posttoday

รับมือวิกฤตโควิด-19....อึด ทน สู้

30 มีนาคม 2563

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ผู้ติดเชื้อสะสมของไทยหากอัตราการขยายตัวถึงแม้จะเริ่มลดลงแต่ยังมีจำนวนมากที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันภายในสัปดาห์นี้อาจเห็นตัวเลขทะลุ 1,500 รายแน่นอน

เหตุคนไทยบางกลุ่มยังมีพฤติกรรมเสี่ยง ขาดวินัยชอบสนุก บางคนติดเชื้อหนีออกจากโรงพยาบาลหรือถูกกักตัวอยู่ที่บ้านยังตั้งกลุ่มก๊งเหล้าหรือตะลอนไปเที่ยวตามที่ต่างๆ

ขณะที่การปิดสถานประกอบการต่างๆ ในเขตกทม.และปริมณฑลทำให้คนจำนวนมากกลับไปต่างจังหวัดเพราะถึงอยู่ก็ไม่มีงานทำต้องเสียค่าเช่าคนอยู่ในเมืองไม่มีสตางค์อยู่ไม่ได้ คนที่หายไปสะท้อนชัดเจนจากการจราจรในกทม.ถนนส่วนใหญ่แทบไม่มีรถติดเหมือนกับวันหยุดยาว “Long Holiday” แม้แต่ตลาดขายอาหารแผงลอยหายไปมากสอบถามได้ความว่าทั้งคนซื้อและคนขายของกลับบ้านนอกไปหมด

ขณะนี้การแพร่ระบาดไปเกือบทั่วประเทศจากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมแบบไทย เช่น รับประทานอาหารร่วมกัน ใช้หม้อข้าวและอาหารจานเดียวกัน พวกที่กินเหล้าล้อมวงใช้น้ำแข็งกระติกเดียวกันล้วนเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจจากวิกฤตครั้งนี้ต่างไปจากอดีตที่เกิดจากการปั่นหุ้นการเก็งกำไรจนเกิดฟองสบู่หรือการแข่งขันกีดกันทางการค้าทำให้เกิดสงครามการค้าโลก แต่วิกฤตทางเศรษฐกิจรอบนี้มาจากเชื้อไวรัสที่ไม่เห็นตัวตนติดมากับผู้คนที่เป็นพาหะ ในยุคที่มนุษย์เดินทางไปมาหาสู่กันอย่างสะดวกสบายแค่นักท่องเที่ยวต่างชาติปีที่แล้วเกือบ 40 ล้านคนการแพร่ระบาดจึงป้องกันได้ค่อนข้างยาก

อยากฉายภาพให้เห็นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจขอยกตัวอย่าง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาผู้ติดเชื้อแซงหน้ากลายเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เศรษฐกิจกระทบหนักสุดคาดว่าไตรมาสสองจะถึงขั้นหดตัว อัตราการว่างงานพุ่งเกิน 3.4 ล้านคน ตลาดหุ้นพังพินาศสูงสุดในรอบสองทศวรรษ สัปดาห์ที่ผ่านมาวุฒิสภาอนุมัติอัดฉีดเงิน 2.0 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีทั้งมาตรการแจกเงินครัวเรือนเป็นเงินไทยเกือบแสนบาทต่อคน ประเทศแถบยุโรปไวรัสเล่นงานเกือบทุกประเทศที่หนักๆ มีสเปน, อิตาลี, ฝรั่งเศส, เยอรมันนีขนาดนายกรัฐมนตรีติดเชื้อกักกันตัวเอง

รัฐสภายุโรปอนุมัติเงินก้อนใหญ่เป็นเงินไทยประมาณ 1.32 ล้านล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประเทศกลุ่ม G20 ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วออกแถลงการณ์อัดฉีดเม็ดเงิน 5.0 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเพื่อพยุงเศรษฐกิจ

ในเอเชียประเทศญี่ปุ่นเศรษฐกิจกำลังอยู่ในสถานการณ์ร้ายแรงจากเดิมที่มีความเปราะบางอยู่แล้วไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้วหดตัวถึงร้อยละ 7.1 และครึ่งปีแรกของไตรมาสนี้จะหดตัวมากกว่า เศรษฐกิจจีนประธานาธิบดีสี จินผิ้ง ออกมายอมรับว่าอุปสงค์ในประเทศลดลงถึงแม้ว่าสถานการณ์ไวรัสจะดีขึ้นแต่คนยังกลัวและแรงงานเข้าทำงานเพียงร้อยละ 70 ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยซบเซา ธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชียหรือ “ADB” ระบุว่าความเสียหายเฉพาะประเทศกำลังพัฒนามีมูลค่ามากกว่า 5.47 แสนล้านเหรียญสหรัฐเป็นเงินไทยประมาณ 17.7 ล้านล้านบาท ทำให้คาดการณ์ว่าการขยายตัวของโลกปีนี้อาจไม่เติบโตไปจนถึงติดลบ

กลับมาที่ประเทศไทยมหาวิทยาลัยดังแห่งหนึ่งประเมินว่าธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 1.3 ล้านกิจการได้รับผลกระทบมูลค่าประมาณ 4.84 แสนล้านบาท ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าเศรษฐกิจปี 2563 จะหดตัวถึงร้อยละ 5.3 ใกล้เคียงกับวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปีพ.ศ.2541 มีการปรับตัวเลขประมาณการณ์เครื่องมือชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญล้วนหดตัวติดลบ เช่น ส่งออกหดตัวร้อยละ 8.8, นำเข้าติดลบร้อยละ 15.0, บริโภคเอกชนติดลบร้อยละ 1.5, เงินเฟ้อทั่วไปอาจติดลบ, การลงทุนเอกชนและต่างชาติในอีอีซีคงต้องพับไว้ก่อนปีนี้หดตัวประมาณร้อยละ 4.3, ภาคท่องเที่ยวหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบสองทศวรรษ

วิกฤตเศรษฐกิจของไทยรอบนี้หนักสุดในรอบ 22 ปี คำถามว่าภาคธุรกิจเอกชนขณะนี้เป็นอย่างไร ตอบได้ว่าส่วนใหญ่แย่ไปถึงแย่มากๆ ที่ดีอาจเป็นคลัสเตอร์ประเภทส้มหล่น เช่น ร้านค้าสะดวกซื้อ, อุตสาหกรรมและผู้จำหน่ายเวชภัณฑ์-อุปกรณ์การแพทย์, หน้ากากอนามัย, เจลแอลกอฮอล์, ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปหรือบะหมี่สำเร็จรูปตลอดจนสินค้าแช่แข็ง แต่ธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในสถานการณ์ลำบากโดยเฉพาะโรงแรมที่พัก ร้านอาหารได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ

ตามมาด้วยสถานประกอบการที่ถูกพิษล็อคดาวน์ไล่ตั้งแต่ห้างร้านต่างๆ หมอนวดทั้งแผนเก่าและแผนปัจจุบัน ร้านเสริมสวยแม้แต่แผงลอยหาบเร่ก็ไม่เว้น ภาพขณะนี้คือการท่องเที่ยวดับวูบเหลือแค่ร้อยละ 10 ตามมาด้วยมาตรการการปิดเมืองและการปิดประเทศทำให้คนไม่จับจ่ายใช้สอย, กลัวการเจอกัน, เก็บตัวอยู่ในบ้านกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงแท็กซี่-วินมอเตอร์ไซด์ ชาวบ้านไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะจับจ่ายใช้สอยลามไปถึงอสังหาริมทรัพย์ที่แย่อยู่แล้วกลายเป็นดับสนิท ยอดซื้อรถในประเทศและส่งออกลดลงฮวบฮาบจนค่ายรถฮอนด้าประกาศปิดโรงงานที่จังหวัดปราจีนบุรีและอยุธยาไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายนคงจะเห็นอีกหลายค่ายตามมา

สึนามิ ที่กำลังตามมาคือคนว่างงานน่าจะพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ผมประเมินว่าน่าจะประมาณ 6.5 ล้านตำแหน่งมาจากแรงงานในระบบประมาณ 2.75 ล้านคน, แรงงานนอกระบบประมาณ 3.205 ล้านคน, แรงงานใหม่จบการศึกษาปีนี้ประมาณ 5.2 แสนคนและว่างงานที่มีอยู่ก่อนแล้วประมาณ 4 แสนคน

รัฐบาลรับรู้ว่าการว่างงานของไทยกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่มีการออกพรก.กู้เงิน 2.2 แสนล้านบาทและโยกโอนงบอีก 2 แสนล้านบาทเพื่อนำมาใช้ในการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ มีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ตกงานในระบบผ่านประกันสังคมใช้เงินประมาณ 106,800 ล้านบาทและเงินจากรัฐบาลช่วยเหลือแรงงานนอกระบบใช้เงินประมาณ 48,075 ล้านบาท แต่ตรงนี้ต้องให้ชัดเจนว่าจะช่วยเฉพาะคนที่เดือดร้อนจากพิษโควิด-19 และจากมาตรการล็อคดาวน์ของรัฐบาล หรือจะช่วยคนทั้งประเทศเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งเงินแค่นี้คงไม่พอแน่นอน

มาตรการของรัฐที่ออกมาประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านก็ไม่ได้กันท่า ขอให้ทำจริงจังมีมาตรการลงโทษที่ชัดเจนอย่าทำแบบน็อตหลวมทำให้ไวรัสไม่จบในเวลาที่รวดเร็วเศรษฐกิจจะพังพินาศ ภายใต้วิกฤตไวรัสโควิด-19 เป็นความทุกข์ยากของประชาชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการ-แรงงานกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในกลุ่มท่องเที่ยวและ กลุ่มที่ถูกมาตรการล็อคดาวน์ปิดเมือง ที่ต้องให้กำลังใจเป็นพิเศษคือหมอและบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังต่อสู้กับไวรัสร้ายทำให้การสูญเสียชีวิตของคนไทยอยู่ในอัตราต่ำมาก

วันนี้กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญสุดสู้กับไวรัสร้าย ต้องใช้ปัญญาที่สำคัญเวลาเช่นนี้ต้อง “อึดให้นานที่สุด” ต้องทนอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบากที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นใน วันพรุ่งนี้ ที่สำคัญต้องสู้สู้....น่ะครับ