posttoday

ซอฟต์โลนเฟส 2....ตอบโจทย์วิกฤตสภาพคล่อง SME รอดไหม ?

29 มีนาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

สัปดาห์ที่ผ่านมาครม.ออกแพ็คเกจกระตุ้นเยียวยาเศรษฐกิจและกระตุ้นกำลังซื้อภายใต้โครงการเที่ยวด้วยกันและทัวร์เที่ยวไทยวงเงิน 10,700 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ใช้ไป 2.1 แสนล้านบาทครอบคลุมผู้ได้สิทธิ์เกือบครึ่งหนึ่งของประชากร ด้านเยียวยาสภาพคล่องซึ่งกลายเป็นวิกฤตด้านการเงินและกับดักการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศเข็นร่างพรก.ให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูธุรกิจจากการระบาดของไวรัส เป็นการต่อยอดจากมาตรการที่เคยออกไปก่อนหน้านี้มีเงิน 5.0 แสนล้านบาทให้แบงค์ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำมาก ๆ แต่เอาเข้าจริงปล่อยเงินกู้ได้เพียง 132,835 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 26.5 ทั้งที่มีผู้ประกอบการต้องการเงินเป็นจำนวนมากแต่ก็ไม่สามารถปล่อยกู้ได้

สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงธุรกิจหรือค้าขายขอฉายให้เห็นภาพของปัญหาซึ่งเป็นผลกระทบเหมือน“คลื่นสึนามิ” จากวิกฤตของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าต่อเนื่องตั้งแต่มีนาคมปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันการแพร่ระบาดก็ยังอยู่ในขั้นวิกฤตเป็นกันทั้งโลกทำให้ผู้คนกลัวติดเชื้อ ไม่เดินทาง ไม่ลงทุน ไม่ใช้จ่ายจากข้อมูลพบว่าประเทศไทยเงินออมฝากสถาบันการเงินขยายตัวจากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 10 เป็นตัวเงินประมาณ 1.6 แสนล้านบาทรัฐบาลกำลังมีแผนว่าจะดึงเงินพวกนี้ออกมาหมุนเวียนได้อย่างไร

เป็นที่ทราบดีว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งท่องเที่ยวทั้งในและต่างชาติอยู่ในจีดีพีสัดส่วนประมาณร้อยละ19.6 ทั้งคนและเงินหายไปจากระบบไม่ต่ำกว่า 2.27 ล้านล้านบาท ธุรกิจโรงแรมที่พัก-รีสอร์ท-แหล่งท่องเที่ยวรวมถึงธุรกิจที่อยู่ในโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ

ลองนึกดูว่าก่อนโควิดระบาดมีต่างชาติมาเที่ยวไทยปีละ 39.916 ล้านคนปีที่แล้วลดเหลือ 6.7 ล้านคนปีนี้ตั้งเป้า 3 ล้านคนหากคำนวณแค่นักท่องเที่ยวคนหนึ่งกินข้าว 3 มื้อเม็ดเงินหายไปเท่าไรแม้แต่อุตสาหกรรมส่งออกเกี่ยวข้องกับภาคการผลิตและบริการปีที่แล้วการส่งออกหดตัวร้อยละ 6.01 เทียบกับปีที่แล้วเม็ดเงินหายไป 4.499 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมส่งออกประมาณร้อยละ 60 หดตัวบางรายติดลบต่อเนื่องมา 2 ปี แต่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ทีผ่านมาขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 1.87 เป็นสัญญาณที่ดีว่าการส่งออกกำลังฟื้นตัว 

ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจปีที่แล้วจีดีพีหดตัวสูงถึงร้อยละ 6.1 ได้สร้างบาดแผล “Pain Point” ทำให้การว่างงานสูงสุดในรอบทศวรรษแต่กระทรวงที่เกี่ยวข้องบอกว่าไม่จริงมีการบรรจุอัตราไปกว่า 1 ล้านตำแหน่ง ภาพที่ย้อนแย้งคือตัวเลขแรงงานในระบบแรงงานประกันสังคมมาตรา 33 เดือนมกราคม 2564 เทียบกับช่วงเดียวกับปีที่แล้วหายไปถึง 594,713 คนหรือหดตัวร้อยละ 5.1 คนว่างงานที่มาขอรับประโยชน์ประกันสังคมเพิ่มขึ้น 1.2 เท่าและการเลิกจ้างเดือนมกราคมเปรียบเทียบช่วงเดียวกันเพิ่มขึ้น 4.8 เท่า

แต่บทความฉบับนี้จะขอกล่าวถึงปัญหาสภาพคล่องทั้งระดับครัวเรือนที่หนี้พุ่งสูงขณะเดียวกันผู้ประกอบธุรกิจโดยเฉพาะ SME กำลังอยู่ในสภาพขาดเงินในมือ ข้อมูลระบุว่ามีลูกหนี้แบงก์ประมาณ 8.37 ล้านบัญชีมาขอยืดหนี้ในจำนวนนี้พบว่าลูกหนี้ธนาคารที่อยู่ในสภาพล่อแล่ที่แบงค์เรียกว่า “State 2” มูลหนี้สูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท โดยหนึ่งในสามเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับท่องเที่ยวแทบไม่มีลูกค้าหากเป็นอุตสาหกรรมพอมีคำสั่งซื้อบางรายต้องลดกำลังการผลิตหรือแทบไม่มีสตางค์จะซื้อวัตถุดิบอยู่ในสภาพ “ซอมบี้” หากปล่อยเจ๊งก็จะกระทบแรงงานธุรกิจเหล่านี้อยู่ในสภาพค้างทั้งต้นและดอกเบี้ย

สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้อยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกหากจะตัดเป็นหนี้เสีย “NPL” ต้องเอาเงินเท่าๆ กันไปโปะตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญหรือ “Allowance for Doubtful Accounts” หากจะยึดหลักประกันจะทำได้ก็ต้องผ่านกระบวนศาลกว่าจะถึงขั้นยึดทรัพย์ก็ต้องใช้เวลาเป็นปี จึงเป็นที่มาของโครงการเสริมสภาพคล่องที่ครม.ผลักดันออกมามี 2 มาตรการคือรักษาการจ้างงานวงเงิน 2.5 แสนล้านบาทและโครงการโอนทรัพย์สิน-หลักประกันเพื่อหักกลบหนี้กับสถาบันการเงินวงเงิน 1.0 แสนล้านบาทรายละเอียดต่าง ๆ ขอไม่กล่าวให้ไปอ่านจากกูเกิ้ลหรือสื่อต่างๆ

ในมุมมองของผู้เขียนโครงการของรัฐไม่ว่าเยียวยาเศรษฐกิจหรือแก้ปัญหาสภาพคล่องล้วนดีและต้องสนับสนุนแต่ต้องดูวิธีการว่าสามารถตอบโจทย์ให้ธุรกิจที่เดือดร้อนสามารถเข้าถึงได้จริง ควรใช้กรณีศึกษาการปล่อยกู้ปีที่แล้วมีทั้งเงินและดอกเบี้ยต่ำแค่ร้อยละ 2  ผู้ขอกู้แห่มาเข้าคิวเป็นจำนวนมากแต่ทำไมปล่อยไม่ได้ เหตุเพราะการปล่อยเครดิตเงินกู้ของสถาบันการเงินยังคงใช้ประเมินความเป็นไปได้ของธุรกิจและหลักประกันต้องคุ้มหากกลายเป็นหนี้เสีย ภายใต้สภาวการณ์วิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและอ้อมกับภาคท่องเที่ยวซึ่งลูกค้าต่างชาติหายไปประมาณร้อยละ 83 ปีนี้ก็จะหนักกว่าปีที่แล้วแม้แต่ปีพ.ศ.2565 ประเมินว่าจะมีประมาณ 21.5 ล้านคนเท่ากับครึ่งหนึ่งของปีพ.ศ.2562 การฟื้นตัวอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อยสองปีขึ้นไป

หากยังใช้เกณฑ์การปล่อยกู้แบบเดิม ๆ ถึงจะมีบสย.เข้ามาค้ำประกันถึงร้อยละ 40 ซึ่งก็คงไม่ได้ค้ำกันง่าย ๆ   มีเงื่อนไขมากมายเพราะเป็นหน่วยงานของรัฐใช้เงินภาษีของประชาชนส่วนที่เหลือแบงค์ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงอยู่ดี สำหรับธุรกิจ SME หรือธุรกิจที่อยู่ในสภาวะ “ซอมบี้” ออเดอร์ลดลูกค้าหายขาดเงินในมือดอกเบี้ยร้อยละ 2 หรือ   ร้อยละ 5 คงไม่ใช่เป็นสาระประเด็นอยู่ที่ขอให้เข้าถึงแหล่งเงินได้จริง ๆ เท่านั้น สำหรับมาตรการที่เรียกว่า “พักทรัพย์พักหนี้” หรือ “โกดังหนี้” (Asset Warehouse) วงเงิน 1.0 แสนล้านบาท ผมพยายามศึกษาให้เข้าใจผิดถูกก็ต้องขออภัยเป็นโครงการที่ดูเหมือนว่าเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้สถาบันการเงินสามารถเจรจาให้ลูกหนี้ซึ่งหมดสภาพที่จะจ่ายหนี้คืนสามารถโอนหลักทรัพย์ค้ำประกันขายแบงค์เพื่อหักกลบกับหนี้เดิมภาษาให้ดูไพเราะคือ “การฟื้นฟูกิจการ”

ประเด็นอยู่ที่ว่าหลักประกันขายคืนไปแล้วซึ่งช่วงเวลานี้ขายแทบไม่ได้ราคา หากขายคืนไปแล้วทางธนาคารจะปล่อยกู้ต่อไหมหรือจะให้เช่าทำธุรกิจต่อเอาค่าเช่ามาหักหนี้แต่เงินหมดหน้าตักแล้วธุรกิจจะเดินหน้าอย่างไร ที่กล่าวไม่ได้บอกว่ามาตรการเหล่านี้ไม่ดีเพียงแต่ขอให้ดูวิธีการปฏิบัติว่าธุรกิจหรือ SME ที่เดือดร้อนจริง ๆ จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้อย่างไร ต้องคำนึงว่าในทางปฏิบัติแบงค์ก็คือแบงค์ปล่อยกู้ได้แต่ต้องไม่สูญและที่สำคัญต้องมีกำไรเพราะเป็นธุรกิจมหาชน อย่าทำเป็นมาตรการสวยหรูชื่อเท่ ๆ แต่ทำไม่ได้ การแก้ปัญหาหนี้และเสริมสภาพคล่องเกี่ยวข้องกับตัวธุรกิจหากไปไม่รอดจริง ๆ เขาก็ปล่อยยาก หากจะปล่อยให้เจ๊งธนาคารก็เดือดร้อนกระทบแรงงานจำนวนมากก็จะกลายเป็นคนตกงานวนเวียนกลายเป็นปัญหาของประเทศ....เหนื่อยแทนครับ

( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )