posttoday

สวัสดีประเทศไทย...พุทธศักราช 2564

04 มกราคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

สวัสดีปีใหม่ครับ...ขอส่งความสุขใจ-สุขกาย-สุขที่ยังมีชีวิตและขอให้มีชีวิตที่ดีและยืนยาว วันนี้เป็นวันแรกของการเปิดงานอย่างเป็นทางการแต่บางคนเงินในกระเป๋าไม่หมดยังเที่ยวต่อ ปีใหม่ของไทยที่จริงไม่ใช่วันที่ 1 มกราคม ในอดีตไทยใช้ปฏิทินแบบจันทรคติถือว่าวันที่ 13 เมษายนเป็นวันมหาสงกรานต์คือเป็นปีใหม่ไทย ซึ่งก็ไม่ตรงกันทุกปีขึ้นอยู่กับการโคจรของดวงจันทร์เป็นการเปลี่ยนปีนักษัตรไทยและเฉลิมฉลองปีใหม่เป็นวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านในอุษาคเนย์ต่อเนื่องพันกว่าปี (น่าจะเริ่มต้นประมาณพ.ศ. 1560)

บทความนี้เริ่มต้นวันเปลี่ยนศักราชใหม่ผมลองไปค้นคว้าข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงวันปีใหม่และใช้ศักราชที่แตกต่างกัน ในอดีตมีการใช้ปฏิทินหลายแบบ เช่น ปฏิทินแบบจีน แบบอินเดีย แบบล้านนา และแบบฝรั่ง ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้กับกลุ่มใดทำให้มีความยุ่งยาก ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2432 รัชกาลที่ 5 โปรดให้กรมพระยาเทววงศ์วโรปการเป็นผู้จัดทำปฏิทินสากลแบบสุริยะคติ กำหนดให้วันที่ 1 เมษายนของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ จวบจนมาถึงปีพ.ศ. 2483 รัฐสภาในยุคจอมพลป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีได้ใช้ปฏิทินแบบ “เกรโกเรียน” โดยเปลี่ยนให้วันที่ 1 มกราคมของทุกปีเป็นวันเปลี่ยนศักราชให้สอดคล้องกับนานาชาติ มีวันหยุดราชการอย่างเป็นทางการ 2 วันคือวันที่ 31 ธันวาคมเป็นวันสิ้นปีและ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่พร้อมทั้งให้กรมโฆษณากลางหรือกรมประชาสัมพันธ์มีการแต่งเพลงเกี่ยวกับวันปีใหม่และยังใช้กันจนถึงทุกวันนี้

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าก่อนหน้านี้ศักราชของไทยไม่ได้ใช้ “พุทธศักราช” ในสมัยอาณาจักรขอมต่อเนื่องมาถึงลพบุรี สุโขทัย และอยุธยาตอนต้นใช้ “มหาศักราช” รับมาจากอินเดียโดยศักราชที่ 1 ตรงกับปีพ.ศ. 621  ในศิลาจารึกต่าง ๆ ของนครวัดและสุโขทัยล้วนใช้ปีมหาศักราช ต่อมาพระเจ้าอนุรุธหรือ “อนิรุธ” แห่งอาณาจักรพุกามได้ลบศักราชใหม่ใช้ “จุลศักราช (จ.ศ.)” เริ่มศักราชที่ 1 ตรงกับพ.ศ. 1181  ใกล้เคียงกับยุคทราวดีได้เริ่มมีการใช้ศักราช    

แต่บางตำราก็กล่าวว่าผู้ที่เป็นคนลบศักราชไม่ใช่เมียนมาร์แต่เป็นพระยากาฬวรรณดิศแห่งอาณาจักรล้านนา จะเห็นได้ว่าแต่ละเอกสารต่างกัน บ้างก็ว่ามาใช้ตั้งแต่สมัยพระบรมไตรโลกนาถ บ้างก็ว่าเริ่มใช้ในสมัยเสียกรุงครั้งแรกโดย     พระเจ้าบุเรงนองได้นำมาใช้แต่ของพม่าเรียกว่า “เมียนมาร์ศักราช” ชาวบ้านยังใช้คู่กับศักราชจนทุกวันนี้

อย่างไรก็ตามในเอกสารบางที่ระบุว่าผู้ลบศักราชเริ่มในสมัยพระเจ้าปราสาททองในพงศาวดารกล่าวว่า มีการทำพิธีใหญ่โตมากมีพระราชศาส์นให้ประเทศต่าง ๆ เปลี่ยนตามไทย ที่มีความเป็นไปได้สูงน่าจะอยู่ในยุคอยุธยาตอนต้นเพราะปรากฏในจารึก ตำนานพระราชพงศาวดาร ตำราโหราศาสตร์ ฯลฯ  ได้ใช้เรื่อยมาจนถึงพ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงประกาศเปลี่ยนศักราชใช้ “รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.)” โดยนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2325 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์โดยถือปีนั้นเป็นการเริ่มศักราชที่ 1  ครั้นต่อมาเปลี่ยนรัชกาลในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าบัญญัติให้ใช้ “พุทธศักราช” เป็นศักราชของประเทศไทยโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 จนมาถึงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเปลี่ยนมาเป็น   วันที่ 1 มกราคมซึ่งใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

การเข้าสู่ศักราชใหม่ปีนี้ต่างออกไปเพราะมาพร้อมกับการระบาดของโรคร้ายแรงในอดีตเรียกว่า “โรคห่า” ซึ่งไม่ใช่แค่อหิวาตกโรคแต่เป็นโรคระบาดร้ายแรงที่ไม่รู้ที่มาที่ไปเกิดครั้งสุดท้ายเมื่อพ.ศ. 2363 หรือสองร้อยปีพอดิบพอดี โรคห่าของศตวรรษที่ 21 เป็นการระบาดของไวรัสโควิด 19 เริ่มเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้ปราบได้จนสงบเงียบมาหลายเดือนกลับมาระบาดข้ามปีแต่ให้เรียกว่า “ระบาดรอบใหม่” ยังทำใจไม่ได้ว่าแท้จริงเป็นการระบาดรอบ 2  ช่วงต่อปีใหม่แต่ละวันมีผู้ติดเชื้อร้อยกว่าคนแพร่ไปเกือบจะ 50 จังหวัดทำให้ผวาว่าจะกลายเป็น “Super spreader” แต่ละจังหวัดมีมาตรการคุ้มเข้มแม้แต่จัดงานแต่งงานต้องขออนุญาตก่อน ช่วงปีใหม่หลายคนรวมทั้งผมอยู่บ้านเซฟตัวเองแต่อีกสิบกว่าล้านคนใจถึงบวกกับมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐให้เที่ยวได้เต็มที่ มีทั้งโครงการคนละครึ่งและเที่ยวด้วยกัน นัยว่าเดือนมกราคมยังจะให้มีวันหยุดยาวแถมให้อีก

โดยส่วนตัวเห็นว่าไทยอาจเข้าสู่การระบาดรอบ 2 มาตรการของรัฐบาลต้องชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร กระทรวงสาธารณสุขบอกว่าห้ามชุมนุมไม่ควรไปในที่มีความเสี่ยง ประเด็นคือพื้นที่มีและไม่มีความเสี่ยงอยู่ตรงไหนเพราะช่วงเที่ยวปีใหม่คนกระจายกันทั้งประเทศ  “พาหะ” ไม่ใช่มีเฉพาะแรงงานต่างด้าวแต่ปัจจุบันคนไทยติดเชื้อมีสัดส่วน  สูงกว่า มาตรการสกัดต่างด้าวไม่ให้เคลื่อนย้ายแต่ข้อเท็จจริงแรงงานพวกนี้ทำงานกับคนไทยในโรงงานเฉพาะที่สมุทรสาครมีหลายร้อยแห่งพอปีใหม่ก็แห่กันกลับบ้านหรือไปเที่ยว อันที่จริงควรจะไม่ให้มีการเดินทางข้ามจังหวัดด้วยซ้ำไป ที่ไม่เข้าใจนอกจากไม่มีมาตรการแล้วยังสนับสนุนให้คนไปเที่ยวขณะนี้กำลังเปิดจองสิทธิ์ห้องพักอีก 1 ล้านสิทธิ์ให้คนวัยเก๋าไปเที่ยวมาก ๆ ใช้งบ 20,000 ล้านบาท

เข้าใจดีว่ารัฐบาลต้องการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคท่องเที่ยว ผมมีเพื่อนเป็นเจ้าของโรงแรมทั้งที่พัทยาและกทม. พวกเขาบอกว่าอีก 2-3 เดือนเงินที่เก็บหอมรอมริบจะไม่เหลือตอนนี้ “ป่วยก็ไม่ได้-ตายก็ไม่ได้”  วลีนี้คนที่กินเงินเดือนหลวงจะไม่เข้าใจ มาตรการต่าง ๆ จึงต้องชัดเจนเจ็บตัวระยะสั้นคุมโรคให้ได้อีกรอบแต่ต้องไม่ล็อกดาวน์ทั่วประเทศ เพราะเศรษฐกิจจะพังเอาแค่มีมาตรการคุมเข้มคนไม่ให้ข้ามจังหวัดทำสัก 14 วันแล้วเข้าไปสุ่มตรวจตามโรงงาน สถานประกอบการ รวมถึงครัวเรือนร่วมมือกับโรงพยาบาล อนามัย โรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ วันนี้ทุกคนล้วนให้ความร่วมมือแต่รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจ ที่กล่าวนี้ไม่ใช่จะไปดิสเครดิตผู้ใดแต่กล่าวในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่รักชาติบ้านเมือง ความรักชาติไม่จำเป็นว่าผูกขาดเฉพาะผู้ที่ใส่เครื่องแบบเท่านั้น

ฉบับนี้เริ่มต้นให้เห็นว่าแม้แต่ศักราชที่ใช้อยู่ในแต่ละยุคแต่ละสมัยก็มีการเปลี่ยนแปลงในสภาวะเช่นนี้ต้องยอมรับว่า “ไวรัสโควิด” จะมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงผู้ที่ดีอยู่แล้วก็ขอให้ดีขึ้น-ดีขึ้น สำหรับผู้ที่ยังต้องฝ่าฟันปัญหาที่หนักหนาสาหัสก็ขอให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี สำคัญอย่าได้ท้อแท้สิ้นหวังเพราะมีหลายคนทั้งครอบครัวและลูกน้องที่ยังรออยู่ข้างหลังที่ต้องการความเข้มแข็งของเรา “ต้องเผชิญหน้าสู้ไม่ถอยและก้าวผ่านไปให้ได้” เนื่องในวัน   ปีใหม่พุทธศักราช 2564 ขออำนวยพรให้ทุกท่านทุกคนประสบแต่ความสุขพบพานแต่สิ่งที่เป็นมงคล ปราศจากด้วยโรคภัย รวมถึงโรคร้ายที่แพร่ระบาด ปราศจากด้วยทุกข์โศก คิดสิ่งใด-ทำสิ่งใดก็ขอให้สมหวังดังที่ปรารถนา....สวัสดี    ปีใหม่ครับ

( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )