posttoday

New Covid-19 Panic โควิดสมุทรสาคร...ฉุดการฟื้นฟูเศรษฐกิจปี 2564

28 ธันวาคม 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

การระบาดรอบใหม่ของไวรัสโคโรน่าที่เรียกว่า “โควิดสมุทรสาคร” เป็นกระแสกลบข่าวการเมืองทั้งในสภา, นอกสภา, เลือกตั้งอบจ. รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กลายเป็นโครงการคนละครึ่ง ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าวเท่าที่มีการตรวจวัดเพิ่มขึ้นไม่มีท่าทีลดลง มีแนวโน้มแพร่ขยายไปหลายจังหวัดกลายเป็นว่าประเทศไทยที่รักษาเนื้อรักษาตัวอย่างดีกลับเข้าสู่ประเทศที่มีการระบาดรอบใหม่

หากถามว่า “New Covid-19 Panic” รอบนี้มีผลอย่างไรต่อความเป็นอยู่ของคนไทย ตอบได้ว่าไม่มีอะไรเลวร้ายกว่าช่วงล็อกดาวน์ปิดประเทศ รัฐบาลรู้ปัญหาดีจึงแบ่งเป็น 4 โซนไล่ตั้งแต่พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) ไปจนถึงระดับพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) การแบ่งเป็นโซนทำให้เลือกใช้มาตรการที่แตกต่างกันตั้งแต่คุมเข้มสูงสุดไปจนถึงน้อยสุด

จากบทเรียนที่ผ่านมาทำให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยเลือกที่จะเบรกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อที่จะไม่ให้กระทบเศรษฐกิจในภาพใหญ่ การแพร่ระบาดรอบนี้ทำให้เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งต่อการฟื้นตัวต่อเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2564 ส่วนผลกระทบจะรุนแรงมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งรอบนี้จะยากกว่าครั้งที่ผ่านมาเนื่องจากการติดเชื้อจำนวนมากอยู่ในแรงงานต่างด้าว ซึ่งขณะนี้ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายคงจะปะปนกันทำให้การแพร่ระบาดคุมยาก เท่าที่ทราบการตรวจหาเชื้อได้ 7,000 กว่ารายเทียบกับแรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร 2.39 แสนคนไม่ถึงร้อยละ 3 ตัวเลขที่ปรากฏจึงอาจเป็นแค่ยอดน้ำแข็งส่วนที่อยู่ใต้น้ำไม่รู้เท่าไร

ก่อนอื่นอยากให้เห็นภาพรวมแรงงานต่างด้าวซึ่งตัวเลขแรงงานที่เข้ามาแบบถูกต้องตามมาตรา 59 จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (พ.ย.63)  มีจำนวน 2.323 ล้านคน มีสัดส่วนอยู่ในกำลังแรงงานของชาติถึงร้อยละ 6.02 โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 68.2 เป็นแรงงานชาวเมียนมาร์รองลงมาเป็นกัมพูชาร้อยละ 22.2 และสปป.ลาวร้อยละ 9.6 

แรงงานพวกนี้มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเข้ามาเสริมการขาดแคลนคนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและส่วนหนึ่งเป็นงานที่คนไทยไม่ทำโดยเฉพาะแรงงานในภาคเกษตร-ประมงและปศุสัตว์ แม้แต่แรงงาน “คุณแจ๋ว” ที่เป็นคนทำงานในบ้านมีจำนวนประมาณ 1.9 แสนคนจะเป็นแรงงานไทยสักกี่คน จะต้องแยกแยะให้ถูกว่าเขามาช่วยเราแต่แรงงานผิดกฎหมายต้องมีความเข้มงวดการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคต้องทำอย่างจริงจัง

มาตรการที่ท่านนายกรัฐมนตรีออกมาว่าจะให้มีการขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมายตรงนี้ขอเชียร์เต็มที่เพราะพวกนี้เข้ามาแล้วแต่ไม่รู้ว่ากระจัดกระจายไปอยู่ไหน ช่วงที่โรคกำลังระบาดอย่าไปติดยึดเอกสาร โควต้า หรือพาสปอร์ตต้องให้มีการขึ้นทะเบียนโดยไม่ต้องมีนายจ้าง มีศูนย์หรือสถานที่ให้เขาอยู่ มีอาหารของที่จำเป็นที่สำคัญจะได้ตรวจเชื้อแบบ 100% หลังครบ 1 เดือนหากนายจ้างต้องการแรงงานให้มาเอาที่ศูนย์แห่งนี้ กรณีที่องค์กรเอกชนระดับชาติแห่งหนึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลเสรีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวซึ่งในช่วงนี้เป็นคนละเรื่องกัน การที่จะให้แรงงานพวกนี้ซึ่งเขาก็กลัวโรคและกลัวถูกจับจะต้องเป็นมติครม. เหมือนที่เคยออกมาสมัยพลตำรวจเอก อดุลย์  แสงสิงแก้ว เป็นรมว.กระทรวงแรงงานมีการตั้ง “War Room” ทำให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้ามาอยู่ในระบบจนถึงทุกวันนี้ หากไม่มีคำสั่งที่ชัดเจนหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐก็จะไม่สามารถดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน การแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายเป็นธุรกิจสีเทามูลค่าประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท อย่าคิดว่าจะแก้กันได้ง่าย ๆ ที่สำคัญต้องยอมรับว่ามีกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบไม่เช่นนั้นก็แก้อะไรไม่ได้             

กลับมาเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดรอบใหม่ กล่าวได้ว่าเศรษฐกิจไทยมายืนจุดนี้ได้ถือว่าพ้นจุดต่ำสุดมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว แต่การฟื้นตัวในแต่ละภาคส่วนจะไม่เหมือนกันโดยภาคส่งออกจะฟื้นตัวก่อนเห็นได้จากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาตัวเลขส่งออกหดตัวลดลง เดือนพฤศจิกายนหดตัวเหลือแค่ร้อยละ 3.65 ต่ำสุดในรอบ 8 เดือนก็ไม่ใช่ว่าทุกคลัสเตอร์ส่งออกจะกลับมาเป็นบวกที่หดตัวก็ยังมี แต่ส่วนใหญ่ไปในทิศทางขยายตัวจะมากน้อยต่างกัน ซึ่งจะมีผลต่อโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะการจ้างงานในต้นปีหน้าจะเริ่มรับแรงงานกลับเข้ามาจากอัตราการใช้เครื่องจักรน่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างน้อยที่ระดับร้อยละ 67 จากปัจจุบันที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 63  ที่ต้องเฝ้าระวังและสร้างความเชื่อมั่นคืออุตสาหกรรมส่งออกอาหารโดยเฉพาะประมงแปรรูปและแช่แข็งที่จะต้องมีมาตรการการปนเปื้อน ต่างชาติเริ่มสอบถามเกี่ยวกับการแพร่ระบาดแต่ยังไม่กระทบส่งออกเพราะออเดอร์ยาวไปถึงต้นปีหน้าแต่ก็ประมาทไม่ได้เขาก็ยกเลิกได้อยู่ดี

สำหรับภาคท่องเที่ยวอาจไม่เป็นอย่างนั้นมีการประมาณว่าปีหน้านักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดเหลือประมาณ 5.5 แสนคนลดจากปี 2563 ที่มีจำนวน 8 ล้านคนแสดงว่าภาคท่องเที่ยวนอกจากไม่ฟื้นแล้วยังหดตัว หากย้อนไปดูปีก่อนหน้าที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมีถึง 40 ล้านคนเม็ดเงินที่หายประมาณ 1.735 ล้านล้านบาท กระทบภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งโรงแรม แหล่งท่องเที่ยวรวมถึงแรงงานคงต้องเตรียมรับมือยาว

ขณะที่ท่องเที่ยวในประเทศอยู่ในช่วงเทศกาลหยุดยาวแต่ทราบว่ามีการยกเลิกการจองห้องไปเกินกว่าร้อยละ 60  จำเป็นที่จะต้องเฝ้ามองการระบาดหากยืดเยื้อจะกระทบกำลังซื้อรวมถึงการเดินทางจะยังไม่กลับมา แต่นิสัยคนไทยใจถึง “กลัวไม่ได้เที่ยวมากกว่ากลัวไวรัส” แถมรัฐบาลมีเงินให้ไปใช้จ่ายคงกระทบระยะสั้น ๆ ส่วนแรงงานที่อยู่ในภาคท่องเที่ยวประมาณ 2.5 ล้านคนอาจกลายเป็นคนว่างงานแฝงกลับไปอยู่ในชนบทไม่ปรากฏตัวเลขอยู่ในอัตราการว่างงานของประเทศ

ด้านเศรษฐกิจล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดการขยายตัวของจีดีพีปีนี้ปีนี้เหลือหดตัวร้อยละติดลบ 6.6 ส่วนปีหน้าจะปรับลดการขยายตัวเหลือร้อยละ 3.2 เป็นการขยายตัวบนการหดตัวที่ต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษ เหตุผลสำคัญมาจากความเสี่ยงโควิดรอบใหม่ขึ้นอยู่กับมาตรการของรัฐว่าจะสามารถควบคุมได้มากน้อยเพียงใด

ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูงเศรษฐกิจไทยปี 2564 จึงอยู่ในสภาวะความเปราะบางทั้งจากภัยโรคระบาดและเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวบนความไม่แน่นอนทางการเมืองทั้งระดับประเทศและระดับโลก รวมถึงนโยบาย   กีดกันทางการค้าในรูปแบบใหม่ ๆ และการช่วงชิงผลประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจ อีกทั้งอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่ามากสุดในภูมิภาคตรงนี้เป็นโจทย์ใหญ่รับปีใหม่ ไว้ฉบับหน้าจะมาขยายความ…สุขสันต์เทศกาลคริสต์มาสและเที่ยวปีใหม่ให้สนุกนะครับ

( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )