posttoday

"ลักษณ์ วจนานวัช" นักการธนาคารแห่งปี

20 ธันวาคม 2556

“ลักษณ์ วจนานวัช” แห่ง ธ.ก.ส. คว้ารางวัลนักการธนาคารแห่งปี 2556 นำพาธนาคารฝ่ามรสุมโครงการรับจำนำข้าว

“ลักษณ์ วจนานวัช” แห่ง ธ.ก.ส. คว้ารางวัลนักการธนาคารแห่งปี 2556 นำพาธนาคารฝ่ามรสุมโครงการรับจำนำข้าว

นิตยสารดอกเบี้ย และหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจ ประกาศยกย่อง ‘ลักษณ์ วจนานวัช’ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ได้รับรางวัลเกียรติยศ นักการธนาคารแห่งปี 2556 หรือ Banker of the year 2013 หลังจากได้มีการพิจารณาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์อย่างเข้มงวด จนที่สุดได้ข้อสรุปว่า ผู้บริหารสูงสุดของสถาบันการเงินที่เพิ่งได้รับการต่อวาระการดำรงแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาแห่งนี้ เป็นผู้บริหารที่ในปี 2556 มี “งานหนัก” กว่าผู้นำการบริหารในสถาบันการเงินทุกแห่ง หากในงานที่หนักอึ้งเขากลับสามารถนำพานาวา ธ.ก.ส.เดินหน้าทำงานอย่างไม่ย่อท้อจนประสบความสำเร็จครบถ้วนในทุกด้าน

ทั้งนี้ ตลอดปี 2556 เป็นปีที่ ธ.ก.ส.ถูกมรสุมโหมกระหน่ำอย่างหนัก โดยเฉพาะประเด็นผลการขาดทุนจำนวนมหาศาลในโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ ธ.ก.ส. ที่เป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งในหลายๆ ฟันเฟืองของโครงการนี้ รวมทั้งยังทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อฐานะการดำเนินการตามปกติของธนาคาร

"หากด้วยความตั้งใจของ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.ที่มีเป้าหมายเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานของธนาคารอย่างโปร่งใส เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่า โครงการรับจำนำข้าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในธุรกิจปกติของธนาคาร"

โดยในแง่การเติบโต ถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2556 ธนาคารมียอดสินทรัพย์รวม 1,291,494 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชี 96,470 ล้านบาท หรือ 8.07% ขณะที่ ธ.ก.ส.ซึ่งมีบทบาทเป็นสถาบันการเงินเพื่อการออมอีกแห่งหนึ่งด้วย เป็นปีแรกที่ธนาคารมียอดเงินฝากรวมทะลุ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2556 ยอดเงินฝากรวมอยู่ที่ 1,043,565 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชี 42,708 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.27%

ขณะที่การให้สินเชื่อ หรือการให้ทุนเพื่อพัฒนาเกษตรกรและชนบท ในเดือนพฤศจิกายน ธนาคารมียอดสินเชื่อรวม 938,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 103,500 ล้านบาท หรือ 12.40% จากต้นปีบัญชี ซึ่งยอดสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากยอดลูกหนี้บัตรสินเชื่อเกษตรกร สินเชื่อเพื่อการผลิตพืชและการเลี้ยงสัตว์ หากเปรียบเทียบกับเป้าหมายของเดือนพฤศจิกายน 2556 ธ.ก.ส.ดำเนินการได้สูงกว่าเป้าหมาย 95.39% โดยถ้านับเป็นจำนวนลูกค้า ธ.ก.ส.มีลูกค้าเกษตรกร 5.67 ล้านครัวเรือน ลูกค้าสถาบันเกษตรกร 1.87 ล้านครัวเรือน และลูกค้ากลุ่มเกษตรกร 7,820 ครัวเรือน

ส่วนทางด้านสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ของธนาคารเพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชี 25,755 ล้านบาทเป็น 58,521 ล้านบาท ทำให้อัตราส่วนเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเป็น 6.27% จากต้นปีอยู่ที่ 5.34% ซึ่งธนาคารอยู่ระหว่างสำรวจเหตุผลว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำแล้วทำไมไม่ยอมชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้ออกมาตรการปลดเปลื้องภาระหนี้สินให้แก่ลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระ หนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือหนี้ดำเนินคดี รวมทั้งได้มีการติดตามหนี้ค้างชำระอย่างใกล้ชิด โดยการจัดหาสารสนเทศเพื่อบริหารหนี้ค้างชำระให้กับสาขา และในช่วงไตรมาส 3 ถึงไตรมาส 4 ธนาคารมีโครงการขับเคลื่อนภาระกิจการแก้ไขหนี้ค้างชำระ ซึ่งคาดว่าสิ้นปีบัญชีอัตราเอ็นพีแอลจะเป็นไปตามเหมายที่ 4.23% สำหรับผลประกอบการงวด 8 เดือน ธ.ก.ส.มีกำไรสุทธิ 6,032 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 237 ล้านบาท หรือ 4.09% เนื่องจากรายได้รวมเพิ่มขึ้น 3,450 ล้านบาท หรือ 7.95%

ขณะที่ความสำเร็จอีกด้าน คือ การดำเนินการโครงการบัตรสินเชื่อเกษตกร ซึ่งเป็นงานสินเชื่อปกติของ ธ.ก.ส. ธนาคารสามารถออกบัตรให้เกษตรกรได้ตามเป้าหมาย 4 ล้านใบ โดยถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน มียอดการออกบัตรทั้งสิ้น 4,156,862 บัตร ลูกค้าเปิดใช้งาน 4,063,087 บัตร การใช้บัตรซื้อสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตมีจำนวน 24,614.30 ล้านบาท น้อยกว่าที่ธนาคารเตรียมสินเชื่อรองรับที่ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งสะท้อนได้ว่าบัตรสินเชื่อเกษตรกรไม่ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นหนี้โดยไม่จำเป็น หรือเกษตรกรไม่ได้ใช้บัตรก่อหนี้สะเปะสะปะ

ด้านจำนวนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการบัตรสินเชื่อฯ มีจำนวน 11,685 ร้านค้า และมีการติดตั้งเครื่องอ่านบัตรอิเล็กทรอกนิกส์ (EDC) ให้ร้านค้า สกต. (สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาด ธ.ก.ส.) ร้านค้าเอกชนในท้องถิ่น และสถานีบริการน้ำมันในโครงการรวมทั้งสิ้น 8,391 เครื่อง ขณะเดียวกันมีการดูแลคุณภาพสินค้าและราคาสินค้าที่ขายผ่านบัตร ซึ่งได้รับการรับรองตามโครงการ Q Shop จำนวน 484 ร้านค้า อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,606 ร้านค้า และมีเอกชนที่ขายปัจจัยการผลิตเข้าเป็นพันธมิตรของโครงการแล้ว 28 บริษัท

นอกจากการดำเนินงานในธุรกิจธนาคารและการสนองนโยบายภาครัฐประสบความสำเร็จ ลักษณ์ วจนานวัช ยังเดินหน้าโครงการตอบแทนสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) ซึ่งแม้ว่าการให้สินเชื่อเกษตรกรไปประกอบอาชีพ พัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนจะเป็นการ CSR โดยปริยายอยู่แล้ว หากงานตอบแทนสังคมและสิ่งแวดล้อมยังดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากงาน CSR ของ ธ.ก.ส.เป็นโครงการระยะยาวหลายปี ทำให้การดำเนินการด้าน CSR จึงยังอยู่ในแนวทางเรื่องโครงการธนาคารต้นไม้ โรงเรียนธนาคาร รวมทั้งการพัฒนาอาชีพและแหล่งทำกินของลูกค้าเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร