posttoday

ภาวะเศรษฐกิจข้อมูลรัฐ-เอกชนไม่สอดคล้องกัน...ไม่รู้ว่าจริงแล้วดีหรือไม่ดี

09 ธันวาคม 2562

โดย  ดร.ธนิต  โสรัตน์  รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ผมเป็นผู้หนึ่งที่ติดตามภาวะเศรษฐกิจต่อเนื่องมาเป็นสิบๆ ปี ใช้ตัวเลขชี้วัดทั้งระดับภาครัฐและหน่วยงานเอกชนรวมทั้งตัวเองเป็นผู้ประกอบการทำธุรกิจมีโอกาสรวมประชุมและลงพื้นที่ต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลส่วนใหญ่นอกจากใช้ดัชนีชี้วัดยังเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ทำให้ทราบว่าสภาวะธุรกิจของภาคเอกชนและผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะดีนัก เหตุเพราะส่งออกของไทยอิงอยู่กับเศรษฐกิจโลก ซึ่งอยู่ในช่วงวัฎจักรขาลง ปัจจัยทางบวกยังเห็นไม่ชัดเจนการฟื้นตัวคงไม่เห็นในเร็วๆ นี้

ภาวะที่จะเห็นในปีหน้าคือกำลังซื้อในประเทศจะอ่อนแรง ได้พูดคุยกับองค์กรนายจ้างและสหภาพแรงงานหลายองค์กรพบว่าเริ่มลดชั่วโมงทำงาน บางแห่งเคยทำสองกะลดเหลือกะเดียวหรือทำงานแค่ 5 วันทำให้ค่าล่วงเวลาหายไป กระทบกับรายได้ของแรงงานจำนวนมาก จากข้อมูลของหน่วยงานรัฐระบุว่าคำสั่งซื้อหายไปมากกว่าร้อยละ 10  ทำให้อุตสาหกรรมบางแห่งต้องหยุดกิจการชั่วคราวไปจนถึงปิดโรงงานถาวร

แต่ข้อมูลหน่วยงานรัฐบางแห่งรวมทั้งรัฐมนตรีบางท่านระบุว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี จีดีพีจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 3 ส่งออกยังเป็นบวกอีกทั้งปีหน้าการลงทุนของรัฐจะมากขึ้นเศรษฐกิจจะดีกว่าปีนี้แน่นอน กอปรทั้งตัวเลขการว่างงานเดือนตุลาคมอัตราต่ำสุดในรอบหลายปีข้อมูลเหล่านี้ทำให้อาจสับสนว่าทิศทางเศรษฐกิจของไทยที่แท้จริงเป็นอย่างไร

จากตัวเลขของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าจีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัวแค่ร้อยละ 2.4 เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วขยายตัวที่ร้อยละ 3.6  คาดว่าปีนี้ทั้งปีจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.6 ซึ่งต่ำกว่าปีก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4.1 การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่หายไปถึงร้อยละ 36 คงไม่สามารถบอกได้ว่าอาการเศรษฐกิจไทยยังปกติ ข้อมูลของรัฐให้ข้อมูลที่ไม่ค่อยตรงกัน แต่ต้องขอบคุณหน่วยงาน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย, สศช. และสำนักวิจัยเศรษฐกิจต่างๆ ที่ให้ข้อมูลเป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศอย่างไม่บิดเบือนเพราะภาคธุรกิจจะได้ข้อมูลเหล่านี้เป็นฐานเปรียบเทียบกับของตนเองและเห็นทิศทางของเศรษฐกิจไทยได้อย่างตรงไปตรงมา

ไม่อยากให้หน่วยงานของรัฐออกมาแก้ต่างตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่อาจไม่ค่อยถูกใจเพราะเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าทั้งโลกเศรษฐกิจอยู่ในภาวะทรงตัวไปจนถึงหดตัว การเลือกใช้แต่ข้อมูลดีๆ หรือบอกไม่หมดไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ การได้ข้อมูลทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ แยกส่วนต้องนำมาประติดประต่อ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานปีนี้หนักกว่าหลายปีเห็นได้จากในช่วง 9 เดือนโรงงานที่จำหน่ายทะเบียนเลิกกิจการบวกกับปิดกิจการชั่วคราว (มาตรา 75 วงเล็บ 2) ทั้งปีอาจจะมีแรงงานกระทบถึง 1.8 แสนคนไม่รวมตัวเลขการเลิกจ้างแบบสมัครใจลาออกปีนี้อาจเป็นหลักหมื่นแต่ตัวเลขไม่รวมอยู่ในอัตราการว่างงานซึ่งไม่ถึงร้อยละ 1.0 แต่ต้องยอมรับว่าข่าวคนว่างงานในช่วงนี้เป็นกระแสสูงกว่าปีก่อนๆ มาก

คำถามว่ารัฐบาลเข้าใจปัญหาเหล่านี้หรือไม่

อย่างน้อยท่านนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ต่างจังหวัดประชาชนเข้าถึงได้ง่ายคงรับฟังข้อมูลโดยตรงจากชาวบ้านเห็นได้จากปลายสัปดาห์ที่ผ่านมายอมรับว่าเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้ไม่เต็มที่ สั่งการให้แก้ปัญหาทุกมิติเพื่อไม่ให้คนตกงาน เศรษฐกิจไทยมีปัญหาแทรกซ้อน-หมักหมม ซุกใต้พรมไว้มาก ที่ผ่านมาใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทั้งแบบประชานิยมและประชารัฐเหตุเพราะกำลังซื้อภายในอ่อนแอรายได้ของคนในเมืองลดไปมากจากการจ้างงานที่ลดลงและค่าล่วงเวลาที่เกือบหายไปหมดส่วนในต่างจังหวัดปัญหาภัยแล้งและสินค้าเกษตรขายไม่ได้ราคา ที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นระยะจากชิม-ช็อป-ใช้ซึ่งได้ผลน้อยเพราะเงินจิ๊บจ๊อย มาตรการใหม่เป็นการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ซื้อบ้านช่วงนี้ช่วยเงินดาวน์ 50,000 บาท แต่ต้องเป็นบ้านใหม่เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับก่อสร้างซึ่งทรุดตัวหนักจะได้ผลหรือไม่คงต้องดูต่อไป

การแก้เศรษฐกิจของไทยกับดักสำคัญอยู่ที่คนไทยเป็นหนี้สูง จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แต่ละครัวเรือนเฉลี่ยเป็นหนี้ 340,053 บาทขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.4 สูงสุดเท่าที่เคยมีทำให้เงินหรือรายได้ต้องเอาไปจ่ายหนี้เกือบหมด ข้อมูลนี้สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า เงินกู้ยืมครัวเรือนปรับปรุงล่าสุดสูงถึง 13.079 ล้านล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 78.7 ของจีดีพี ช่วงสามปีเพิ่มขึ้นถึง 1.375 ล้านล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นปีละ 4.58 แสนล้านบาทสะท้อนปัญหาการแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศว่าเป็นอย่างไร แต่ภาคนโยบายยังแย้งว่าหนี้ครัวเรือนสูงเพราะเอาสินเชื่อส่วนบุคคลที่นำไปกู้ทำธุรกิจซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของหนี้ประชาชนหากแยกออกมาหนี้คนไทยก็ไม่ได้สูง

พูดแบบนี้คงไม่ถูกไปทั้งหมดเพราะหนี้ส่วนบุคคลที่เอาไปกู้จะไปใช้ซื้อสินค้า ไปจ่ายคืนหนี้เก่าหรือเอาไปลงทุนอะไรก็ล้วนเป็นหนี้ส่วนบุคคล หากเป็นหนี้ของภาคธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือบริษัทก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งน็น้

มาถึงบรรทัดสุดท้ายข้อมูลที่ย้อนแย้งกันนี้ทำให้ชาวบ้านโดยเฉพาะที่ไม่ได้ศึกษาเชิงลึกไม่รู้ว่าที่จริงแล้วภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างไรกันแน่ อยู่ในช่วงชะลอตัวหรือกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นดีวันดีคืนเศรษฐกิจขยายตัวได้ดี, ตัวเลขการว่างงานต่ำไม่ต้องวิตกคนไม่ตกงานแน่นอน, เสถียรภาพทั้งในครม.และในสภายังดีอยู่ การลงทุนและโรงงานยังแห่กันเปิดใหม่มากมาย ส่งออกปีหน้าจะกลับมาเป็นบวกทั้งที่ธนาคารโลกระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะทรุดหนักกว่าเดิม แต่ภาพที่เห็นและเป็นข่าวอยู่ทุกวันคือทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชนตลอดจนแผงลอยไปจนถึงเกษตรกรต่างออกมาแซ่ซ้องว่าแย่ การทำมาหากินอัตคัดยากจนเป็นหนี้มากกว่าเดิม ข้อมูลย้อนแย้งกันแบบนี้จะอยู่กันอย่างไร...งง ครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)