posttoday

Digital Disruption จุดเริ่มและจุดเปลี่ยน (1)

29 กันยายน 2562

คอลัมน์ DigiTalk

ด้วยความที่ดิฉันคลุกคลีอยู่ในวงการดิจิทัลมาหลายปี ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ยังมีคนนิยมใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ หรือ เทคโนโลยีที่น่าสนใจ ที่โผล่มาแล้วก็หายไปไวยิ่งกว่า 4G แต่ถ้าใครที่สนใจในเรื่องเทคโนโลยีน่าจะเคยได้ยินคำว่า Digital Disruption กันมาบ้างนะคะ คำนี้มีคนพูดถึงกันมาซักพักแล้ว และตอนนี้เหมือนจะมีการพูดถึงกันมากขึ้นทั้งตามสื่อต่างๆ งานอีเวนท์หรือแม้แต่ในวงสนทนา

แต่สำหรับคนที่สนใจเรื่องเทคโนโลยีหรือแค่เคยได้ยินผ่านหูมา วันนี้เรามาทำความรู้จักกับคำนี้กันดีกว่าค่ะ ว่า Digital Disruption คืออะไรและมีที่มาที่ไปอย่างไร

Digital Disruption คือ อะไร

ถ้าจะแปลให้ตรงตัวเลย คือ การหยุดชะงักทางดิจิทัล ซึ่งถ้าแปลตรงตัวตามดิกชันนารีแบบนี้ก็ทำให้งงอยู่เหมือนกัน เลยขอแปลงเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายแล้วกันนะคะ

Digital Disruption หมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาจนถึงจุดที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้น ซึ่งครอบคลุมไปถึง ผลิตภัณฑ์ แพลตฟอร์ม และโมเดลธุรกิจแบบใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบกับมูลค่าของสินค้าและบริการที่มีอยู่แล้วในตลาด ยกตัวอย่างเช่น สมาร์ทโฟน ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นในการทำงานและการใช้งานส่วนตัว

จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงเกิดจากลูกค้าไม่ใช่เทคโนโลยี

เวลาดิฉันอยู่ในวงสนทนากับเพื่อนๆ นอกจากบ่นเรื่องเศรษฐกิจไม่ดีแล้ว สิ่งที่มักจะได้ยินบ่อยๆ คือ เรื่องทำมาหากินที่มีความเกี่ยวเนื่องกับ Digital Disruption เช่น "ช่วงนี้เงียบๆ ลูกค้าไปซื้อผ่านเว็บ/แอป...กันหมด" หรือ "ตั้งแต่แอพ...นี้เป็นที่นิยม ยอดขายฉันตก"

ถ้าหากคิดตามที่คุยกันในวงสนทนาแบบนี้ มันก็ทำให้คิดได้ว่า เทคโนโลยีคือสาเหตุที่ส่งผลกระทบกับยอดขายและธุรกิจจริงๆ แต่ถ้าลองคิดทบทวนในหลายแง่มุม น่าจะสรุปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดจากพฤติกรรมของลูกค้าเองต่างหาก ลูกค้าเองนี่แหละที่เป็นคนตัดสินใจว่าจะใช้สินค้า หรือ บริการที่เกิดจากเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ นี้หรือไม่

เราจะไปโทษเทคโนโลยีหรือสตาร์ทอัพที่นำสินค้าเหล่านี้ออกสู่ตลาดก็เห็นจะไม่ถูกต้องซะทีเดียว

ในวิกฤตยังมีโอกาส

ในทุกวิกฤต ย่อมมีโอกาสเสมอ Digital Disruption นี้ ในมุมมองของคนทำธุรกิจอาจฟังดูน่ากลัว เพราะนวัตกรรมใหม่มาเร็วและส่งผลกระทบต่อธุรกิจของคุณอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ลองคิดในทางกลับกัน จริงๆ แล้ว คุณ ก็คือผู้ใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้อยู่เป็นประจำไม่ใช่หรือคะ

เช่น ต้องการเดินทางไปเที่ยวคุณก็ใช้แอปหาตั๋วเครื่องบินหรือจองที่พัก อยากกินร้านอร่อยๆ แต่อยู่ไกล ก็ใช้ GrabFood อยากกินของขบเคี้ยวแต่ขี้เกียจออกจากบ้านก็เรียก Lineman อยากซื้อของก็ช้อปผ่าน Lazada หรือ Shopee จ่ายเงินออนไลน์ แล้วรอรับสินค้าที่บ้าน บริษัทที่กล่าวมานี้คือ Disruptor ซึ่งสินค้าบริการและโมเดลธุรกิจของเขาช่วยทำให้ชีวิตคุณง่ายขึ้นในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่ทุกอย่างต้องเร่งรีบ

หากคุณลองกลับมาคิดและวิเคราะห์ว่าทำไม เทคโนโลยีเหล่านี้ถึงได้รับความนิยมแม้กระทั่งตัวคุณเองก็ใช้ ก็จะพบว่า มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ชีวิตง่ายขึ้น ดังนั้น หากคุณใช้หลักการทำธุรกิจแบบเดิมๆ คือ เน้นบริหารเอากำไรเป็นหลักเพื่อตอบสนองเจ้าของธุรกิจ ก็อาจจะใช้ไม่ค่อยได้ผลแล้วในยุคนี้

หรือมีเงินทุนสร้างเทคโนโลยีออกมาอย่างเดียวไม่พอ วิสัยทัศน์ก็ต้องมาด้วย เจ้าของธุรกิจต้องทำความเข้าใจและวิเคราะห์ให้ได้ว่าจะตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าอย่างไร เอาความต้องการของลูกค้าของคุณเป็นศูนย์กลางเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาตอบโจทย์และสร้างความแตกต่างจากเจ้าอื่นที่มีอยู่ในท้องตลาด เป็น Disruptor เองซะเลย

แต่หากคุณคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ออก ก็ลองไปเป็นพาร์ทเนอร์ธุรกิจกับ Disruptor เช่น สมัครเข้าร่วมเปิดบ้านให้เช่าผ่าน Airbnb มีร้านอาหาร มีรถ มีมอเตอร์ไซค์ ก็ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ Grab หรือถ้าคุณมีสินค้าหรือบริการอะไรอยู่แล้ว ก็ลองเปิดร้านค้าออนไลน์ใน Shopee ก็ได้ค่ะ

ซึ่งวิธีการนี้ไม่ต้องใช้เงินลงทุนอะไรมากมายเลย เพียงแต่ใช้ทรัพยากรที่คุณมีอยู่แล้ว บวกกับเรายืมเทคโนโลยีของพาร์ทเนอร์มาใช้ (และกลุ่มลูกค้าที่เค้ามีอยู่แล้ว) และยินดีให้ค่าตอบแทนโดยให้หักค่าธรรมเนียมไป แต่เราสามารถต่อยอดธุรกิจเพิ่มรายได้เราได้

โควตาหมดแล้ว เรามาคุยกันตอนต่อไปในครั้งหน้านะคะ ว่าจะฉวยโอกาสจากวิกฤต 'ดิจิทัล ดิสรัปชัน' กันอย่างไร??!!