posttoday

คนแบ่งออกเป็น 5 ประเภท

02 กันยายน 2564

คอลัมน์ Great Talk

"ทำไมปัจจุบันผู้คนดูเสื่อมทรามลงครับ ทำไมมีแต่ข่าวฆ่ากันตาย โกงกินกันมากขึ้นครับ สมัยก่อน ตอนผมเด็กๆ ได้ยินข่าว คอรัปชั่นกันหรือข่าวฆ่ากันไม่กี่ข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์

หมายเหตุ ปัจจุบัน ผมอายุ 42 ครับ บางทีก็รู้สึกเหนื่อยกับประเทศไทยในตอนนี้ครับ

จาก โจ้

สวัสดีครับคุณโจ้ ก่อนอื่นผมต้องบอกก่อนว่าผมพอจะเข้าใจความรู้สึกคุณโจ้นะครับกับการที่ได้รับแต่ข่าวที่ทำให้จิตใจเราย่ำแย่ อันที่จริงแล้วผมก็รู้สึกเหมือนกับคุณโจ้นี่แหล่ะครับ

ว่าสมัยนี้ ข่าวแย่ๆต่างๆมันมีมามากมายเหลือเกิน แต่เอาเป็นว่าผมจะสรุปเหตุผลว่าทำไมปัจจุบันเหตุการณ์ต่างๆมันถึงได้แย่ลงในด้านจิตใจมนุษย์ละกันครับ มีสองข้อหลักๆนะครับ

เรื่องแรก แย่ลงเพราะสื่อออนไลน์ ไม่ใช่เพราะโลกออนไลน์ทำให้แย่นะครับแต่เป็นเพราะมันไร้พรมแดนครับ ^^

ในอดีตสื่อต่างๆได้ถูกคัดกรองกันมาอย่างดี กว่าจะออกข่าวแต่ละข่าวต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นจากแหล่งข่าว ผู้สื่อข่าว บรรณาธิการ จนสิ้นกระบวนการกลายเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ครับ ทำให้ข่าวต่างๆมีการเลือกไม่ให้ข่าวดูซ้ำจำเจหรือบางข่าวอาจไม่สามารถเผยแพร่ออกมาได้ทำให้เราเห็นข่าวที่หลากหลายและไม่ได้นำเสนอข่าวแบบที่เราเห็นจำเจครับ

แต่ในปัจจุบันอย่างที่เรารู้ๆ โลกอินเตอร์เน็ตทำให้ข่าวต่างๆไม่ถูกปิดกั้นการนำเสนอ ทำให้เราสามารถรับรู้ข่าวสารได้อย่างไม่จำกัด นี่คือหนึ่งสาเหตุ

สาเหตุที่สองคือ มันเป็นอย่างนี้อยู่แล้วน่ะครับ คืออันด้วยมนุษย์พื้นฐานจิตใจย่อมแตกต่างกัน การดำเนินชีวิต กฏระเบียบของจิตใจแตกต่างกันดั่งคำสอนของขงจื้อที่ผมนำมาเป็นหลักการหนึ่งของชีวิตในการพิจารณาผู้คนครับ ผมจึงขออนุญาติแชร์นะครับ

ขงจื๊อกล่าวว่า มนุษย์ที่แท้ จะต้องแสวงหา ความรู้ สร้างเสริม คุณธรรม ความสามารถอย่าง ไม่เหนื่อยหน่ายท้อแท้ เขาจะต้องพยายามทำสิ่งที่ตนศึกษาเล่าเรียนมาให้ปรากฏเป็นจริง และพร้อมที่จะรับใช้บ้านเมืองเมื่อมีโอกาส

ในเส้นทางการพัฒนาตัวเองตามทัศนะของขงจื๊อนั้น ขงจื๊อได้จำแนกคนออกเป็น 5 ประเภท คือ สามัญชน บัณฑิต ปราชญ์ วิญญูชน และอริยบุคคล โดยเรียงลำดับจากขั้นต่ำมาขั้นสูง ซึ่งสะท้อน วิวัฒนาการทางจิต ของคนผู้นั้นด้วย กล่าวคือ

ระดับที่ 1 "สามัญชน" คือคนที่ไม่ค่อยเคารพปฏิบัติตามกฎระเบียบ ไม่สามารถกล่าวเขียนวาจาที่สะท้อนความมีสติปัญญา ไม่เคยคิดที่จะคบนักปราชญ์ ชีวิตไม่มีเป้าหมาย รู้แต่เรื่องเฉพาะหน้า ไม่มีอุดมคติที่ลึกซึ้งกว้างไกล ไม่มีความเป็นตัวของตัวเองในเชิงปณิธาน ชอบเปลี่ยนความคิดไปตาม "กระแส ที่เข้ามากระทบ และไม่ยืนหยัดในหลักการ

ระดับที่ 2 "บัณฑิต" คือบุคคลที่แม้ไม่เข้าใจเหตุผลที่ลึกซึ้ง ไม่สามารถบำเพ็ญคุณธรรมอย่างหมดจด แต่ก็มีความรู้และความเชื่อบางอย่าง ทำงานและประพฤติตัวตามหลักการบางอย่าง เพราะฉะนั้น ถึงระดับความรู้ความเข้าใจจะมีข้อจำกัดก็ยึดกุมความรู้ความเข้าใจได้ในระดับจำกัดนั้นอย่างแม่นยำ ถึงระดับความสามารถในการพูดจะมีข้อจำกัด ก็เข้าใจเหตุผลที่กำลังพูดอย่างแท้จริง ถึงระดับความสามารถในการสื่อด้วยความประพฤติจะมีจำกัด ก็ระมัดระวังความประพฤติของตัวเองเสมอ พวกเขาจึงสามารถเผชิญความจริงภายใต้ข้อจำกัดของตัวเอง

ระดับที่ 3 "ปราชญ์" คือบุคคลที่ประพฤติตัวอยู่ในทำนองคลองธรรมมีวาจาเที่ยงแท้เป็นที่น่าเชื่อถือ มีความรู้และคุณธรรมมากพอที่จะเป็นแบบอย่างแก่ราษฎรทั่วแผ่นดินได้

ระดับที่ 4 "วิญญูชน คือบุคคลที่ศึกษาความรู้บ่มเพาะคุณธรรมอย่างทุ่มเท พูดจริงทำจริง ไม่บ่นโทษ ไม่นินทา ไม่พยาบาท มีคุณธรรมสูงส่ง แต่ไม่เย่อหยิ่งทะนงตน มีสติปัญญาเลิศล้ำ แต่กลับมีท่าทีอบอุ่น นอบน้อม จนดูคล้ายไร้สติปัญญา ทั้งๆ ที่แท้ที่จริงแล้วมีความสามารถอันลึกล้ำหาผู้ใดเสมอยาก

ระดับที่ 5 "อริยบุคคล" คือบุคคลที่มีจิตใจสูงส่งน่าบูชาดุจฟ้าดิน แต่สามารถปรับตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม มีสติปัญญาแจ่มจ้าดุจแสงแห่งสุริยันจันทรา สามารถหยั่งรู้รากเหง้าของสรรพสิ่ง ยามดำเนินมรรคธรรมจะประหนึ่งฟ้าดินหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตโดยไม่ลำเลิก และเหล่าราษฎรทั้งปวงก็หารู้ไม่ว่ารับบุญคุณท่านแล้ว คนทั่วไปจึงไม่ทราบว่า ท่านได้ทำอะไรบ้าง ไม่ทราบว่าท่านมีคุณธรรมสูงส่งเพียงใด ดุจเดียวกับที่ไม่เข้าใจความลับของฟ้าดิน

นี่แหล่ะครับหลักของขงจื้อที่เป็นหลักคิดนึงของผมเรื่องการเข้าใจมนุษย์ หากคุณโจ้เห็นว่าพอเป็นประโยชน์ลองอ่านแล้วพิจารณาดูก็จะเห็นแก่นแท้ของโลกเราที่เรามีประสบการณ์อยู่ครับ ขอเป็นกำลังใจให้คุณโจ้เข็มแข็งนะครับ