posttoday

เริ่มต้นเป็นสิ่งที่ดี...แต่การลงมือทำสำคัญกว่า

17 กันยายน 2564

คอลัมน์ Great Talk

สวัสดีค่ะ อจ.เกรท

พอดีเคยอ่านเรื่องแบรนด์ที่ อจ. เขียนไป ตอนนี้หนูอยากทำแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเอง ไม่ทราบว่า อจ พอมีคำแนะนำไหมคะ

สวัสดีครับผม

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับการริเริ่มที่จะทำธุรกิจอะไรบางอย่างของตัวเองนะครับ การเริ่มต้นเป็นสิ่งที่ดีครับ แต่การลงมือทำสำคัญกว่าที่เหลือก็เป็นการแก้ปัญหา คนส่วนใหญ่ ความคิดดี คิดได้ ลงมือทำแต่มักท้อแท้เวลาเจอปัญหา ทำให้ไปไม่ถึงจุดที่ตนเองตั้งไว้ ขอให้เรามีกำลังใจลงมือทำไปเรื่อยๆครับ

การทำแบรนด์ตัวเองสิ่งสำคัญจะมีสองส่วนครับอันนี้ผมแบ่งง่ายๆให้เข้ากับยุคสมัยนะครับ หากแบ่งอย่างละเอียดจะมีทั้ง Supplie Chain Channel การขาย และอื่นๆอีกมากมาย

คือ1.เรื่องแบรนด์ (Branding) ภาพลักษณ์สินค้าหรือบริการ 2.เรื่องเกี่ยวกับตัวสินค้าหรือบริการ เช่น ต้นทุน วัตถุดิบ กำลังคน เงินทุน การตลาด เป็นต้น

คราวนี้หากคุยแค่เรื่อง Branding ก่อนผมจะแบ่งเป็นภายในและภายนอกนะครับโดย องค์ประกอบหลักในการสร้างแบรนด์จากภายใน มี 6 ข้อด้วยกันคือ

1.การสร้าง Brand Story(สร้างเรื่องราวของแบรนด์) การสร้างเรื่องราวเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะทำให้ลูกค้าของเราจดจำเราได้ง่ายขึ้น โดยจากสถิติผู้คนจะจดจำเราจากเรื่องราวมากกว่าข้อมูลทั่วไปถึง 22 เท่า โดยหลักการสร้างเรื่องราวต้องคำนึงถึงสองข้อดังนี้

(Real Person Story) เรื่องราวจริงจากคนจริง เป็นแนวทางที่ดีที่สุดทั้งอาศัยจากเรื่องราวในอดีต ตัวอย่างเช่น จากผู้ก่อตั้งสินค้าหรือบริการ สร้างสรรค์ให้มีอารมณ์ร่วมกับลูกค้าหรือองค์กรของเราและยังสามารถสร้างลูกค้าประจำของเราต่อไปอีกด้วย( Customer Loyalty)

(The reason to start) วัตถุประสงค์ของการเริ่มต้น เป็นการไฮไลท์ถึงเหตุผลการเริ่มต้นของธุรกิจหรือแชร์(Mission) พันธกิจของธุรกิจของเราในความพยายามที่จะไปถึงเป้าหมายที่ธุรกิจของเราตั้งไว้ ซึ่งเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจที่เราทำ

2.Brand Value คุณค่าของแบรนด์ชัดเจนในสิ่งที่จะทำ( Clear Direction) สร้างความชัดเจนและระบุถึงแก่นของคุณค่าสินค้าหรือบริการที่เราจะทำ ซึ่งการที่เรามีความชัดเจนต่อสิ่งที่เราทำจะนำมาสู่ความชัดเจนในภาพลักษณ์และสิ่งที่อยู่ในความคิดของลูกค้าเรา( Image & Customer Mind)

มั่นคงในแก่นที่เดิน (Constant Review) เราควรหมั่นทบทวนถึงสิ่งที่เราได้วางรากฐานเอาไว้ว่ายังคงมั่นคงอยู่ไม่ เช่นมีคอมเมนท์มาให้ปรับปรุงแก้ไข หากมันจะทำให้แก่นที่เราวางภาพไว้สั่นคลอนเราจะทำอย่างไร หรือจะมีวิธีการเปลี่ยนแนวทางอย่างไรเพื่อให้มีพื้นที่ส่วนแบ่งในตลาด

3.มีจุดขายที่แตกต่าง (Unique Selling Point,USP) สร้างความแตกต่างเริ่มต้นที่ตัวเรา( Differentiate YourSelf) เราต้องหาจุดต่างจากคู่แข่งให้ได้ เช่นการนำเสนอที่แตกต่างเหมือนการขายของออนไลน์ที่แต่ละคนพยายามหาจุดต่าง ความสนุกสนาน ความตลก ของลดราคามากกว่าที่อื่น ไปจนถึงสินค้าของเราที่มีความแตกต่างด้านวัสดุของเนื้อผ้ากรณีที่เป็นเสื้อผ้า การบริการที่แตกต่างอาจเป็นการขนส่งหรือการดีไซน์ที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้าเฉพาะ

เดินบนเส้นทางนั้น(Keep you on track) การระบุถึง USP ที่ชัดเจนจะช่วยทำให้เราสามารถมีแนวทางในการแก้ปัญหาหรือการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น ไม่หวั่นไหวต่อคำติเตียนที่ไม่สร้างสรรค์ ไม่หลงประเด็นไปโฟกัสสิ่งอื่น ซึ่งจะทำให้เราสามารถพุ่งเป้าหมายไปยังการพัฒนาสินค้าหรือบริการของเราให้ดียิ่งๆขึ้นไป

ในสัปดาห์นี้ผมจะยกตัวอย่างแค่สามข้อก่อน สัปดาห์หน้าผมจะมาสรุปให้อีก 3 ข้อที่เหลือพร้อมตัวอย่างนะครับ