posttoday

เข้าใจตัวเองก่อนสื่อสาร (จบ)

27 พฤษภาคม 2564

คอลัมน์ Great Talk

ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้วที่มีลูกศิษย์ส่งข้อความสอบถามมาว่า

อ.เกรท ครับผมมีเรื่องอยากปรึกษาครับ

ผมพูดจับใจความเป็นลำดับไม่ค่อยดีเท่าไรถือว่าค่อนข้างแย่เลย บางทีพูดไม่ค่อยจะรู้เรื่องถ้าต้องให้พูดอะไรแบบด้นสด และบ้างครั้งผมคุยกับเพื่อนอยู่เรื่องนึง อยู่ดีดีก็คิดไปอีกเรื่องแล้วก็พูดขึ้นมาเลย เหมือนผมจะจดจ่ออะไรนานไม่ได้ ถ้าเป็นงานพิมพ์คือทรมาณมาก แบบนี้คือผมสมาธิสั้นหรือป่าวครับ ต้องแก้ไขยังไงได้บ้างครับ

โดยฉบับที่แล้วผมให้เราทำความเข้าใจตนเองก่อนว่า หากเราเป็นช่วงวัยรุ่น นอกจากลักษณะภายนอกของเราที่จะใจจดใจจ่อสิ่งใดๆไม่ได้ พูดไม่รู้เรื่องหรือไม่สามารถมีสมาธิที่จะทำอะไรได้นานๆ

อย่างที่เราบอกผมมา สิ่งที่แฝงไว้ คือ ฮอร์โมนช่วงวัยรุ่นของเรานั้นแหล่ะครับที่ทำให้เรามีการแสดงออกแบบนี้ ดั่ง หลักการ Prma Principle คือ สิ่งที่อยู่ภายในถูกแสดงออกมาสู่ภายนอก ฉบับนี้ผมจะบอกถึงวิธีการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นนะครับ

1.พูดในสิ่งที่ตนเองรู้ สิ่งที่ไม่รู้ให้บอกเพียง “เราคิดว่า” โดยส่วนใหญ่คนเรามักพูดไปเรื่อยไม่มีหัวข้อใดๆ แต่หลายคนมักพูดไปเรื่อย รู้บ้างไม่รู้บ้าง ยกแม่น้ำทั้ง5 มาอ้างอิงเอาหลักการมั่วๆ มาพูดให้ฟังแล้วน่าเชื่อถือ การทำแบบนี้อาจทำให้คนเชื่อได้แต่มีแต่คนที่ไม่รู้มาคุยกันเท่านั้นแหล่ะครับ

ดังนั้น หากไม่ใช่สิ่งที่เรารู้จริงให้บอกไปเลยว่า “เราคิดว่าหรือกูคิดว่าเป็นแบบนี้นะ แต่ถ้าพวกมึงคิดว่าเป็นแบบอื่นมันเป็นยังไงบ้าง พอเริ่มเปิดประเด็นแบบนี้จะไม่ใช่พวก “กูรู้” เพียงอย่างเดียวแต่เป็นพวก “กูก็อยากรู้นะว่าพวกมึงคิดยังไง” จะทำให้การสนทนาทั้งกับเพื่อนและคนที่เราพึ่งรู้จักดูมี “ความอร่อย” เพิ่มขึ้น เราก็พูดสนุก คนฟังก็สนุกแถม คนฟังได้พูดด้วย แบบนี้เรียน Win Win ครับ

2. แบ่งประเภทของเนื้อหาการพูดและผู้สนทนา เช่นหากเราพูดกับเพื่อน ภาษาก็เป็นภาษาเพื่อน สมมุติว่าปกติคุยกับเพื่อน กูๆ มึงๆ โว้ย ว้าย อะไรแบบนั้น อยู่ดีๆ เรานึกอยากจะฝึกพูดให้คนสนใจมาปรับเปลียนตัวเองอย่างไม่เป็นธรรมชาติ เพื่อนก็จะนึกประหลาดๆ ว่า “มึงเป็นอะไรวะ...” ทำให้เพื่อนอาจไม่แม้แต่จะเปิดใจฟังอะไรที่เราพูดด้วยซ้ำ

แต่หากผู้ฟังหรือกลุ่มที่เราจะสื่อสารเป็นทางการ การสำรวมก็เป็นความสำคัญที่จะทำให้ผู้สนทนาด้วยเขาเปิดรับการสื่อสารที่เราส่งออกไป ดังนั้น วางเนื้อหาและผู้สนทนาจึงเป็นปัจจัยสำคัญด้วยครับ

3.หากพูดหลักการจงหาสิ่งอ้างอิง “หลักการไม่ใช่หลักกู” หมายความว่าหากเราอ้างอิงทฤษฏีมาสื่อสารก็ควรอ้างอิงหลักฐานมาด้วยว่าเอามาจากไหน เขาเป็นใครและถูกนำมาใช้ในชีวิตจริงอย่างไร เช่นหากเราคุยกับเพื่อนและยกหลักการตลาดมาอ้างอิง Five Force Model (หลักการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆที่กระทบกับธุรกิจ) ว่าการวิเคราะห์ธุรกิจที่ดี ต้องทำห้าอย่างนี้เพื่อให้ปกป้องธุรกิจของเราได้

เราก็ควรบอกได้ว่า Five Force นะมึง มีเรื่องอำนาจการต่อรองของลูกค้า (Customers Baraining power) หากบริษัทเปิดเมื่อไหร่ เรื่องพวกนี้ต้องพยายามถ่วงดุลไม่ให้ลูกค้ามีอำนาจต่อรองเหนือเราได้มาก ไม่อย่างนั้นจะทำให้การผลิตหรือราคาสินค้าของเรามีผลกระทบนะ ต่อจากนั้นก็แสดงความคิดเห็นของเราออกไปในสิ่งที่เราเข้าใจนั้นแหล่ะครับ

อย่าพยายาม! มั่วแม่น้ำยกนู่นนี่นั้นโดยจำทฤษฏีอะไรไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็น “หลักกู” คือกูไม่สนกูว่ากูเข้าใจ นั้นจะทำให้ต่อไปพูดอะไรก็ไม่มีใครเชื่อครับ

4. พูดในสิ่งที่เขาสนใจไม่ใช่เราชอบ คนทุกคนย่อมคาดหวังกับการสร้างความสัมพันธ์อะไรบางอย่าง ไม่ใช่แค่ผลประโยชน์ด้านเงินทองอย่างเดียวนะครับ มันมีหลายมิติ เช่น ความสบายใจ ความรัก ความอบอุ่น ความสนุกสนานเพลิดเลิน การได้รับการยอมรับเป็นต้น ดังนั้นไม่ใช่มัวพ่นสิ่งที่เราชอบ อวดไปเรื่อยว่าเราทำนู่นนี่นั้น

โดยที่ผู้ฟังไม่ได้ประโยชน์อะไร เช่นชวนเพื่อนคุยเรื่องทีมฟุตบอลของเราว่าได้แชมป์ มีการซื้อตัวมาจากสโมสรนู่นนี่นั้น ทั้งๆที่เพื่อนชอบตีเทนนิส เพื่อนอาจจะฟังและคุยกับเรานะครับแต่คงสนทนาได้ไม่นานแล้วเพื่อนคงเดินหนีไป

5.จงซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น การสื่อสารที่ดีมาจากข้างในครับหากจิตใจเราหวังจะช่วยเหลือเขาแม้คำพูดเราจะฟังดูรุนแรงหรือเป็นการตอกย้ำเขาในบางเรื่อง ผู้ฟังเขาจะรู้สึกได้ครับว่าเจตนาเราต้องการช่วยเหลือเขา ดังนั้นจริงใจเข้าไว้ครับทุกอย่างดีเอง

ผมสรุป5 ข้อง่ายๆที่เป็นแก่นนะครับ แต่เทคนิคการสื่อสารมีอีกหลายอย่างที่ผมใช้ทั้งวิธีฝึกจำหัวข้อเป็นภาพ แปลงเรื่องที่จะพูดเป็นภาพเพื่อให้จำหัวข้อได้ง่ายและไม่ลืม

สร้างห้องแห่งความจำ(Memory Palace) หรือการคิดเรื่องที่จะพูดให้กลายเป็นภาพยนต์เรื่องเดียว แต่ฉบับนี้เน้นแก่นแท้ภายในตัวเลยที่เหลือมีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังอีกครับ