posttoday

“เศรษฐกิจป้ายสุดท้าย...หดตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี”

16 ธันวาคม 2562

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

พลวัตรเศรษฐกิจไทยปี พ.ศ. 2562 มีมูลค่าประมาณ 16.819 ล้านล้านบาท ช่วงต้นปีรัฐบาลวางนโยบายฝันหวานจะดันให้เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 4.0 ถึง 4.5 หรืออย่างน้อยให้เท่ากับปี พ.ศ. 2561 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 4.1 ตั้งสมมุติฐานว่าส่งออกจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.6 การลงทุนของรัฐจะมีเม็ดเงินลงจริงทำให้สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 6.2 ถึง 6.6

อีกทั้งมั่นใจว่าการโปรโมทเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี จะเป็นอัศวินม้าขาวดึงการลงทุนทั้งของไทยและต่างชาติให้สามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4.5 และคาดหวังว่าเสถียรภาพของรัฐบาลภายใต้พรรคพลังประชารัฐหลังเลือกตั้งจะได้คะแนนท่วมท้น แต่ผลกลายเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำการผ่านมติต่างๆ กลายเป็นเรื่องยาก ปัญหาการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาลกลายเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย

หลังลุ้นกันมาทั้งปีภายใต้สภาวการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่เป็นใจ ทำให้ภาคส่งออกที่หวังจะให้เป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจเครื่องยนต์ดับสนิท ปีนี้หดตัวเชิงเหรียญสหรัฐไม่น่าจะน้อยกว่าร้อยละ -2.4 แต่เป็นเงินบาทหดตัวสูงถึงร้อยละ -4.8 ปัจจัยมาทั้งจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ปลายสัปดาห์ที่แล้วเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในรอบปี หากเทียบกับอัตราต้นเดือนมกราคมทุกการส่งออกทุกหนึ่งเหรียญสหรัฐเงินหายไป 2.01 บาทการแข็งค่าทั้งปีคิดเป็นร้อยละ 6.25

แต่ปัจจัยที่สำคัญมาจากขีดความสามารถแข่งขันด้านต้นทุนของไทยลดน้อยถอยลงอุตสาหกรรมที่กระทบหนักเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนหดตัวร้อยละ 6.8, คอมพิวเตอร์และแผงวงจรไฟฟ้าหดตัวร้อยละ 12, เม็ดพลาสติกหดตัวร้อยละ 13.24, อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์หดตัวร้อยละ 17.5 โดยภาพรวมอุตสาหกรรมส่งออก 20 อันดับแรก ซึ่งการส่งออกยังเป็นบวกมีแค่ 5 คลัสเตอร์ที่เหลือ 3 ใน 4 ล้วนติดลบหดตัวทั้งสิ้น

ความเสี่ยงจากการหดตัวของภาคส่งออกที่จะต่อเนื่องไปถึงปีหน้าเกี่ยวข้องกับกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวจำนวนสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเริ่มเห็นสัญญาณหลายโรงงานลดกำลังการผลิตทำให้การจ้างงานลดลงและยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบที่ตามมาคือการบริโภคของประชาชนที่ชะลอตัวจากภาวะรายได้ที่หายไปหรือลดลงรวมถึงความเชื่อมั่นต่ออาชีพและรายได้ในอนาคตทำให้ความเชื่อมั่นลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง รัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆ แต่ด้วยข้อจำกัดทำให้ไม่ค่อยได้ผล การใช้จ่ายของประชาชนที่ลดน้อยลงสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ทั้งปีขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.8 แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของระดับราคาสินค้าและกำลังซื้อที่ลดลงคาดว่าการบริโภคอาจขยายตัวได้แค่ร้อยละ 4.3 ถึงร้อยละ 4.5 น้อยกว่าปีที่แล้ว

ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจที่ออกมาในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2562 ทั้งจากหน่วยงานรัฐและเอกชนระบุว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างเก่งคงทำได้แค่ร้อยละ 2.5 หรือร้อยละ 2.6 สำหรับปีหน้าคงใกล้ๆกับปีนี้ เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวนอกจากภาคการส่งออกและการบริโภค ด้านการลงทุนของเอกชนที่หวังว่าปีนี้ขยายตัวได้ดีจากสิทธิประโยชน์ของบีโอไอ แต่เอาเข้าจริงการลงทุนที่เป็นเม็ดเงินต่ำกว่าปี 2561 ถึงร้อยละ 25.6 ขณะที่การลงทุนของรัฐที่ควรจะเป็นพระเอกแต่ก็ไม่มีเงินที่จะใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจ นอกจากการเสนองบประมาณเข้าสภาฯ ที่ล่าช้าคาดว่ากว่าจะใช้เงินได้คงเป็นปลายมกราคมปีหน้าประเมินว่าทั้งปีการลงทุนของรัฐขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.9 เทียบกับปีที่ผ่านมาขยายตัวได้ร้อยละ 3.3

เศรษฐกิจปี 2562 หนักแค่ไหนเห็นได้จากการสัมมนาแห่งหนึ่งผู้บริหารซีอีโอของธุรกิจระดับแนวหน้าของประเทศออกมายอมรับว่าปีนี้แย่แล้วแต่ปีหน้าจะเหนื่อยมากกว่า ระบุว่าปี พ.ศ. 2563 ที่กำลังจะเข้ามาในไม่กี่วันจะเป็นปีท้าทายของภาคเอกชนทั้งรายเล็กและรายใหญ่เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีก้าวหน้าตลอดจนถึงนวัตกรรม 5 จี จะทำให้รูปแบบธุรกิจและการแข่งขันเปลี่ยนไปแม้แต่ตลาดแรงงานอาจมีความไม่แน่นอนจากเอไอและโอโตเมชั่นที่จะเข้ามาทำงานแทนคนถึงแม้จะมีการปรับค่าจ้างแต่การจ้างงานจะลดน้อยลง ด้านภาคการผลิตมีซัพพลายส่วนเกินสูงขณะที่ด้านอุปสงค์ยังคงอ่อนแอทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่มากพอที่จะดึงกำลังการผลิต (CPU) ให้กลับมาทำงานเต็มชั่วโมงหรือเต็มกะ

สถาบันการเงินออกมาเปรยว่ายังคงคุมเข้มปล่อยกู้โดยเฉพาะ SME เนื่องจากมีแนวโน้มหนี้เสียสูงมากกว่าปกติโดยเฉพาะการเฝ้าระวัง SME ที่เป็นผู้ส่งออก ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งชะลอมาก่อนหน้านี้ยังมีสต๊อกสูงปีหน้ายังเป็นปีท้าทายและเปราะบางของธุรกิจกลุ่มนี้ นอกจากด้านความเชื่อมั่นที่ลดน้อยลงบวกกับสถาบันการเงินการปล่อยเครดิตยากขึ้นทั้งจากการระมัดระวังของธนาคารเองและจากมาตราการของแบงค์ชาติ (LTV) หวังว่ามาตราการกระตุ้นอสังหาของรัฐบาลจะทำให้สถานการณ์ปีหน้าดีขึ้น แนวคิดของผู้บริหารสถาบันการเงินต่างๆ ล้วนออกมาตรงกันว่าเศรษฐกิจของภาคเอกชนมีความอ่อนแอหากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นจะเพิ่มความเปราะบางมากขึ้น ประเด็นที่ภาคธนาคารกังวลเกี่ยวข้องกับกำลังซื้อลดน้อยลงและสต๊อกสินค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะส่งผลต่อรายได้และความสามารถในการทำกำไรของภาคอุตสาหกรรม

ป้ายสุดท้ายของสภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2562 ซึ่งเหลือวันทำงานเพียง 9 วัน คงไม่มีปาฏิหาริย์ที่จะทำให้ตัวเลขเปลี่ยนไป แต่คาดเดาได้ว่าต้นปีหน้ารัฐบาลและหน่วยงานรัฐด้านเศรษฐกิจต่างคงโปรยยาหอมวาดฝันตั้งเป้าหมายเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวสูงๆ เหมือนที่เคยทำทุกๆปีพอหมดปีทำไม่ได้ตามที่สัญญาหรือตั้งเป้าหมายก็ไม่เห็นจะมีใครทำอะไร แต่จากการคาดการณ์ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจภาคเอกชนประเมินว่าการขยายตัวของจีดีพีปี 2563 คงอยู่ในกรอบประมาณการร้อยละ 2.5 ถึง 3.0 ในส่วนที่เกี่ยวกับภาคนโยบายซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบตัวเลขเศรษฐกิจ การวางแผนกำหนดเป้าหมายควรอยู่บนฐานข้อเท็จจริงที่ว่าเศรษฐกิจในยามนี้เป็นเรื่องยากเพราะเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีสัญญาณทางบวก

ประเด็นคือการกำหนดเป้าหมายเครื่องมือชี้วัดทางเศรษฐกิจควรนำปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในเข้ามาบูรณาการเพื่อให้เห็นปัญหาและเห็นโจทย์ที่แท้จริงเพื่อที่การกำหนดนโยบายและมาตราการต่างๆจะได้เข้าไปแก้ไขหรือมีกลยุทธ์ที่ตรงจุดตรงปัญหา มากกว่าการตั้งเป้าหมายตัวชี้วัดต่างๆแบบเลื่อนลอยคนที่ทำงานก็รู้ว่าไม่เอาจริงทำไม่ได้ก็ไม่ผิด ส่วนนักวิชาการหรือผู้ที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจที่มองแต่โลกสวยแล้ววันนี้เป็นอย่างไรพาเศรษฐกิจของชาติมาถึงตรงนี้โรงงานและธุรกิจจำนวนมากทยอยปิดตัวแต่ยังบอกว่าปิดน้อยกว่าเปิด...พูดหยั่งงี้ได้ไงครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)