posttoday

กระแส “แตงโม” กลบข่าววิกฤตเศรษฐกิจราคาพลังงานสูงในรอบ 15 ปี

07 มีนาคม 2565

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

ทำไมประชาชนเกือบทั้งประเทศจึงสนใจดาราสาว “คุณแตงโม” วัยเกือบ 40 ปีที่เสียชีวิตแบบมีเงื่อนงำ หากตอบว่าสื่อต่างๆ นำมาเล่นเองคงไม่ใช่ไปทั้งหมด เพราะหากชาวบ้านไม่สนใจเรตติ้งก็ไม่ขึ้นสปอนเซอร์หรือเงินโฆษณาก็จะไม่เข้าพวกสื่อต่างๆ เขาก็คงไม่นำมาเป็นข่าวแบบยาวๆ  จากข้อมูลของบริษัทวิจัยชั้นนำแห่งหนึ่งระบุว่าช่วงรายการข่าวที่ผ่านมาเรตติ้งของ TV แต่ละช่องพุ่งสูงสุด ยอดผู้ดูผ่านออนไลน์จากที่เคยอยู่ในระดับเฉลี่ย 3-4 แสนวิว/คลิปจากก่อนหน้าอยู่ที่ 1.3 แสนวิว/คลิปหรือเพิ่มขึ้นถึง 2.69 เท่า ขณะที่รายการดังเช่น “โหนกระแส” บางวันพุ่งถึงระดับสูงสุด 6.3 ล้านวิว/คลิปหรือสูงขึ้นถึง 5.72 เท่า แม้แต่คนดังบ้านไกล “คุณโทนี่ วู๊ดซัม” หรืออดีตนายกทักษิณฯ ยังโหนกระแสผ่านคลับเฮ้าส์ของกลุ่มแคร์แสดงความเสียใจไปยังครอบครัวและให้ “ผบ.ตร.” เร่งคดีให้กระจ่าง   

ข่าวดาราตกน้ำเป็นกระแสดังต่อเนื่องเป็นสัปดาห์กลบข่าวโควิด-โอมิครอนที่ปลายสัปดาห์ที่แล้วยังหนักจำนวน คนติดเชื้อ 23,834 ราย ตรวจ ATK 23,688 ราย พบว่าเด็กๆ ติดเชื้อยกชั้น-ยกโรงเรียนไม่เข้าใจว่าทำไมกระทรวงศึกษาหรือท่านนายกฯ ไม่ให้เด็กประถมศึกษาปิดเรียนโดยไม่ต้องสอบเพราะเด็กประถมติดเชื้อแล้วช่วยตัวเองไม่ได้ พ่อ-แม่-ผู้ปกครองต้องดูแลใกล้ชิดกลายเป็นติดโควิดยกบ้านเรื่องพวกนี้ทำไมคิดไม่เป็น-ไม่เข้าใจ สำหรับกระทรวงสาธารณสุขยักเข้า-ยักออกเรื่องการเปลี่ยนโรคโควิดให้กลายเป็นโรคประจำถิ่นโดยไปโยงกับใครเข้าไปรักษาโรงพยาบาลเอกชนต้องจ่ายสตางค์เองยกเว้นป่วยรุนแรง

ที่กังวลเศรษฐกิจไทยแค่เจอพิษโควิดยังไม่ค่อยอยากจะฟื้นมาเจอวิกฤตพลังงานเชื้อเพลิงที่ได้อานิสงส์จากสงครามรัสเซียบุกยูเครนยื้ดเยื้อมายาวกว่าที่คาด ล่าสุดสมัชชาสหประชาชนสมัยประชุมพิเศษมี 141 ประเทศรวมทั้งไทยลงมติประนามรัสเซียมีเพียง 4 ประเทศที่โหวตเป็นพวก ขณะที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) รับเรื่องที่ 38 ประเทศยื่นฟ้อง “ปูติน” มีการกระทำเข้าข่ายเป็นอาชญากรสงครามระหว่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจ “ฟิตซ์-มูดีส์” บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกประกาศลดความน่าเชื่อถือตราสารหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของรัสเซียอยู่ใน “ระดับขยะ”  การบุกยูเครนอาจทำให้รัสเซียเสียหายทั้งด้านตัวประธานาธิบดีปูตินและด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเกินกว่าที่คาด

ผลข้างเคียงจากสงครามชายแดนยุโรปด้านตะวันออกส่งผลต่อความไม่แน่นอนของซัพพลายน้ำมันและแก๊สซึ่งรัสเซียส่งให้ยุโรปคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของการใช้พลังงานเชื้อเพลิงทั้งหมด ราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องราคาตลาดนิวยอร์ก (WTI) ณ วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม เวลา 14.30 น. ทำสถิติสูงสุดบาร์เรลละ 115.69  เหรียญสหรัฐและตลาดเบรนท์ 118.03 เหรียญ พอวันศุกร์ที่ผ่านมาปรับลงเล็กน้อย โอกาสเร็วๆ นี้คงทะลุเกินบาร์เรลละ 120 เหรียญ ตั้งแต่ต้นปีเพียงแค่ 2 เดือนราคาน้ำมันตลาดนิวยอร์กสูงขึ้นบาร์เรลละ 39.6 เหรียญหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.06 และทุกวินาทีราคามีการเปลี่ยนแปลงตลอด

กลับมาที่ประเทศไทยราคาขายปลีกเบนซิน 95 เดือนมกราคมถึงปัจจุบัน ราคาปรับสูงขึ้นลิตรละ 6 บาทหรือทุกหนึ่งเหรียญสหรัฐมีผลต่อราคาน้ำมันเบนซินขายปลีกประมาณ 15 สตางค์ (บางข้อมูลระบุ 25 สตางค์)  สำหรับราคาน้ำมันดีเซล (B7) ราคาชนเพดานลิตรละ 29.94 บาทคงไม่ทะลุ 30 บาทเพราะรัฐบาลตรึงราคาไว้พร้อมกับแก๊ส LPG ไม่เกิน 318 บาท (ถัง 15 กก.)  สถานะล่าสุดกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (27 ก.พ.) ติดลบ 21,838 ล้านบาท หลังปรับงบดุลแล้วเตรียมขอกู้แบงค์เพื่อเสริมสภาพคล่องพร้อมทั้งจะโยกเงินภาษีสรรพสามิตที่เคยลดไปก่อนหน้านี้ 3 บาทยังเหลืออีก 1 บาทเข้ากองทุนเพื่ออุ้มดีเซลจนไปถึงปลายมีนาคมหลังจากนั้นคงต้องลุ้นว่าจะเอาสตางค์มาจากไหน

ที่ต้องติดตามใกล้ชิดคือประเด็นของแพงรอบนี้ไม่ใช่แก้ด้วย “ธงฟ้า” หรือแค่คุมราคาหมู-ไข่เป็ดไข่ไก่เหมือนที่ผ่านมา ต้องเข้าใจว่าเงินเฟ้อรอบนี้เป็นวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกที่เกิดจากเศรษฐกิจโลกชะงักงันจากสงครามยูเครนที่อาจขยายวงและยืดเยื้อกว่าที่คาดและเงินเฟ้อที่อาจกลายเป็น “Stagflation” เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวสูงทำสถิติสูงสุดในรอบ 15 ปีนับจากต้นเดือนเมษายนปีพ.ศ.2551 ราคาน้ำมันดิบโลกช่วงนั้นทำสถิติสูงบาร์เรลละ 105-110 USD. ทำให้ราคาเบนซิน 95 พุ่งไปอยู่ที่ 36 บาท/ลิตรใกล้เคียงกับราคาปัจจุบัน 36.55 บาทต่อลิตร

ในปีดังกล่าวที่ราคาน้ำมันโลกสูงทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกที่เรียกว่า “Subprime Economic Crisis” แต่คนไทยเรียกว่า “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” เป็นผลให้ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของประเทศต่างๆ ทรุดตัวกระทบสถาบันการเงินและระบบสินเชื่อเป็นลูกโซ่ ประเทศชั้นนำ เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) ครั้งใหญ่ มีคนตกงานสูง แต่ของไทยกระทบน้อยเพราะมีภูมิคุ้มกันหรือได้วัคซีนจากวิกฤตต้มยำกุ้ง (พ.ศ.2540-2545) ที่ฟองสบู่อสังหาฯ แตกไปก่อนและสถาบันการเงินมีการปรับโครงสร้างหนี้หรือบางส่วนก็ปิดตัวไปแล้ว

“สินามิเศรษฐกิจ” ที่จะตามมาจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนหากไม่จบในเร็ววันและขยายตัวในระดับ “RUSSIA vs NATO” จะทำให้ซัพพลายเชนโลกล้มตามเป็นลูกโซ่ทั้งด้านวัตถุดิบ สินค้าอุปโภค-บริโภค การท่องเที่ยว ระบบโลจิสติกส์ การลงทุน การเงิน ตลอดจนความแปรปรวนของอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับผู้ที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต้องไปดูโจทย์ซับไพร์มช่วงนั้นว่าตลาดหุ้นทรุดตัวลงแค่ไหนจะได้รับมือไว้แต่เนิ่นๆ  ขณะที่องค์กรเอกชนระดับบิ๊กต้องทำหน้าที่ตัวแทนธุรกิจน้อยใหญ่ด้วยการทำการบ้านที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้เพื่อนำเสนอมาตรการรับมือให้รัฐบาลไม่ใช่เจอหน้าร้องขอแต่สตางค์หรือขอลด/ตรึงค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)  หากจะออกมาตรการช่วยเหลือต้องแยก SME ออกจากบริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทมหาชนที่มีกำไรมากเท่าใดก็ไม่พอ

เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการค้าโลกและท่องเที่ยวต่างชาติในสัดส่วนที่สูงมูลค่าในจีดีพีรวมกันประมาณ 1.28 เท่า วิกฤตจากโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากระทบธุรกิจและแหล่งทำมาหากินของประชาชนจนปัจจุบันยังไม่ฟื้นโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวเจอวิกฤตยูเครนรอบนี้ไปไม่ถูก ต้องเข้าใจคนที่เขาอยู่ในภาคส่วนเหล่านี้ว่าอยู่ในสถานการณ์อย่างไร สภาวะที่เป็นจริงเศรษฐกิจของไทยยังเปราะบางตัวเลขการว่างงานธันวาคมปีที่แล้วยังมีคนว่างงาน 6.3 แสนคนและคนว่างงานแฝงเป็นผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง/สัปดาห์มีถึง 5.3 แสนล้านคน ข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมเดือนมกราคม 2565 ยังมีคนว่างงานและถูกเลิกจ้างขอเงินทดแทนรวมกัน 293,904 คน สูงกว่าช่วงก่อนโควิดระบาดร้อยละ 45 ข้อมูลล่าสุดแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 มีจำนวน 11.133 ล้านคน เปรียบเทียบก่อนโควิด (มี.ค.63) แรงงานในระบบยังหายไปมากถึง 596,825 คนคิดเป็นร้อยละ 5.08  

จากที่กล่าวล้วนเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์แสดงสภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความอ่อนแอและไม่แน่นอน ลำพังโครงการคนละครึ่งช่วยได้บ้างแต่ไม่พอต้องเสริมเงินกระตุ้นเศรษฐกิจและปลุกกำลังซื้อให้ถึงคนเปราะบางจริงๆ ไม่ใช่มีเงินจำกัดแต่ใช้วิธีเหวี่ยงแหรวมถึงโครงการแก้หนี้ทั้งธุรกิจและชาวบ้านขอให้เป็นรูปธรรม จากประวัติศาสตร์ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากราคาพลังงานสูงและรอบนี้ซับซ้อนจากสงครามซึ่งคู่กัดไม่ใช่รัสเซียกับยูเครนแต่เป็นกับชาติมหาอำนาจตะวันตกจะทำให้เศรษฐกิจทรุด ตามมาด้วยราคาสินค้าสูงแต่ไม่มีกำลังซื้อถึงไทยจะเป็นแหล่งผลิตและเป็นเมืองเกษตรแต่วัตถุดิบก็ต้องนำเข้าทั้งทางตรงและทางอ้อม....ทีมเศรษฐกิจของท่านนายกรัฐมนตรีจะเคาะมาตรการอะไรก็เร่งทำเร็วๆ งานนี้ช้าไม่ได้นะครับ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat