช้งาน ร้านค้าติดต่อแบงก์ออกคิวอาร์โค้ดได้แล้ว ของจริงต้องรับชำระเงินข้ามแบงก์ได้

น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า วันที่ 18 พ.ย. นี้พร้อมให้บริการระบบกลางบริการชำระบิลข้ามธนาคารอย่างเป็นทางการ โดยระบบนี้ใช้โครงสร้างพื้นฐานระบบพร้อมเพย์ช่วยให้ผู้ออกบิลมีช่องทางรับชำระบิลแบบข้ามธนาคารได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีกับทุกธนาคารเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งจะทำให้ทั้งร้านค้าและลูกค้าที่ใช้บริการสะดวกขึ้น

ทั้งนี้ภาคธุรกิจที่สนใจติดต่อธนาคารที่ร่วมบริการได้ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย.นี้เป็นต้นไป โดยดูรายชื่อธนาคารได้จากเว็บไซต์ ธปท. (bot.or.th) หัวข้อระบบการชำระเงิน ส่วนประชาชนจะได้ใช้บริการเมื่อใดนั้นธนาคารและผู้ออกบิลจะทยอยเปิดให้บริการและแจ้งประชาชนทราบต่อไป เบื้องต้น ธนาคารที่ร่วมบริการในแต่ละฝั่งบริการมีทั้งหมด 10 ราย แบ่งเป็นฝั่งให้บริการผู้ออกบิล และฝั่งให้บริการประชาชน

สำหรับค่าธรรมเนียมชำระบิลระบบใหม่ หากเป็นรายการชำระเงินเพื่อการกุศล ไม่มีค่าธรรมเนียม หากชำระช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เอทีเอ็ม โมบายแบงกิ้ง และอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ค่าธรรมเนียมไม่เกิน 5 บาท ส่วนจะต่ำกว่านั้นหรือไม่ หรือคิดเป็นอัตราขั้นบันไดตามจำนวนเงินหรือไม่ขึ้นอยู่กับธนาคารกำหนด หากชำระผ่านช่องทางสาขาอยู่ที่ไม่เกิน 20 บาท

อนึ่งธนาคารที่ให้บริการชำระบิลข้ามธนาคารได้ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาต ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ. ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ธนาคารมิซูโฮ จำกัด สาขากรุงเทพฯ และธนาคารออมสิน

ด้านความคืบหน้าการใช้คิวอาร์โค้ดมาตรฐานชำระเงินนั้น หลังให้ 5 ธนาคารพาณิชย์ออกจากการทดสอบในแซนบ๊อกซ์ ให้บริการทั่วไปได้แล้วสำหรับการชำระเงินด้วยคิวอาร์ โค้ดผ่านระบบพร้อมเพย์ ขณะนี้มีอีก 4 รายอยู่ในแซนบ๊อกซ์จะทยอยออกต่อไป ได้แก่ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาต และบริษัท บัตรกรุงไทย ขณะที่ระยะต่อไปก็จะทดสอบการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด ผ่านบัตรเครดิต คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ต้นปีหน้า

“ร้านค้าที่สนใจใช้คิวอาร์โค้ดชำระเงิน ให้ติดต่อกับธนตาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตเป็นการทั่วไปที่ตัวเองใช้บริการอยู่ ธนาคารจะพิมพ์คิวอาร์โค้ดที่เป็นมาตรฐานไปให้ติดที่ร้านค้า โดยหลักสำคัญของคิวอาร์โค้ดมาตรฐานของจริงที่ลูกค้าตรวจสอบได้ง่ายคือต้องชำระข้ามธนาคารได้ ตรวจสอบแล้วชื่อร้านค้า จำนวนเงินที่ต้องจ่ายตรงกับที่ระบุในป้ายคิวอาร์โค้ดมาตรฐาน ขณะที่ร้านค้าเองต้องหมั่นตรวจสอบคิวอาร์โค้ดว่าไม่มีใครนำคิวอาร์โค้ดอื่นมาแปะซ้อน”