posttoday

โฆษณาเกินจริงหลอกลวงผู้บริโภค...ต้องปราบจริงจัง

02 กันยายน 2562

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจโลกซบเซากระทบไปถึงการบริโภคของประชาชนอาจชะลอตัวจนไปกระทบเป็นลูกโซ่ถึงภาคการผลิต รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบแพ็กเกจเพื่อให้มีการจับจ่ายใช้สอยถึงแม้ว่าเนื้อในส่วนใหญ่เป็นการให้กู้ผ่านสถาบันการเงินแต่ในยามนี้แบงค์ก็ระมัดระวังเกรงจะเป็นหนี้เสียคงมีส่วนน้อยที่จะเข้าถึงแหล่งเงิน

ซึ่งเงินกระตุ้นเศรษฐกิจแบบประชานิยมงบเฉียดแสนล้านอย่างน้อยก็เป็นการเพิ่มกำลังซื้อและพอแก้ขัดไปได้ระยะหนึ่ง แต่ขอพักเรื่องนี้ไว้ก่อนอยากจะมาแลกเปลี่ยนประเด็นมาตรการเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าของสินค้าหรือการโฆษณาในลักษณะเกินความเป็นจริงจนเกิดความหลงผิด โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ชาวบ้านสตางค์ไม่ค่อยมียังถูกหลอกคงต้องมาดูกันจริงจัง

เหตุที่ต้องนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว พรบ.คุ้มครองผู้บริโภคพ.ศ 2562 มีผลบังคับใช้ สาระสำคัญ คือ การเพิ่มบทปรับเจ้าของสินค้าหรือผู้โฆษณาที่เอาเปรียบ เช่น การโฆษณาเกินความจริง สินค้ามีคุณภาพหรือสรรพคุณไม่ตรงกับที่โฆษณาหรือระบุไว้ในฉลากรวมถึงธุรกิจขายออนไลน์ที่รับเงินไปแล้วแต่ส่งของไม่ตรงกับที่โฆษณาในเว็บหรือจำนวนไม่ครบ

ค่าปรับใหม่เพิ่มจากเดิมเท่าตัวเป็นหนึ่งแสนบาท ที่สำคัญให้สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ.มีอำนาจส่งฟ้องได้โดยไม่ต้องมีโจทย์หรือผู้เสียหายมากล่าวหา ส่วนกรณีโฆษณาเกินความเป็นจริงซึ่งปัจจุบันเห็นได้มากมายทั้งโทรทัศน์ สื่อโซเซียลมีเดีย เว็บไซต์ มัลติมีเดียต่างๆ พวกนี้แทรกเข้าไปหมดทั้งๆ ที่มีพรบ.คอมพิวเตอร์ก็ยังไม่เห็นเอาผิด

การโฆษณาที่ใช้สื่อต่างๆ ที่หน่วยงานรัฐต้องเร่งเข้าไปตรวจสอบ เช่น เห็ดหลินจือ หรือ เห็ดถั่งเช่าที่อ้างสรรพคุณในหนึ่งเม็ดสามารถรักษาและป้องกันได้สารพัดโรคทั้งเบาหวาน มะเร็ง โรคสมองเสื่อม ภูมิแพ้ ตลอดจนยาหรือสมุนไพรลดน้ำหนัก ครีมที่ทาแล้วหน้าเด้งทันทียังไม่รวมสินค้าอื่น ๆ ทั้งอุปโภคบริโภค

การเอาผิดพวกนี้ค่อนข้างยากเพราะเลี่ยงบาลีนำเข้าหรือผลิตในประเทศแต่สำแดงเป็นลักษณะอาหารเสริมเพื่อหลีกเลี่ยงอย.มีข้อความเล็กมากๆ ต้องใช้กล้องส่องจึงพบว่า "ไม่มีผลในการรักษาโรค" ควรจะมีกฎหมายบังคับให้เขียนข้อความตัวโต ๆ และระบุสรรพคุณว่าเป็นอาหารเสริมหากโฆษณาต่างออกไปปรับให้หนักและควรมีโทษทางอาญาทั้งกับเจ้าของสินค้าและพรีเซ็นเตอร์

ผมเป็นคนหนึ่งที่เห็นด้วยกับกฎหมายของสคบ.ฉบับนี้เพราะเบื่อโฆษณาน้ำเน่าเหล่านี้ที่มีการโมเมเอาพรีเซ็นเตอร์ประเภทไม่รับผิดชอบออกมารีวิวโฆษณาเป็นตุเป็นตะ ผู้บริโภคที่รู้ไม่ทันเห็นผู้โฆษณาน่าเชื่อถือหรือเป็นดาราก็หลงซื้อ หากเป็นกฎหมายเก่าการฟ้องเอาผิดต้องมีการพิสูจน์ว่าสรรพคุณตรงกับที่โฆษณาหรือไม่ซึ่งต้องใช้เวลานาน

แต่พรบ.ใหม่ไม่ต้องมีการพิสูจน์แค่สงสัยว่าโฆษณาเกินความเป็นจริงแค่นี้สคบ.สามารถเข้าไประงับแก้ไขโฆษณาได้โดยไม่ต้องรอให้มีการดำเนินคดีทางศาลแค่สันนิษฐานว่าเอาเปรียบผู้บริโภคก็ระงับโฆษณาได้

การโฆษณาเกินจริงถือเป็นการหลอกลวงประชาชนแต่ละปีคงมูลค่าเป็นหลักพันล้าน การที่คุณเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งดูแลกำกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคออกมาเปิดประเด็นตรงนี้มาถูกทาง เพราะประชาชนได้รับความเสียหายถูกหลอกโดยไม่รู้ตัวต้องเสียเงินแพงๆ ไปซื้อสินค้าที่คิดว่าสามารถรักษาหรือป้องกันสารพัดโรคได้

ทั้งอาหารเสริมและครีมรวมถึงวิตามินต่าง ๆ ยังไม่รู้ว่ามีสารอะไรเพราะไม่ได้ผ่านอย.จะเป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาวหรือมีผลข้างเคียงตรงนี้เป็นความเสี่ยงยังไม่รวมสินค้าอื่นๆ ที่โฆษณาแบบไม่รับผิดชอบ

ที่กล่าวนี้เป็นเพียงบางส่วนที่ผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครองจากพรบ.ฉบับใหม่ แต่กฎหมายมีแล้วขอให้เอาจริง-ปรับจริง หากสคบ.รู้แล้วไม่ดำเนินการคงต้องฟ้องเอาผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกฎหมายระบุว่าประชาชนหากรวมตัวกันได้ 100 คนสามารถไปจดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคทำหน้าที่ฟ้องทางคดีเอาผิดกับผู้ประกอบการซึ่งโฆษณาเกินจริงหรือเอาเปรียบผู้บริโภคทราบว่ามีมากกว่า 500 องค์กรอยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้ง

ต้องไปดูเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่เพราะจำนวนมากเช่นนี้จะดูแลกันอย่างไรไม่ใช่ฟ้องกันแบบไม่มีเหตุมีผลหรือไปในทางขู่เข็ญผู้ประกอบการคงต้องเป็นธรรมทั้งกับเจ้าของสินค้าและผู้บริโภค

พรบ.คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่เป็นความหวังของประชาชนว่าจะได้รับการคุ้มครองนอกจากพวกโฆษณาเกินจริงและการเอารัดเอาเปรียบหรือหลอกลวงต้องไปดูสินค้าที่ลดราคามาก ๆ มีการแถมโน่นแถมนี่คงต้องไปตรวจสอบว่าที่ขายลดราคาซื้อ 1 แถม 2 ปกติและมีของพ่วงอีก ต้องตรวจสอบว่าต้นทุนจริง ๆ เท่าใดและปกติขายจริงเท่าใดที่มาโฆษณาลดราคามากๆ เป็นการหลอกลวงคนซื้อหรือไม่

แค่ไปดูอินวอยซ์ราคาย้อนหลังหรือใบกำกับภาษีหากเป็นการนำเข้าก็สามารถดูได้จากศุลกากร สินค้าพวกนี้นำเข้าถูกๆ จากจีนหรือเกาหลี บางครั้งต้นทุนไม่ถึง 500 บาทไปโฆษณาว่าปกติขาย 5,000 บาทแล้วมาลดราคาบวกของแถมเป็นการหลอกลวงเท่านี้ก็เอาผิดได้

งานนี้เพียงแต่ขอให้ทำกันจริงจังปรับให้เข็ดใช้หลักเห็นโฆษณาทางทีวี 1 ครั้งเป็นการทำผิดหนึ่งกรรมปรับต่อครั้งแสนบาท ดูสิว่าจะยังมีโฆษณาน้ำเน่าหรือพรีเซ็นเตอร์ดัง ๆ ยังจะกล้ารับเงินโฆษณาหรือไม่

ที่กล่าวมานี้ไม่ได้ไปเหมาว่าผู้ประกอบการหรือพรีเซ็นเตอร์ทุกคนไม่ดีพวกที่ดีก็มีเยอะ โฆษณาตามจริงขายตามราคาจะ “SALE” ก็ลดจริง ๆ ต้องแยกแยะธุรกิจที่ดีออกจากพวกที่ตั้งใจเพื่อหลอกลวงคนซื้อ งานนี้ท่านรัฐมนตรีเทวัญ ลิปตพัลลภ มาถูกทางจับเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไฮไลท์ได้ใจประชาชนเป็นผลงานแน่นอน

ส่วนกระทรวงพาณิชย์รองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์ฯ มัวแต่ยุ่งกับประกันราคายางและปาล์มน้ำมันเพราะหาเสียงกับคนใต้ไว้มาก หากไม่มีเวลาก็สั่งให้กรมการค้าภายในไปดูบ้าง...จริงไหมครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)