posttoday

เศรษฐกิจซึมยาว-ตลาดแรงงานเปราะบาง...โจทย์ยากรอรัฐมนตรีใหม่แก้

27 กรกฎาคม 2563

คอลัมน์ 'เศรษฐกิจรอบทิศ' โดย ธนิต โสรัตน์

เป็นที่ยอมรับว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ซึ่งจะครบครึ่งปีเป็นวิบัติภัยที่มีผลกระทบทั้งการเมือง เศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของผู้คนทั้งโลกมีผู้เสียชีวิตน่าจะเกิน 6.5 แสนคน นำมาซึ่งวิกฤตที่เกี่ยวข้องกับปากท้อง ของผู้คนกระทบธุรกิจและสถานประกอบการเป็นวงกว้างทั้งโลกมากสุดในรอบศตวรรษ ประเทศไทยอาจมีผลกระทบ มากสุดในอาเซียนเพราะเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับบริบทการค้าโลกซึ่งหดตัวอย่างรุนแรงส่งผลเป็นสึนามิกระทบภาคส่งออกและนำเข้ารวมถึงเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวต่างชาติและการลงทุนทางตรง (FDI) เงินที่หายไปต่อหน้าต่อหน้าไม่น้อยกว่า 3.54 ล้านล้านบาท

“โควิดภิวัฒน์ ” จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อุปสงค์ และอุปทานจะไม่สมดุล การบริโภคและการ จับจ่ายใช้สอยจะลดลงทำให้กำลังการผลิตมีส่วนเกินสูงหลายอุตสาหกรรมมีการทำงานไม่เต็มชั่วโมง-ปิดงานชั่วคราวไป จนถึงปิดกิจการ กำลังการผลิตอุตสาหกรรมช่วงก่อนปลดล็อกเฟส 5 อยู่แค่ระดับร้อยละ 52.84 จากการสัมมนาทาง วิชาการของธนาคารแห/งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อเร็ว ๆ นี้มีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวอาจจะช้าในลักษณะ “เครื่องหมายถูกที่มีหางยาว” อีกทั้งนิว นอร์มอล ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงจากความเคยชินในการใช้ “Online” เพื่อการจับจ่ายใช้สอยและบริโภคสินค้า-บริการทำให้มีการเร่งตัวของเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งใน ภาคบริการ ร้านค้า ร้านอาหาร กระบวนการผลิตรวมถึงสถาบันการเงิน

ผลที่ตามมาคือการใช้แรงงานมนุษย์ จะลดลงมีนักวิจัยด้านแรงงานประเมินว่าคนว่างงานตกค้างในปีนี้จะไม่น้อย 3 ล้านคน  ขณะที่ผลการศึกษาขององค์กรนายจ้างแห่งหนึ่งอาจมีสูงถึง 4 ล้านคน ถึงแม้ว่าจะมีโครงการ กระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้โปรโมชั่น “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่มีผู้มาลงทะเบียนเต็ม 2 ล้านคนจนโรงแรมช่วงวันหยุดยาว ฉวยโอกาสขึ้นราคา ประเมินว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 4.9-5.0 หมื่นล้านบาทถึงจะเป็นเพียงแค่ยาหอมเมื่อเทียบ กับมูลค่าท่องเที่ยวรวมที่หายไปกว่า 2.1 ล้านล้านบาท แต่คงพอชดเชยรายได้และพยุงให้มีการจ้างงานได้บ้าง

อย่างไรก็ตามผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าผ่านมาเกือบ 6 เดือนตัวเลขคนติดเชื้อสะสมและ ผู้เสียชีวิตพุ่งไม่หยุดยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อใด ทำให้เศรษฐกิจโลกทรุดตัวหนักสุดในรอบร้อยปี จากรายงานกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่ามีประเทศต่าง ๆ 102 ประเทศมีปัญหาเงินทุนสำรองและสภาพคล่องจนต้องมาขอรับ ความช่วยเหลือ ด้านประเทศสมาชิกอียูจำนวน 27 ประเทศช่วงปลายเดือนกรกฎาคมบรรลุข้อตกลงตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร คิดเป็นเงินไทยถึง 26.88 ล้านล้านบาทเท่ากับ 1.55 เท่าของจีดีพี โดยครึ่งหนึ่งของ เงินจะนำไปปล่อยกู้ ที่เหลือเป็นเงินเยียวยาให้เปล่าแลกกับการเสียภาษีที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ประเทศไทยพื้นฐานเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ 267,832 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นอันดับ 12 ของโลกเทียบกับประเทศสิงคโปร์ อยู่ในอันดับ 11 ทิ้งห่างประเทศมาเลเซียที่อยู่ใน อันดับ 25 และเทียบกับประเทศเวียดนามที่ดูว่าเศรษฐกิจแข็งแกร่ง แต่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในอันดับ 29  อีกทั้งหนี้สาธารณะของไทยยังมีช่วงห่างที่รัฐบาลสามารถกู้เงินจากแหล่งทุนในประเทศเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจ ตรงนี้ เป็นจุดแข็งของไทย

ประเด็นที่ไม่ควรเป็นปัญหาคือการเมืองในพรรครัฐบาลไม่นิ่งจากความไม่ลงตัวระหว่างนายกรัฐมนตรีกับ พรรคพปชร. ที่เป็นแกนหลักหนุนรัฐบาลมีการชิงไหว-ชิงพริบไม่แนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน  ด้านตัวนายกรัฐมนตรี เจ้าตัวไม่ค่อยยอมรับว่ามาจากการเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการเมืองไทยเป็นระบอบรัฐสภาต้องใช้มือของส.ส.หนุนไม่เหมือนกับรูปแบบ “Coup d’état” ที่ใช้รถถังเป็นตัวช่วย ขณะที่การปรับครม.และทีมเศรษฐกิจที่จะ เข้ามาใหม่ดูว่าจะไม่ค่อยราบรื่นเท่าใดอาจเป็นคลื่นใต้น้ำกระเพื่อม การทำงานอาจเหมือนกับต่างคนต่างทนอยู่ “กล้ำกลืนฝืนทน” หากเป็นแบบนี้ก็ไม่รู้ว่าจะไปด้วยกันได้ยาวได้อย่างไร

“โจทย์ยาก ” ที่รอทีมเศรษฐกิจใหม่คือเศรษฐกิจหดตัวรุนแรงและฟื้นตัวยากขณะที่ตลาดแรงงานเปราะบาง ภาคบริการ-ค้าปลีกและอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการบริโภคภายในและส่งออกมีความอ่อนแอ แรงงานว่างงานทั้งที่มีตัวเลขและแรงงานแฝงรวมกันเป็นหลักหลายล้านคน ไม่สามารถกลับเข้าทำงาน การผลักดันวาระแห่งชาติเกี่ยวข้องกับ โครงสร้างตลาดแรงงานใน 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงผ่านพ้นของยุคโควิด-19 หรือ “Post Covid-19” จะมีรูปร่าง หน้าตาเป็นอย่างไร การขับเคลื่อนปรับทักษะใหม่ให้ผู้ที่ตกงานหรือแรงงานด้อยโอกาสสามารถกลับเข้ามาใน ตลาดแรงงานใหม่ที่รูปแบบการจ้างงานต่างไปจากเดิมหลายตำแหน่งงานจะหายไป

ความท้าทายมาจากโจทย์ระยะสั้นว่าจะกู้เศรษฐกิจที่ทรุดตัวได้อย่างไร ระเบิดเวลาที่รออยู่ เช่น อุตสาหกรรม ส่งออก 3 ใน 4 ถดถอยมาตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ก็ยังติดลบสะท้อนจากอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนประกอบ 5 เดือนแรกหดตัวร้อยละ 30, เครื่องใช้ไฟฟ้าหดตัวร้อยละ 16.7, สินค้าเกษตรไล่เรียงมาตั้งแต่ ข้าว, ยางพารา, ผลิต มันสำปะหลัง, น้ำตาลทรายหดตัว แม้แต่สถาบันการเงินกำไรไตรมาสสองติดลบถึงร้อยละ 41 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ มาตรการพักชำระหนี้ไม่สามารถกด “NPL” ไม่ให้สูงทำให้คุณภาพหนี้เสื่อมถอยเป็นเหตุผลหลักที่ธนาคารต่าง ๆ ระวังการปล่อยสินเชื่อและซอฟต์โลน ที่กล่าวมาเป็นเพียงแค่ตัวอย่างของโจทย์ยากที่รอรัฐมนตรีที่แย่งกันเป็นจิตอาสาเข้า มาแก้ปัญหา ใครที่คิดว่าจะสอบผ่านได้ง่าย ๆ คงต้องคิดใหม่

คอลัมนนี้ออกมาในช่วงวันหยุดยาวหากลางานต่อสามวันก็จะได้หยุดรวมกันถึง 9 วันเป็น “Super Long Holiday” คงเป็นการพิสูจน์ การจับจ่ายใช้สอยของผู้คนที่คิดว่าเขาไม่มีสตางค แต่หากไปเที่ยวกันมากๆ คงต้องกลับมาทบทวนใหม่ว่าคนไทยไม่ได้จนจริงหรือการว่างงาน ไม่มีผลต่อการใช้จ่ายคงได้ฉีกตำราเศรษฐศาสตร์ กันบ้าง อย่างไรก็ ตามขอให้เที่ยวกันให้สนุก อย่ารูดบัตรจนเพลินเหลือไว้กลับมาใช้บ้าง.... “Happy Holiday” เดินทางให้ปลอดภัยกัน ทุกคนนะครับ

( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )