posttoday

ทิศทางเศรษฐกิจปีชวด...เป็นอย่างไร

30 ธันวาคม 2562

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์   รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

เหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมงจะเข้าสู่การเปลี่ยนศักราชจากปีกุนที่ขุนเท่าใดไม่ฟื้นกลายเป็นปีหมูผอม เศรษฐกิจชะลอตัวหาเงินไม่พอใช้ เข้าสู่ปีชวดพุทธศักราช 2563 เป็นปีหนูพาหนะของมหาเทพพระพิฆเนศ เทพแห่งความสำเร็จ ปีชวดยังเป็นสัญลักษณ์ของความว่องไวก้าวหน้าในประเทศอินเดียเป็นสัตว์ที่ทางฮินดูบูชา ขอพร คนไทยจำนวนมากบูชาพระพิฆเนศเท่ากับบูชาหนูหรือ “มุสิก” ที่ทุกปางจะต้องปรากฏเคียงข้าง เขียนเกริ่นนำตรงนี้ให้เห็นว่าปีชวดคงไม่ใช่ชวดเหมือนที่ผ่านมา จะเริ่มศักราชใหม่อยากเขียนอะไรให้เป็นมงคล ไว้ก่อน

เศรษฐกิจปีพ.ศ.2562 เป็นอย่างไรมาถึงวันสุดท้ายของปี คงไม่มีอะไรมากล่าวเพิ่มอีกเพราะทั้งปีทั้งเขียนและทั้งพูดในที่ต่างๆ ไปมากมายไม่มีอะไรพลิกล็อคเศรษฐกิจคงโตได้อย่างเก่งไม่เกินร้อยละ 2.6 ผมเห็นภาพนี้มาตั้งแต่กลางปีเนื่องจากด้วยอาชีพคลุกคลีกับผู้ส่งออกเห็นสัญญาณการหด ตัวแทนที่ผู้รับผิดชอบนโยบายจะขยับเป้าตัวเลขส่งออกกลับลอยไว้เฉยๆ เอาไว้เผื่อลุ้น ซึ่งภาคธุรกิจเขาไม่ทำกันการขยับเป้าเท่ากับปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปหากไม่ปรับทุกคนก็จะเฉื่อยเพราะรู้ดีเป็นเป้าหลอกๆ ไม่คิดจะทำจริงจัง

ส่องกล้องปีใหม่ภาพใหญ่จะเห็นอะไรบ้างเริ่มจากเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนเต็มไปด้วยความท้าทายการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดได้ทุกขณะ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนไม่จบง่ายๆ กลายเป็นเกมส์หาเสียงการเมืองของปธน.ทรัปม์ฯ สมัยที่ 2 เนื่องจากสัญญาณฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้นจากนโยบาย “The America First”จำนวนคนว่างงานลดลงจนถึงระดับต่ำสุดในรอบหลายปี ข้ามฝากไปยังยุโรปไม่สามารถคาดเดาผลกระทบ “Brexit” เมื่ออังกฤษถอนตัวจากอียูจะมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไรเพราะอียูเต็มไปด้วยปัญหา เศรษฐกิจโลกมีความเปราะบางจากปัญหาต่างๆ เช่น ช่องแคบฮอร์มุซ ที่คุกคามความมั่นคงในตะวันออกกลางขณะที่ในเอเชียแปซิฟิก คุณคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือเอาแน่เอานอนไม่ได้วันดีคืนดีงัดเอาขีปนาวุธยิงผ่านเกาะญี่ปุ่น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่ออุปสงค์โลก

กลับมาที่ประเทศไทยการเผชิญกับปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ เสถียรภาพรัฐบาล การเมืองทั้งในสภาและนอกสภาที่มีหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ออกมาว่าจะเล่นกันหนัก ดุเดือด มันส์กว่าครั้งที่ผ่านมา คงต้องดูหลัง “แฟลชม็อบ”รอบใหม่กลางเดือนมกราคมจะขยายวงได้มากน้อยเพียงใด ปีหน้าเป็นปีที่คาดเดาได้ยากเพราะมีประเด็นมากมายที่คนไทยจะต้องเผชิญ เริ่มจากสิ่งที่ดีๆ รัฐบาลประกาศให้เป็นของเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้สโลแกน “The New Beginning”ดัน 5 จีและเอไอเป็นวาระแห่งชาติเพิ่มแต้มต่อทรานส์ฟอร์มให้ไทยมายืนแถวหน้าของอาเซียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะเราประกาศวาระเศรษฐกิจ 4.0 ไปเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว หลังเปิดตัวไม่ค่อยทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันป่านนี้เหลือแค่ 0.4 จะมีอะไรใหม่ๆ บ้างคงไม่ใช่เรื่องเสียหาย

หลังจากเป็นรัฐบาลขยับอะไรไม่ค่อยได้เพราะไม่มีเงินภายในเดือนมกราคมหรือต้นกุมภาพันธ์งบประมาณ 3.2 แสนล้านบาทคงได้ใช้ เห็นบอกว่างบประมาณปี 2564 จะเร่งเข้าสภาฯ คงได้เห็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งเก่าและใหม่ เช่น ชิม-ช้อป-ใช้, โครงการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อบ้านหลังแรกวงเงินห้าหมื่นถึงแสนบาท งบอุดหนุนรายได้ภาคเกษตรตลอดจนการลงทุนในเมกะโปรเจกต์ ปีพ.ศ.2563 การใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐจะเป็นหัวใจขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะประเมินว่าภาคการบริโภคยังคงอ่อนแออยู่ในสภาวะทรงตัวจากปัจจัยหลักๆ เช่น

หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงประมาณ 13.08 ล้านล้านบาทหรือเท่ากับร้อยละ 78.7 ของจีดีพีเป็นกับดักการใช้จ่ายของประชาชนเป็นเรื่องที่แก้ยาก อีกทั้งที่ผ่านมารัฐบาลยังใช้วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการให้ประชาชนเป็นหนี้เป็นสินมากขึ้น สาเหตุอีกประการที่ทำให้การบริโภคไม่ฟื้นตัวมาจากกำลังซื้อของเกษตรกรหายไปจากปัญหาภัยแล้งแถมสินค้าส่งออกตัวเลขหดตัว เช่น ข้าวทั้งปีหดตัวร้อยละ 4.87, ยางพาราหดตัว ร้อยละ 12.94, อ้อยในรูปของน้ำตาลทรายหดตัวร้อยละ 2.48 ทำให้ภาพรวมส่งออกสินค้าเกษตรติดลบเชิงเงินบาทสูงถึงร้อยละ -8.46 รายได้เกษตรกรที่หายไปสะท้อนจากจีดีพีภาคเกษตรเติบโตแค่ร้อยละ 0.5 ปีใหม่คาดว่าจะขยายตัวได้เป็นบวกแต่ก็แค่จุ๋มจิ๋มร้อยละ 2.3

ปัจจัยชี้การใช้จ่ายของประชาชนวัดจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ช่วงสิ้นปีความเชื่อมั่นหดตัว บ่งชี้ถึงความไม่มั่นใจต่อรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นมนุษย์เงินเดือนเหตุข่าวเกี่ยวกับโรงงงานปิด-เลิกจ้าง-โครงการสมัครใจลาออกเป็นสิ่งที่เริ่มเข้ามาใกล้ตัวเองมากขึ้น ทำให้มีการระมัดระวังการใช้จ่ายเงิน สะท้อนได้ดีจากตัวชี้วัดค้าปลีกมูลค่า 3.3 ล้านล้านบาท ขยายตัวลดลงจากร้อยละ 3.0 เหลือร้อยละ 2.5 สอดคล้องกับดัชนีเงินเฟ้อที่สะท้อนระดับอุปสงค์ในรูปของราคาที่ขยายตัวได้ต่ำแค่ ร้อยละ 0.8 ปรับเป้าหมายใหม่จะให้ขยายตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 1.0 - 3.0

ภาคส่วนที่ยังมีความน่าเป็นห่วงคือภาคส่งออก ปีพ.ศ.2562 หดตัวทั้งจากเศรษฐกิจโลกและเงินบาทแข็งค่า ปีที่ผ่านมาบาทแข็งค่าประมาณร้อยละ 6.34 หรือทุก 1 เหรียญสหรัฐที่ส่งออกหายไป 2.04 บาท ประมาณว่าการขยายตัวของส่งออกที่น่าจะเป็นไปได้ประมาณร้อยละ 2.3 ขึ้นอยู่กับปัจจัยตัวแปรต่างๆ ที่ยังมีความเสี่ยง ปัญหาเศรษฐกิจเป็นความท้าทายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มากกว่าประเด็นการเมืองทั้งในและนอกสภา เพราะหากเศรษฐกิจดี กระเป๋าไม่แห้ง ความเชื่อมั่นสูงว่าไม่ตกงานไม่ว่ารัฐบาลไหนก็อยู่ได้นานภาวะเศรษฐกิจขาลงใครเข้ามาก็เหนื่อยทั้งนั้น

สำหรับภาคเอกชนปีชวดที่เข้ามามีความไม่แน่นอนหวังว่าน่าจะไม่เลวร้ายไปกว่าปีพ.ศ.2562 แต่จะฝันเฟื่องว่าทุกอย่างจะพลิกฟื้นมาเร็ววันคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องเตรียมสภาพคล่อง รักษาคนเก่าๆ อย่าให้ไปไหน มีแผนรับมือที่รัดกุม ส่วนพวกที่ทำงานกินเงินเดือนถึงแม้ปรับค่าจ้างไม่มากก็ดีกว่าไม่ได้ต้องรับทราบข้อเท็จจริงว่าสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ในช่วงลำบาก ผู้ที่ทำงานในรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทระดับบิ๊กๆ ก็คงโชคดีไป ช่วงเวลาแบบนี้คงต้องเข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน...ที่สำคัญต้องมีความอดทนและอึดครับ