posttoday

ค้นหาแสงสว่างปลายอุโมงค์...ความหวังฟื้นเศรษฐกิจ

16 สิงหาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจได้ดีนายจ้าง-ลูกจ้างส่วนใหญ่ตกอยู่ในภาวะมืดมนจากวิกฤตเศรษฐกิจ ท่ามกลางความมืดและความหวังในการฟื้นตัวธุรกิจพยายามมองหาปัจจัยบวกที่เป็นเสมือนแสงสว่างถึงจะเพียงแค่ริบหรี่ที่จะนำพาให้พ้นจากเหวลึกหรืออุโมงค์ที่มืดมิด ความหวังจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ในเร็ววันอาจเป็นแค่ความฝัน ประสบการณ์บอกว่าทุกวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นในอดีตต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 ปีจึงจะกลับมาเหมือนเดิม ปัจจัยบวกขอเริ่มจากความชัดเจนของการจัดหาวัคซีนที่เริ่มคลำมาถูกที่ถูกทางจากเดิมไปผูกขาดกับบางยี่ห้อซึ่งประชาชนไม่เชื่อมั่นและถูกตอกย้ำจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับความด้อยประสิทธิภาพทั้งของตัววัคซีนและผู้ที่เกี่ยวข้อง การเช็คบิลคงต้องรอไปเลือกตั้งครั้งต่อไปว่าประชาชนจะยังจะกาบัตรกลับเข้ามาอีกหรือไม่

ปัจจัยทางบวกที่ชัดเจนมาจากภาคส่งออกครึ่งปีแรกขยายตัวได้ดีร้อยละ 15  คาดว่าทั้งปีมูลค่าอาจมากกว่าปีพ.ศ.2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิดระบาดประมาณร้อยละ 7.5 สอดคล้องกับข้อมูลของการท่าเรือแห่งประเทศไทยระบุว่าปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพ (ช่วงม.ค.-มิ.ย.64) จำนวน 4.9 ล้านตู้/TEU. สูงกว่าปีที่แล้ว 4 แสนตู้/TEU. หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากปีก่อนหน้า ที่กังวลครึ่งปีหลังอาจมีปัจจัยแทรกซ้อนจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มชะลอตัวจากการระบาดระลอกใหม่บวกกับอัตราค่าระวางเรือหรือ “Freight Charge” ไปประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกราคายังทรงตัวในระดับสูง ขณะที่ค่าระวางเรือ   ไปท่าเรือหลักของยุโรปและสหรัฐอเมริกายังเพิ่มขึ้นในอัตราสูงกว่าซึ่งนอกจากค่าระวางสูงยังบวกค่า “Premium Charge” ทำให้ราคาสูงขึ้นถึง 3.2 เท่าอาจเป็นปัจจัยทำให้ตัวเลขส่งออกอาจชะลอตัว

แสงสว่างปลายอุโมงค์ที่เป็นสัญญาณทางบวกว่าเศรษฐกิจอาจเริ่มฟื้นตัวคือ ตัวเลขการลงทุนผ่าน BOI ช่วงครึ่งปีแรกมีการขอส่งเสริมจำนวน 801 โครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 มูลค่า 386,200 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.58 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากข้อมูลดังกล่าวพบว่าร้อยละ 72 เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI)  ขณะที่การลงทุนใน “EEC” ดูเหมือนจะไม่ค่อยสดใสเพราะมีโครงการขอส่งเสริม 232 กิจการสัดส่วนร้อยละ 29 ของการลงทุนผ่านบีโอไอ

การลงทุนใน “EEC” ล่าสุดมีการเตรียมลงนามขยายท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มูลค่า 114,046 ล้านบาทผู้ที่ชนะประมูลคือกลุ่มบริษัทร่วมทุน “GPC” ซึ่งมีกลุ่มปตท.,กลุ่ม Gulf Engineering และนักลงทุนจีน ตามโรดแมปพื้นที่บางส่วน (ท่า F1) จะเปิดดำเนินการได้ในปีพ.ศ.2568  ปัจจัยการลงทุนขยายตัวสอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าประเภททุน-เครื่องจักรครึ่งปีแรกขยายตัวถึงร้อยละ 16.53 เทียบกับปีที่แล้วหดตัวร้อยละ -9.31  ทั้งนี้การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปขยายตัวสูงถึงร้อยละ 38.6 จากที่หดตัวปีที่แล้วร้อยละ 10.9 เป็นสัญญาณที่ดีว่าเอกชนมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวส่งผลต่อการจ้างงานในช่วงครึ่งปีหลังและครึ่งปีหน้า   

ขณะเดียวกันรัฐบาลมีพรก.กู้เงินห้าแสนล้านบาทและอาจออกพรก.เพิ่มเติมในการเยียวยาผลกระทบทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะทำให้มีเงินหมุนเวียนเข้ามากระตุ้นการใช้จ่าย อีกทั้งสถาบันการเงินภายใต้การผลักดันของปตท.และกระทรวงการคลังให้สถาบันการเงินของรัฐและแบงค์เอกชนเร่งปรับโครงสร้างธุรกิจที่อาการล่อแล่ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้-ขยายเวลาการชำระต้นและดอกให้มีความยืดหยุ่นไปตามปัญหาของลูกหนี้ไม่ใช่ทำแบบครอบจักรวาลในลักษณะ “One Size Fits All” บางรายอาจต้องถึง “แฮร์คัท” เพื่ออุ้มลูกหนี้และแบงค์ให้อยู่รอด มิฉะนั้นจะเกิดวิกฤตการเงินแทรกซ้อนในลักษณะ “NPL Crisis” ข้อสังเกตุมี ผู้อีเมลฝากให้บอกกับผู้บริหารที่เกี่ยวข้องคือการยัดไส้ค่าประกันความเสี่ยงอัตราร้อยละ 4-5 โดยหักจากเงินที่ปล่อยกู้ ตรงนี้ก็เกินไปธุรกิจจำนวนมากจะแย่จะตายอยู่แล้วอย่าไปซ้ำเติมช่วงเวลานี้ต้องช่วยกันประคับประคองให้อยู่รอดด้วยกันไม่ใช่เวลาที่แบงค์จะทำกำไร

ปัจจัยสำคัญของการฟื้นเศรษฐกิจคือการเข้าถึงวัคซีนแค่เข็มแรกได้แค่ประมาณ 1 ใน 3 ของเป้า 50 ล้านคนต้องเฉลี่ยฉีดได้วันละ 2.21 แสนโดสคงต้องลุ้น แต่ที่ต้องลุ้นมากกว่าคือเข็ม 2 คงต้องมีปาฏิหาริยที่จะฉีดได้ครบเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้ การเดินหน้าเศรษฐกิจลำพังแค่ภาคส่งออกและงบเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐคงไม่พอที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว เกี่ยวข้องกับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนซึ่งภาคค้าปลีกมีมูลค่า 4 ล้านล้านบาทมีสัดส่วนในจีดีพีร้อยละ 24 เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาความเชื่อมั่นติดลบต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ภาคค้าปลีกและการบริโภคเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 40 ล้านคนที่เคยมาจับจ่ายใช้สอยมูลค่า 2.99 ล้านล้านบาท ลำพังแค่นักท่องเที่ยวจิบจ๊อยที่มาภูเก็ตคงเป็นแค่น้ำจิ้มถ้วยเล็กๆ

ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่การหาทางออกยังมืดมนธุรกิจจำนวนมากเสี่ยงเลิกกิจการเพราะหมดพลังที่จะเดินต่อโดยเฉพาะ “SME” จำนวน 3.13 ล้านกิจการมีการจ้างงานประมาณ 12.7 ล้านคนล้วนมีความเสี่ยง ดังนั้นรัฐบาลจะต้องวางแผนเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจยาวออกไปจนถึงปีพ.ศ.2566 อย่าทำกระปิดกระปอยหรือคิดไปทำไป งบประมาณมีจำกัดต้องมีการวางแผนว่าจะต้องใช้เงินเท่าไรจะทำอย่างไรให้เงินเข้าถึงกลุ่มเปราะบางจริงๆ ไม่ใช่เหวี่ยงแหแบบที่เป็นอยู่

นายกรัฐมนตรีบอกว่าไม่ใช่นักการเมืองจึง “ไม่ต้องเล่นการเมือง” บอกชัดๆ อยู่ครบเทอมซึ่งก็ปาเข้าไปถึง 9-10 ปีเป็นนายกฯ ที่อยู่ยาวแซงอดีต “ป๋าเปรม” ในอาเซียนเป็นรองแค่สมเด็จฮุนเซนของกัมพูชาเหตุการณ์ที่ผ่านมาของไทยและต่างชาติสอนให้รู้ว่าผู้นำที่อยู่ยาวเกินไป “มักจบไม่สวย” เมื่อไม่เล่นการเมืองก็ไม่จำเป็นต้องเกรงใจใครเลือกใช้คนที่เป็นตัวจริงทำจริง หากรัฐบาลมีเสถียรภาพการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจะขับเคลื่อนถึงแม้จะมีกลุ่มประท้วงทุก “Weekend” แต่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการฟื้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาปากท้องจะสนับสนุน แต่ถ้ายังเล่นเกมส์การเมืองไม่เลิกอยากอยู่ยาวๆ ประเทศจะฟื้นตัวได้ยากความรักชาติคืออย่าผูกขาดไว้ที่ตัวคนเดียวเพราะประเทศไทยเป็นของทุกคน....นะครับ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat