posttoday

ผ่อนคลายวิกฤตสหรัฐฯ-อิหร่านผลดี...ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

13 มกราคม 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

เปิดศักราชใหม่ที่คาดหวังว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะผ่านจุดต่ำสุดถึงแม้จะฟื้นตัวช้าๆ ซึ่งธนาคารโลกประเมินว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 แต่อย่างน้อยไม่ลดต่ำแย่กว่าปีที่แล้วที่คาดว่าจะโตได้เพียงร้อยละ 2.4 ความขัดแย้งตะวันออกกลางชนวนจากสหรัฐฯ ใช้โดรนสังหารบินเข้าไปใกล้สนามบินนานาชาติของอิหร่านระเบิดสังหารหมู่ผู้นำทหารสูงสุดพล.ตรี กาเซ็ม โซไลมานี และบุคคลระดับหัวกะทิหลายคนซึ่งเป็นคนใกล้ชิด "อาลี คาเมเน" ผู้เป็นประมุขแห่งรัฐและผู้นำสูงสุดทางการเมืองและศาสนาของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ประกาศชักธงแดงเหนือสุเหร่าศักดิ์สิทธิ์ "จามคาราน" แสดงสัญลักษณ์สงครามล้างแค้นด้วยเลือดประเดิมด้วยยิงขีปนาวุธ 20 ลูกถล่มฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรัก เป็นข่าวดังกลบข่าวการเมืองในประเทศติดต่อหลายวันรายละเอียดต่างๆ ไม่ขอกล่าวเพราะคงทราบดีกันอยู่แล้ว

อิหร่านกับสหรัฐอเมริกา เป็นไม้เบื่อไม้เมามาอย่างยาวนานหลาย 10 ปี สหรัฐฯ กดดันปิดล้อมด้านเศรษฐกิจจนเศรษฐกิจของอิหร่านพังยับเยินนอกจากราคาน้ำมันตกและยังขายไม่ได้อย่างเสรีจีดีพีหดตัวถึง ร้อยละ 6 ราคาอาหารสินค้า-อุปโภคบริโภคสูงกว่า 3 เท่าตัว

จากที่เคยปิดประเทศต้องเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ด้วยภูมิรัฐศาสตร์ทำให้คุมช่องแคบฮอร์มุซซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันของอ่าวเปอร์เซีย ช่วงหลังจับมือเป็นพันธมิตรกับจีน รัสเซียและตุรกีมีการสนับสนุนให้ประเทศอิรักปลดแอกยึดครองจากสหรัฐฯ แบ่งแยกอีกข้างเช่น อิสราเอล จอร์เดน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ ซึ่งชัดเจนว่าอยู่ข้างสหรัฐฯ เพื่อไว้ท่วงดุลอำนาจจากอิหร่าน

สถานการณ์ขัดแย้งครั้งนี้ หากขยายตัวเป็นวงกว้างความเสียหายจะรุนแรงเพราะแต่ละข้างมีพันธมิตรเป็นมหาอำนาจทางทหารและจะกระทบกับเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงเปราะบางให้เลวร้ายกว่าปีที่ผ่านมา แต่หลังจากที่ปธน.ทรัมป์ฯ แถลงการณ์หลังฐานทัพถูกถล่มมีท่าทางไม่ยั่วยุท่าตีท่าต่อยเนื่องจากไม่มีรายงานทหารสหรัฐฯและคนอิรักบาดเจ็บ-ล้มตาย ความเสียหายเพียงเล็กน้อยจะใช้มาตรการปิดล้อมทางเศรษฐกิจและกดดันเกี่ยวกับการพัฒนานิวเคลียร์

ด้านผู้นำอิหร่านออกไปในทางไม่ใช้วิธีรุนแรงพอใจที่ได้แก้แค้นระดับหนึ่งลดความตึงเครียดในภูมิภาคและของโลก

ท่าทีที่ผ่อนคลายเนื่องจากทางอิหร่านมีความไม่พร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีทางทหารและเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะง่อยเปลี้ย มีผู้สันทัดกล่าวว่าขีปนาวุธที่พลาดเป้าทำความเสียหายได้แค่เล็กน้อยเพราะขาดประสิทธิภาพหรือตั้งใจจะยิงให้พลาดเป้าวิธีที่ถนัดของอิหร่าน คือ การแทรกซึมก่อการร้าย

ขณะที่ปธน.ทรัมป์ฯ รู้ดีว่าประชาชนร้อยละ 53 ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาไปเล่นงานอิหร่านว่าเกินกว่าเหตุ อีกทั้งประเมินว่าหากขยายผลเป็นสงครามเต็มรูปแบบจะดึงพันธมิตรของอิหร่านเข้าร่วมด้วยซึ่งไม่มีผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความเสี่ยงการเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2

กลับมาที่ประเทศไทยวิกฤตอ่าวเปอร์เซียที่ดูเหมือนว่าจะลดความตึงเครียดได้ระดับหนึ่ง สะท้อนจากราคาน้ำมันตลาดนิวยอร์ก (WTI) จากช่วงปลายปีอยู่ที่ระดับ 61.72 เหรียญ/ บาร์เรล หลังเกิดเหตุโดรนถล่มผู้นำทหารของอิหร่านขึ้นไปสูงสุดที่ 63.05 เหรียญ/ บาร์เรล ล่าสุดเที่ยงวันศุกร์ที่ผ่านมาลดลงเหลือระดับที่ 59.56 เหรียญ/ บาร์เรลเป็นระดับที่ต่ำกว่าก่อนมีวิกฤตด้วยซ้ำ
ขณะเดียวกันเงินเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักต่างๆ รวมทั้งเงินบาทแข็งค่าเล็กน้อยและราคาทองคำเริ่มผ่อนคลายราคาลงเช่นกัน ปัจจัยเหล่านี้เป็นการส่งสัญญาณลดความกังวล ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกและต่อการส่งออกของไทยที่หวังว่าจะกลับมาเป็นบวกหลังจากปีที่แล้วหดตัวร้อยละ 2.77

โดยเฉพาะราคาพลังงานที่กลับมาอยู่ในระดับปกติ ซึ่งจะทำให้ภาคส่งออกฟื้นตัวรวมถึงภาคท่องเที่ยวจะยังคงเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะลำพังงบประมาณรัฐบาลและเงินลงทุนตลอดจนงบกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มากพอจะดันให้เศรษฐกิจโตได้เกินร้อยละ 3

ปัจจุบันประเด็นเศรษฐกิจเป็นจุดตายที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ให้น้ำหนักมากกว่าด้านการเมืองหรือความขัดแย้ง แม้แต่ประเทศอิหร่านซึ่งเป็นมุสลิมหัวรุนแรงขนาด "ชักธงแดงล้างแค้น" ยังต้องยอมนิ่งเพราะเศรษฐกิจในประเทศถดถอยรุนแรง คนยากจนมีมากปากท้องประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ลำดับต้นๆ ของไทยก็เช่นกันความอยู่รอดของรัฐบาลไม่ใช่จากคุณธนาธรฯ หรือคนที่จะวิ่งไล่ลุงตู่มีมากน้อย รวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจครม.ที่เลื่อนรอคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตาพรรคอนาคตใหม่

ปัญหาปากท้องเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเข้าใจปัญหาและต้องยอมรับความจริงว่าที่ผ่านมาเม็ดเงินไปกระจุกอยู่บนฐานบนไม่ลงมาข้างล่าง ความเหลื่อมล้ำ การกึ่งผูกขาดของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในรูปแบบต่างๆ ทำให้รากหญ้าแทบไม่มีช่องทางหากิน ชาวบ้านรายได้หายไปจากราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงหรือผลผลิตได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

ภาคการผลิตการจ้างงานมีการชะลอตัวทำงานไม่เต็มกะหรือไม่มีค่าล่วงเวลาล้วนเป็นปัจจัยทำให้กำลังซื้อหายไป

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องชัดเจนไม่ใช่แค่ลดค่าไฟฟ้าหรือให้รัฐวิสาหกิจเร่งลงทุนเงินก็ไปกระจุกอยู่ที่ธุรกิจใหญ่ๆ ซึ่งเข้าถึงกลไกรัฐเหมือนเดิม ผมถึงกล่าวมาตลอดว่าทีมเศรษฐกิจเก่าๆ แบรนด์ดีแต่หมดยุคต้องให้ไปพักยาว

ดึงภาคเอกชน-ผู้นำองค์กรต่างๆ เขารู้ปัญหาดีให้มาเป็นทีมเศรษฐกิจเพื่อที่จะดึงกำลังซื้อให้การบริโภคขยายตัว โดยเฉพาะมาตรการรับมือภัยแล้งที่ปีนี้จะหนักสุดๆ กรมชลประทานระบุว่าเขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเหลือน้ำใช้ได้ร้อยละ 23 หากฝนปีนี้มาล่าช้าและมาน้อยเกษตรกรจะอยู่กันอย่างไร...

เมื่อท้องหิวมีแต่หนี้ทั้งคนเมืองและเกษตรกรจะรวมตัวกันออกมากันเต็มเมืองไม่ว่ารัฐบาลไหนก็อยู่ไม่ได้ครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)