posttoday

เงินนอกเริ่มไหลเข้า ซื้อพันธบัตรไทย

01 มีนาคม 2559

นักลงทุนกลับมาลงทุนในพันธบัตรของประเทศตลาดเกิดใหม่มากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลักมีทิศทางผ่อนคลาย

โดย...ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานเงินทุนเคลื่อนย้ายในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา มีการเกินดุลสุทธิ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท) เป็นการเกินดุลเป็นเดือนแรกหลังจากที่ขาดดุลต่อเนื่องมา 6 เดือน

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเยอรมนี ในธุรกิจการผลิตน้ำมันและไขมันจากพืชและสัตว์ ตัวกลางทางการเงินและการผลิตยานยนต์ การชำระคืนสินเชื่อทางการค้าของคู่ค้าในต่างประเทศแก่ผู้ส่งออกไทย และการซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาล และ ธปท. ของนักลงทุนต่างชาติสอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนในภูมิภาค

แม้ว่าในช่วงต้นเดือนจะมีเงินทุนไหลออกจากความกังวลของนักลงทุนต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แต่ในช่วงครึ่งหลังของเดือนนักลงทุนกลับมาลงทุนในพันธบัตรของประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Economies : EMEs) มากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลักมีทิศทางผ่อนคลายมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ประกอบกับการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับธนาคารกลางเป็นติดลบ 0.1%  (Negative Interest Rate)

อย่างไรก็ดี ในเดือน ม.ค.นี้ นักลงทุนไทยยังคงออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (TDI) อย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของธุรกิจการให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ การแปรรูปและการถนอมเนื้อสัตว์ และที่พักแรมระยะสั้น สำหรับดุลการชำระเงินเกินดุล 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.62 แสนล้านบาท)

ในเดือน ม.ค. 2559 ดุลการค้าเกินดุล 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ยังอยู่ในระดับต่ำขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุล 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ จากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาลท่องเที่ยว ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4,100 ล้านเหรียญสหรัฐ

อัตราเงินเฟ้อโลกในเดือน ม.ค. 2559 ยังทรงตัวในระดับต่ำตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีทิศทางหดตัวสอดคล้องกับการส่งออกของภูมิภาค โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวสูงที่ 9.3% จากระยะเดียวกันของปีก่อน เมื่อหักทองคำแล้วการส่งออกสินค้าหดตัว 8.1% จากการหดตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่ยังได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของจีนและอาเซียนที่ชะลอตัว

การนำเข้าสินค้าของไทยหดตัว 17.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่รวมทองคำจะหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น 18.6% ซึ่งเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่หดตัวสูงจากน้ำมันดิบ และโลหะตามทิศทางราคาในตลาดโลก และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวตามการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าทุนหดตัวตามการนำเข้าเครื่องบินเป็นสำคัญจากผลของฐานสูงในปีก่อน ด้านการนำเข้าหม้อแปลงและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชะลอลงหลังจากที่เร่งตัวมากในช่วงปลายปี 2558 เพื่อลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน สำหรับการนำเข้าสินค้าทุนอื่นๆ ยังคงหดตัวสะท้อนการลงทุนในประเทศที่ยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะในบางภาคธุรกิจ

ภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวตามเศรษฐกิจจีน ญี่ปุ่น และเอเชีย ขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐ และกลุ่มยูโรขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ในไตรมาส 4 ปี 2558 เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วชะลอลงจากไตรมาสก่อน โดยเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 0.7% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าชะลอลงจาก 2% ตามการลดลงของสินค้าคงคลังและการลงทุน รวมถึงการส่งออกสุทธิที่
หดตัวเป็นสำคัญ

เศรษฐกิจกลุ่มยูโร ทรงตัวจากไตรมาสก่อนโดยขยายตัว 0.3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวจากการบริโภคในประเทศทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน แม้การส่งออกสุทธิจะปรับลดลง

ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัว 0.4% จากที่ขยายตัว 0.3% ในไตรมาสก่อนตามการส่งออกที่หดตัว และการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับลดลงมากซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวด้านสภาวะอากาศ ด้านเศรษฐกิจของจีนและประเทศเอเชียชะลอลงจากไตรมาสก่อนตามการส่งออกสุทธิและอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลงต่อเนื่อง

ทางด้าน เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วโดยรวมยังมีทิศทางฟื้นตัว เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวตามการบริโภคภาคเอกชน ในขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวตามการผลิตรถยนต์ที่เร่งขึ้นหลังจากที่หดตัวไปในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558

สำหรับเศรษฐกิจกลุ่มยูโร อุปสงค์ในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวโดยมีแรงสนับสนุนจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำและการจ้างงานที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ดี การผลิตเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมที่ปรับลดลงหลังจากสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนก่อนหน้า ด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอลงจากทั้งภาคการบริโภคและภาคการผลิตสะท้อนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมที่ปรับลดลง

ด้านเศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยการส่งออกหดตัวในอัตราที่สูงขึ้นตามภาวะซบเซาของการค้าโลกส่งผลให้การผลิตชะลอตัว สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 อย่างไรก็ดี การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินโดยรวมขยายตัวสูงขึ้นซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลของมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับเศรษฐกิจของประเทศเอเชียชะลอลงจากเดือนก่อนตามการส่งออกที่ยังหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้การบริโภคในประเทศของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียชะลอลง