posttoday

สารพัดปัญหารอรัฐบาลลุงตู่เข้ามาแก้

29 กรกฎาคม 2562

โดย...ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

โดย...ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

จบไปแล้วการอภิปรายชำแหละนโยบายรัฐบาลของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ทั้งระยะเร่งด่วนและนโยบายหลักที่นำเสนอต่อรัฐสภาแต่ไฮไลท์คือการอภิปรายคุณสมบัติของทั้งตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีแบบหมายหัวเล่นเป็นรายตัวไล่เรียงเป็นลูกระนาดตั้งแต่หัวขบวนอดีตแกนนำคสช. ไปจนถึงกลุ่มที่มีข้อครหา คาใจบางคนเป็นรัฐมนตรีสีเทาไปจนถึงกลุ่มที่ถือหุ้นสื่อ ฝ่ายค้านทำได้แค่พูดให้สะใจเพราะไม่มีการลงมติเป็นการสตาร์ทอัพครม.ประยุทธ์ 2 ให้ก้าวผ่านจากรัฐบาลปฏิวัติมาสู่ระบอบประชาธิปไตยจะเรียกว่าครึ่งใบหรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ที่สุดประเทศต่าง ๆ ยอมรับว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้งเริ่มจากพี่ใหญ่อย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศรับรองและอียูคงตามมา

รัฐบาลจากนี้ไปเดินหน้าทำงานไม่มีเวลาฮันนีมูนเพราะฝ่ายค้านมีจำนวนส.ส.ใกล้เคียงกันแถมเต็มไปด้วยส.ส.ฝีปากระดับพระกาฬ มีประสบการณ์รู้ไส้ในมาก่อนทำให้มีข้อมูลเชิงลึกเพียบ อีกทั้งรัฐมนตรีหลายคนล้วนมีแผลทั้งตกสะเก็ดและเอาพาสเตอร์ปิดไว้ทำให้มีช่องโหว่จองหาเรื่องรายวัน รอบนี้มีส.ส.อินเทิร์นฝึกงานใหม่ค้านเป็นบ้าง ไม่เป็นบ้าง ดูให้สนุกเอามันส์อย่าไปคาดหวังอะไรมากเพราะมาจากคะแนนปาร์ตี้ลิสต์แบบปัดเศษหรือติดโผลเรทติ้งคุณธนาธรฯเข้ามาในสภา แต่ที่แน่ ๆ ทีมงานรัฐบาลที่มีการปรามาสว่าเป็น รัฐบาลเป็ดง่อยหรือ “ครม.ไททานิค” ที่ออกทะเลรอบแรกยังไม่ถึงฝังก็จมแล้ว ทีมงานรัฐบาลซึ่งคุยว่าจะอยู่ครบ 4 ปีคงต้องทำการบ้านหนักที่สำคัญอย่าทะเลาะกันเอง

สำหรับประชาชนรัฐบาลปริ่มน้ำเป็นข้อดีเขาไม่ฮั้ว ไม่ออมมือ จ้องเสียบอย่างเดียวทำให้การตรวจสอบการทำงานจะเข้มข้นแต่อย่าเล่นเกมส์มากจนเกินพอดีบ้านเมืองจะเสียหาย ฝ่ายค้านและนักวิชาการบางกลุ่มเสนอว่าเรื่องเร่งด่วนคือการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ขณะซีกรัฐบาลบอกว่าประเด็นเร่งด่วนคือต้องแก้ปัญหาปากท้องและฟื้นเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงหดตัว ประเด็นนี้ฝากไปถึงนักวิชาการซึ่งส่วนใหญ่จากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์เทน้ำหนักไปในทางแก้รัฐธรรมนูญต้องมาก่อน นักวิชาการบางคนดักคอไว้ก่อนว่าอย่ามาอ้างเรื่องปากท้องหรือเศรษฐกิจแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจ บางก็ให้รีบแก้รัฐธรรมนูญให้เสร็จโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญดี การเมืองก็จะดีและเศรษฐกิจก็จะดีไปเองไม่ต้องไปเร่งแก้ ฟังส.ส.และนักวิชาการพวกนี้แล้วเศร้าทำไมคิดได้เท่านี้แล้ว จะเป็นผู้แทนราษฎร์หรือเป็นอาจารย์สอนให้เด็กไปเป็นอนาคตของชาติได้อย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญจะเขียนดีแค่ไหนถ้าแก้ปัญหาซื้อสิทธิ์ขายเสียงไม่ได้ผู้แทนที่เข้าสภาก็จะเป็นพวกน้ำเน่าหรือพวกอิทธิพลท้องถิ่น

หากถามว่าควรจะเริ่มจากอะไรก่อนเห็นว่าก็ทำพร้อมไปทั้งสองเรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็ให้ตั้งกรรมธิการไปดำเนินการ กำหนดระยะเวลาให้ชัดไม่ใช่บอกว่าแก้เดือนเดียวเสร็จโดยไปเอารัฐธรรมนูญเก่ามาทั้งดุ้น ทนกันมาถึงขั้นนี้รอหน่อยคงไม่เป็นไร การแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะต้องอาศัย 375 เสียงและผ่านประชาชนเห็นด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับปากท้องชาวบ้านกำลังเดือดร้อนชาวบ้านไม่มีสตางค์แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการไปกู้หนี้ยืมสินแถมปีนี้ภัยแล้งหนักจะยิ่งซ้ำเต็มความยากจน ขณะที่ธุรกิจทั้งรายเล็กรายใหญ่กำลังซบเซา

กำลังซื้อต่างจังหวัดเงียบสนิทขนาดร้านตัดผมคนยังหายรอให้ผมยาวจริง ๆ หรือจะไปงานเลี้ยงจึงค่อยเข้าร้าน ขนาดร้านเสริมสวยความงามต่าง ๆ ประเภทดึงจมูกฉีดโบท็อกซ์ลูกค้าสาวน้อยสาวใหญ่ยังลดหาย แม้แต่พระสงฆ์ในต่างจังหวัดยังได้รับผลกระทบคุยกับเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งเล่าให้ฟังว่าคนใส่บาตรไม่พอฉัน เงินติดกัณฑ์เทศน์เหลือไม่ถึงร้อยบาท แต่วัดดังในกทม.เศรษฐกิจไม่ดียิ่งไปทำบุญขอหวยให้รวยเพราะทำมาหากินขยันอย่างเดียวไม่พอต้องให้เทวดาช่วย บอกได้เลยว่าบิ๊กตู่รอบ 2 ไม่หมู เพราะไม่มีมาตรา 44 เป็นเหมือนดาบอาญาสิทธิ์และไม่มีสนช.คอยเป็นแบ็กแม้แต่ครม.ก็มีหลายก๊กไม่เป็นเอกภาพ

ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจจะกลายเป็นเรื่องชี้ความอยู่รอดของรัฐบาลปัญหาที่รอเผชิญหน้าคือภัยแล้งที่หนักสุดในรอบ 20 ปีเขื่อนใหญ่ ๆ น้ำลดลงอย่างน่าวิตก หากเทวดาไม่ช่วยฝนไม่มาจะทำให้ภัยแล้งขยายวงออกไปคนจะยิ่งจนกำลังซื้อจะยิ่งหดตัวส่วนด้านการส่งออกเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงขาลงทำให้เงินตึงตัวที่เห็นชัดเจนนักท่องเที่ยวหายไปเฉพาะที่ภูเก็ตเห็นว่าหายไปถึงครึ่งหนึ่งอย่าไปโทษว่าบาทแข็งค่า แต่เกี่ยวกับเงินในกระเป๋าไม่มีจะให้มาเที่ยวได้อย่างไร ที่จะไปพึ่งส่งออกคงไม่ใช่เพราะทุกประเทศล้วนเจอวิกฤตส่งออกเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาประเทศสิงคโปร์หดตัวร้อยละ 17, อินโดนิเชียติดลบร้อยละ 8.9, เกาหลีใต้ติดลบร้อยละ 13.5, ญี่ปุ่นครึ่งปีแรกส่งออกหดตัวร้อยละ 4.7 ดูจากหลายประเทศแล้วไทยจะเหลืออะไร

ช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนซึ่งไม่บ่อยนักที่จะเจอหลายปัญหาประดังเข้ามาพร้อมกัน ทั้งกำลังซื้อในประเทศที่ทรุดตัว ปัญหาภัยแล้ง ท่องเที่ยวที่เป็นพระเอกอาจพึ่งไม่ได้ส่วนด้านการส่งออกติดลบแน่นอน เศรษฐกิจโลกมีความอ่อนไหวจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อและวิกฤตในอ่าวเปอร์เซียที่จะมีผลต่อราคาน้ำมัน ขณะที่การเมืองไทยมีความอ่อนไหวทั้งจากในรัฐสภาและนอกสภา รัฐบาลปัญหาจะมาจากเนื้อใน ด้านความปรองดองความวุ่นวายในประเทศเริ่มมีสัญญาณคุกรุ่น ในโซเชียลออนไลน์ความเห็นแตกแยกที่ปะทุมาจากหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่งไปเล่นเกมส์นอกสภาด้วยการไปดึงต่างชาติเข้ามาร่วมวงถล่มประเทศตัวเอง...บอกได้เลยว่าเหนื่อยครับประเทศไทย

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )