posttoday

ความเสี่ยงตลาดแรงงาน...ภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจขยายต่ำสุดในรอบ 5 ปี โดย ดร.ธนิต โสรัตน์

25 พฤศจิกายน 2562

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์    รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์    รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ภาวะเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสสุดท้ายออกอาการวูบอย่างเห็นได้ชัดเริ่มจากการเปิดเผยดัชนีเชื่อมั่นเดือนตุลาคมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยลดต่ำสุดในรอบ 17 เดือนและคาดการณ์ไปถึงต้นปี 2563 ว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น เป็นผลจากความกังวลต่อสภาวการณ์เศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและของโลกอาจมีความเสี่ยงสูงจากกำลังซื้อที่ชะลอตัว สะท้อนจากตัวเลขจำหน่ายรถยนต์ทั้งที่จำหน่ายในประเทศและส่งออกเดือนตุลาคมลดลงอย่างฮวบฮาบถึงขั้นติดลบสูงสุดถึงร้อยละ 22.5

อีกทั้งมีการปรับลดเป้าการผลิตมอเตอร์ไซด์ลงมากกว่าสี่หมื่นคัน เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจากการส่งออกที่ติดลบกระทบต่อเนื่องไปถึงการลดกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมในโซ่อุปทานโดยเฉพาะเอสเอ็มอี เอกชนเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมเพื่อรับมือกับปัญหาที่ตามมา

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับการปรับลดเป้าการขยายตัวเศรษฐกิจของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ล่าสุดประเมินว่าจีดีพีทั้งปีจะขยายตัวได้ร้อยละ2.6 จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 3.5 เป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 5 ปี โดยเครื่องยนต์ผลักดันเศรษฐกิจหลักยกเว้นภาคท่องเที่ยวล้วนอยู่ในช่วงขาลง เช่น ส่งออกอาจหดตัวมากกว่าร้อยละ 2.0 นำเข้าหดตัวร้อยละ 3.6 โดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องจักรและวัตถุดิบหดตัวอย่างน่าวิตกบ่งบอกถึงความอ่อนแอของภาคการผลิต เห็นได้จากการลงทุนจากเอกชนคาดว่าทั้งปีอาจขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.8 เทียบจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.9 แต่ตัวเลขการส่งเสริมในพื้นที่อีอีซีซึ่งกำลังหมดโปรโมชั่นในช่วงสิ้นปียังไปได้ดีแต่การลงทุนจริงคงต้องรอพักใหญ่

สิ่งที่รัฐบาลพยายามกระตุ้นเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงไปกว่านี้คือการบริโภคของประชาชน ซึ่งคาดว่าจะลดจากปีที่แล้วเหลือร้อยละ 4.3 หากแก้เรื่องนี้ไม่ได้จะกระทบเป็นลูกโซ่ทำให้กำลังการผลิตหดตัวเพราะไม่สามารถพึ่งการส่งออกได้เหมือนที่ผ่านมา ส่วนที่คาดการณ์ว่าปีหน้าส่งออกจะดีกลับมาเป็นบวกความไม่แน่นอนมีสูงและยังไม่เห็นสัญญาณทางบวก ปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจโลกไม่เอื้อแถมประเด็นแทรกซ้อนจากปัญหาขัดแย้งสหรัฐฯ-จีนเกี่ยวข้องกับการกีดกันทางการค้าในรูปแบบสงครามการค้าโลก กอปรกับการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษแบบไร้ข้อตกลง “No Deal Brexit” ตามมาด้วยการยุบสภาของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แต่การเลือกตั้งยังมีความไม่แน่นอนหากเกิดปัญหาเดทร็อคอาจกระทบเศรษฐกิจของยุโรปและลามมาถึงเศรษฐกิจโลก

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจภาคเอกชนหลายสำนักต่างฟันธงว่าเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมากและปีหน้ามีความเสี่ยงสูงว่าเศรษฐกิจโลกอาจอ่อนแอและมีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะมีผลต่อเนื่องกระทบเป็นลูกโซ่ไปสู่ตลาดแรงงานสะท้อนจากการชะลอการผลิต การปิดโรงงานชั่วคราวไปจนถึงการเลิกกิจการ สถานประกอบการต่างๆ มีการลอยแพพนักงานเป็นข่าวที่ได้พบเห็นถี่มากกว่าหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นที่ควรเป็นห่วงคือกำลังซื้อของประชาชนที่ลดต่ำลงทั้งจากรายได้ค่าจ้างประจำ สภาวะปัญหาภัยแล้ง หนี้สินครัวเรือนที่มีการขยายตัวมากขึ้น หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ต่อเนื่องหรือไม่แก้ปัญหาตรงจุดจะส่งผลต่อการลดกำลังการผลิตซึ่งปัจจุบันตลาดแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในช่วงชะลอการจ้างงานหรือรับคนแถบเท่าที่จำเป็นจะกระทบเป็นลูกโซ่จะทำให้การแก้ปัญหาเพิ่มความยุ่งยากมากขึ้นไปอีกคาดว่า ไตรมาสสุดท้ายการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจลดต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงคือสภาวการณ์เศรษฐกิจที่ต่ำสุดในรอบหลายปี จนรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นระยะๆ ล่าสุดมีโครงการแก้ปัญหาบัณฑิตตกงานซึ่งปีหน้าคาดว่าจะมีจำนวนรวมกัน 5.0 แสนคน ใช้งบประมาณ 8,600 ล้านบาทเพื่อช่วยพยุงจ้างงานชั่วคราว 8-12 เดือนและเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว ปรากฏการณ์สภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลงโรงงานปิดตัวไปจำนวนมากแต่อัตราการว่างงานของไทยเดือนตุลาคมกลับต่ำสุดเหลือเพียงร้อยละ 0.9 เป็นความขัดแย้งและทำให้มีการเคลือบแคลงสงสัยถึงความน่าเชื่อถือว่าตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงข้อเท็จจริงหรือไม่

ความจำเป็นที่อาจต้องมีการทบทวนวิธีการสำรวจและประเมินตัวเลขการว่างงานซึ่งใช้กันมากว่า 20 ปี วิธีการที่ใช้อาจเหมาะสมในช่วงอดีตที่ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่ปัจจุบันเราเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงและกำลังยกระดับไปสู่ประเทศพัฒนา อาจต้องทบทวนวิธีการสำรวจ เช่น การสุ่มตัวอย่าง การกำหนดค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักเพื่อไม่ให้ตัวเลขมีการแปรปรวน การเปลี่ยนนิยามคนว่างงานให้นับรวมบุคคลที่ช่วยกิจการที่บ้านหรือไปช่วยพ่อแม่ในภาคเกษตรกรรมโดยไม่ได้รับค่าจ้างซึ่งเกณฑ์ปัจจุบันถือว่าเป็นคนที่มี งานทำ ตลอดจนอาจปรับนิยามว่าคนที่มีงานทำหมายถึงคนที่ทำงานแค่หนึ่งชั่วโมงในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก็จัดว่าไม่ใช่คนว่างงานซึ่งขัดแย้งกับสภาวการณ์ที่เป็นจริงว่าปุถุชนจะมีชีวิตอยู่ได้แค่ทำงานเพียง 1 ชั่วโมงใน 1 สัปดาห์ ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้เกณฑ์ 15 ชั่วโมงต่อ 1 สัปดาห์จึงจะถือว่าเป็นผู้ที่มีงานทำที่กล่าวนี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่าง

ที่ยกประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจชะลอตัวกับภาวการณ์ว่างงานเพราะเห็นว่าสังคมและสื่อให้ความสนใจในฐานะที่อยู่ในวงการทั้งด้านแรงงานและธุรกิจจริง บอกได้ว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะมีความอ่อนไหวและมีความไม่แน่นอนสูงกว่าปีนี้ ตลาดแรงงานจะประสบภัยป่วน “Disruption” ทั้งจากการลงทุนใหม่ที่จะใช้เทคโนโลยีชั้นสูงไม่ว่าจะเป็นเอไอ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ไอโอที-ออโตเมชั่น ฯลฯ ซึ่งล้วนทำให้การจ้างงานใหม่ลดน้อยลงภัยที่ดิสรัปยังมาจากเศรษฐกิจโลกที่ออกอาการทรุดตัวและคาดว่าจะใช้เวลาพักใหญ่จึงฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกและภาคการผลิตไปถึงเกษตรแปรรูปอยู่ในสภาพทรงตัวไปจนถึงหดตัวซึ่งแน่นอนว่าย่อมกระทบต่อความเสี่ยงทั้งคนที่อยู่ในสถานประกอบการและวัยแรงงานหนุ่มสาวที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)