posttoday

ชีวิตหลังเกษียณ...ต้องปล่อยวางและอยู่ให้เป็น

27 กันยายน 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

บทความนี้เขียนในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน พ.ศ.2564 สำหรับผู้ที่มีอาชีพรับราชการ-ลูกจ้างรัฐรวมถึงพนักงานรัฐวิสาหกิจทำงานไต่เต้าในหน้าที่ต่างๆ ผ่านทุกข์-ผ่านสุขมาเกือบ 40 ปี จะจบชีวิตการทำงานในสิ้นเดือนนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ-นายพลหรือชั้นประทวน หากเป็นข้าราชการพลเรือนจะเป็นอธิบดี, ผู้ว่าราชการจังหวัด, ผู้อำนวยการหรือตำแหน่งอะไรก็แล้วแต่เหลืออีกไม่กี่วันหัวโขนตำแหน่งเหล่านี้จะถูกวางไว้    ที่โต๊ะทำงาน อำนาจ-บารมีที่เคยมีอยู่จะค่อยๆ ลดลงและหายไปในที่สุดกลายเป็นส่วนหนึ่งของประชากรเกษียณอายุเข้าสู่สังคมคนชรา

ก่อนอื่นทำความเข้าใจ “เกษียณ” (Retire) หมายถึงการสิ้นไป-หมดไปหากนำมาใช้กับเวลาการทำงานหมายถึงการครบอายุรับราชการหรือสิ้นสุดการทำงาน หากเป็นลูกจ้างรัฐบาลกำหนดไว้ 60 ปี รัฐบาลมีแนวคิดจะขยายเป็น 63 ปีแต่ยังขาดความชัดเจนอาจเพราะไปผูกติดกับเบี้ยคนชรา กรณีเป็นข้าราชการตุลาการกำหนดไว้ 70 ปีเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด หากเป็นลูกจ้างเอกชนเกษียณอายุงานแตกต่างกันไป เช่น ภาคการผลิตส่วนใหญ่ อายุ 50-55 ปี ขึ้นอยู่กับลักษณะงานหากไม่ได้ระบุไว้ในข้อกำหนดการทำงานให้ใช้เกณฑ์หกสิบปี ในยุคที่เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์กอรปกับวิกฤตโควิดทำให้มีแรงงานหลายแสนคนต้องออกจากงานก่อนเวลาอันควรหรือที่เรียกว่า “Early Retire” ในรูปแบบต่างๆ ที่สุดก็ต้องกลายเป็นคนเกษียณจากงานโดยปริยาย

การเกษียณออกจากงานจึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะราชการหรือแรงงานในภาคเอกชน แต่ละปีประชากรที่เป็นลูกจ้างรัฐบาลซึ่งมีแรงงานประมาณ 1.75 ล้านคนจะเกษียณออกจากงานประมาณ 43,099 คนสัดส่วนร้อยละ 2.46 ขณะที่ตัวเลขภาคเอกชนค้นหาไม่พบว่ามีเท่าไหร่จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (พ.ศ.2563) ระบุว่ามีแรงงานสูงวัย (อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป) ทำงานอยู่ในสถานประกอบการของภาคเอกชนรวมกันประมาณ 1.879 ล้านคนโดยเป็นแรงงานสูงวัยอยู่ในภาคบริการสัดส่วนร้อยละ 42 และภาคการผลิตร้อยละ 17 ประชากรเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมวัยชราซึ่งมีประชากรประมาณ 13.8 ล้านคน แต่บางข้อมูลระบุว่ามีจำนวน 12.3 ล้านคนจะเชื่อตัวเลขไหนก็แล้วแต่

คนแก่ยุคนี้เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศด้วยการเข้าถึงระบบสาธารณสุขทำให้อายุยืนเฉลี่ยประมาณ 77 ปีทำให้เป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ไปไหนมีแต่คนเอาใจที่สำคัญเป็น “Voter” กลุ่มใหญ่มีผลต่อการหย่อนบัตรเลือกตั้งทั้งการเมืองในระดับท้องถิ่นไปจนถึงประเทศใครจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านอยู่ที่มือของประชากรกลุ่มนี้เป็นสำคัญ มีผลการศึกษาต่างๆ ตรงกันเกี่ยวกับแรงงานสูงวัยส่วนใหญ่ขาดการเตรียมความพร้อมที่จะเกษียณออกจากงาน กล่าวคือยังมีภาระต้องดูแลค่าใช้จ่ายของครัวเรือน เช่น ลูกยังเรียนไม่จบมหาวิทยาลัย, มีภาระผ่อนบ้าน-ผ่อนคอนโดหรือผ่อนยานพาหนะหรือยังมีหนี้สินต่างๆ

คนเหล่านี้กลายเป็นผู้สูงอายุที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้เนื่องจากเงินบำนาญหรือเงินเก็บไม่พอใช้กรณีมีบำเหน็จก็ใช้หนี้ไปเกือบหมด รายงานการศึกษายังพบว่าผู้ที่อยู่ในวัยทำงานหรือใกล้จะเกษียณขาดความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยร้อยละ 40.7 ขาดการคิดหรือเตรียมการมาก่อนและอีกร้อยละ 34.3 วางแผนผิดพลาด เช่น นำเงินไปลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีความเชี่ยวชาญหรือไปลงทุนเล่นหุ้น      มีประชากรวัยใกล้เกษียณเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่มีการวางแผนมาตั้งแต่ต้นทำให้ชีวิตช่วงสุดท้ายอยู่ได้อย่างสบายๆ ที่เรียกว่า “Soft Landing”

จากข้อมูลข้างต้นเห็นได้ว่าสังคมสูงวัยซึ่งเป็นแหล่งรองรับประชากรที่เกษียณจากงานมีความเปราะบาง การดำรงชีวิตต้องพึ่งพาลูกหลานหรือคนอื่นโดยเฉพาะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในรูปของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีจำนวนถึง 13.65 ล้านคนใช้งบประมาณปีละกว่าแปดหมื่นล้านบาท ช่วง 8 ปีที่ผ่านมาใช้เงินงบประมาณมากกว่า 5.0 แสนล้านบาท รัฐบาลพยายามจะตัดทอนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้กับคนชราที่จนจริงๆ เนื่องจากมีคนแก่ขับรถเบนซ์มีเงินฝากเป็นล้านยังรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นการเอาเปรียบสังคม แต่การเลิกคงไม่ง่ายเพราะกลายเป็นเสพติดประชานิยมเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองต่างๆ นำไปหาเสียง ประเด็นนี้จะกลายเป็นระเบิดเวลาในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันโครงสร้างประชากรสูงวัยมีสัดส่วน 1 ใน 5 ของทั้งหมดในอนาคตจะเพิ่มมากขึ้นอัตราการขยายตัวร้อยละ 15 มีจำนวนมากกว่าประชากรเด็กอายุไม่เกิน 18 ปีทั้งสัดส่วนและปริมาณ

ชีวิตหลังเกษียณของคนส่วนใหญ่จึงไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบเสมอไป อาจไม่ใช่เป็นการพักใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายแบบสบายๆ การวางแผนหลังเกษียณไม่ใช่พึ่งมาคิดหลังพ้นจากงานต้องวางแผนล่วงหน้าว่าวัยหลังเกษียณจะต้องใช้ชีวิตต่อไปอีก 17-20 ปีจะอยู่ได้อย่างไรจะหาเงินได้จากไหนมากินมาใช้เป็นคำถามมากกว่าคำตอบยกเว้นบางคนก่อนเกษียณอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งเอื้อต่อ “เงินสีเทา”หรือโชคดีรวยมาก่อนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ชีวิตหลังวัยเกษียณที่มีคุณภาพต้องมีเงินออมอยู่อย่างสบายๆ หรืออยู่อย่างพอเพียงจนตาย การใช้ชีวิตวัยเกษียณต้องมีการวางแผนการใช้จ่ายที่สำคัญ “อยู่ให้เป็น”อย่าริอ่านเป็นหนี้บางคนอายุมากกู้แบงค์ไม่ได้ยังให้ลูกหลานกู้แทนก็มี

หากจะไปลงทุนทำธุรกิจร่วมหุ้นกับลูกหรือเพื่อนก็ต้องคิดให้ดีด้วยวัยขนาดนี้มีความเสี่ยงหรือจะไปทำอาชีพเกษตรกรก็ไม่ใช่เรื่องง่ายผู้เขียนมีประสบการณ์ด้วยตนเอง มีการโปรโมทให้คนวัยเกษียณไปลงทุนสร้างธุรกิจอย่าไปเชื่อ “After Retied Business Startup” ผมเป็นนักธุรกิจมีคนมาปรึกษามากเห็นมาเยอะส่วนใหญ่มักไปไม่รอด หากจะทำอะไรให้เป็นการแก้เหงาหรือ “ลงทุนเจ๊ง” แล้วไม่เดือดร้อนก็ทำไป ที่ต้องเตือนอย่าไปกู้เงินมาลงทุนเด็ดขาดเพราะด้วยอายุวัยหกสิบปีหากไม่เคยทำธุรกิจมาก่อนอย่าริทำ สะสมเงินทองได้เท่าไหร่ก็เท่านั้นอยู่ที่ใช้ให้เป็น

ข้อเขียนนี้ไม่ได้บอกว่าคนวัยหลังเกษียณไม่ต้องทำอะไรเพราะชีวิตที่เหลือต้องเดินหน้าต่อไปแต่อย่าไปทำอะไรที่โลดโผนและเสี่ยงเพราะรอบนี้วัยนี้ล้มแล้วฟื้นยาก อุทาหรณ์ชีวิตสูงวัยไม่ว่าจะเคยอยู่ในตำแหน่งใดๆ ต้องรู้จักปล่อยวางคือวางจากหัวโขน-ลาภ-ยศ-สรรเสริญ เคยใหญ่เคยโตมีคนติดตามจูงมือล้อมหน้าล้อมหลังจากนี้ไปคนแวดล้อมเหล่านั้นจะค่อยๆ หายไป “หากทำใจไม่ได้ชีวิตจะเป็นทุกข์” ตัวอย่างไม่ต้องไปดูไกลพวกอดีตข้าราชการระดับบิ๊กๆ ทั้งทหาร, ตำรวจ, ระดับปลัดกระทรวงหรืออธิบดีที่จมไม่ลงไปเล่นการเมืองเสพติดอำนาจไม่รู้จักพอให้เขาไล่-ให้เขาด่าไม่ทราบว่าเป็นสุขหรือทุกข์.....ใครรู้ช่วยบอกทีครับ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat