posttoday

แนวโน้มลงทุนหุ่นยนต์รุ่ง บีโอไอเร่งส่งเสริมผู้ผลิต-ผู้ใช้

16 พฤษภาคม 2562

ซึ่งเป็นหนึ่งใน อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) และมีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการของประเทศ

 

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ถือเป็นอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ซึ่งเป็นหนึ่งใน อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) และมีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการของประเทศ

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียถือว่ามีอัตราการเติบโตสูงสุดในโลก จากข้อมูลของ International Federation of Robotics (IFR) พบว่า ปี 2561 ยอดขายหุ่นยนต์ทั่วโลก มีประมาณ 415,700 ยูนิต ขยายตัว 10% เมื่อเทียบกับปี 2560 ภูมิภาคเอเชีย มีอัตราการขยายตัว 14% สูงกว่ายุโรปที่ขยายตัว 7% ขณะที่ในอเมริกา อุตสาหกรรมโดยรวมลดลง 4%

สำหรับประเทศไทย ในปี 2561 มีปริมาณการจัดส่งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้กับภาคอุตสาหกรรม ประมาณ 4,000 ยูนิต เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับปี 2560 และคาดว่าในปี 2562 จะเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ยูนิต โดย IFR ประมาณการว่าในปี 2562 - 2564 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศไทยจะขยายตัว 21%

ด้านสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) คาดการณ์ว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรมของไทย จะมีมูลค่าราว 4 - 5 แสนล้านบาท และจะก่อให้เกิดการลงทุนในประเทศไม่ต่ำกว่า 2 - 3 หมื่นล้านบาท  โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดให้บริการ 5จี จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรม หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ช่วยทดแทนการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรมจากต่างประเทศ

แนวโน้มลงทุนหุ่นยนต์รุ่ง บีโอไอเร่งส่งเสริมผู้ผลิต-ผู้ใช้

จากแนวโน้มดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มุ่งให้ความสำคัญกับกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องจักร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ทั้งกลุ่มผู้ผลิต (Supply Side) และกลุ่มผู้ใช้ (Demand Side) สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้มีความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้มากขึ้นก่อน (Demand) เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Supply) ตามมา นำมาสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติทั้งระบบ                                               

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการกลุ่ม A ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ในระดับสูง คือ จะได้รับสิทธิและประโยชน์ด้านการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 - 8 ปี ด้านการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ และสิทธิและประโยชน์ที่มิใช่ภาษีอากร และหากโครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) จะได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมอีกด้วย

สำหรับผู้ประกอบกิจการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จะสามารถขอรับการส่งเสริมได้ในประเภทกิจการ ดังนี้

กิจการ 4.5.1 ผลิตเครื่องจักร และ/หรืออุปกรณ์อัตโนมัติ ที่มีการออกแบบทางวิศวกรรม

กิจการ 4.5.2 ผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ชิ้นส่วน และ/หรือ การซ่อมแซมแม่พิมพ์

กิจการ 4.5.4 ประกอบหุ่นยนต์ หรืออุปกรณ์อัตโนมัติ และ/หรือ ชิ้นส่วน

นอกจากนี้ บีโอไอยังมีมาตรการพิเศษเพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมนำหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในโรงงาน ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ผู้ได้รับการส่งเสริมสามารถนำเงินลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพดังกล่าว มาลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้มากที่สุด คือ อุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์

รวมทั้งกิจการที่เป็นหัวใจหลักของอุตสาหกรรมนี้คือกลุ่มผู้ออกแบบและพัฒนาระบบผลิตอัตโนมัติ (System Integrator: SI) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ ประกอบ และติดตั้งระบบอัตโนมัติพร้อมระบบซอฟต์แวร์ ตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม (Made to Order) ซึ่ง SI เป็นกลไกขับเคลื่อนหลักของอุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ก็ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอเช่นกัน โดยได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี

ในปี 2561 มีการยื่นขอรับการส่งเสริมในกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จำนวน 58 โครงการ มีมูลค่าทั้งสิ้น 7,687 ล้านบาท

ขณะที่ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 จนถึงปี 2561 มีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมตามมาตรการนี้แล้ว จำนวน 68 โครงการ เงินลงทุนรวมประมาณ 19,195 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการที่จะปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันอีกด้วย

ผู้สนใจสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ ได้จนถึงเดือนธันวาคม 2563 ส่วนกลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สามารถยื่นขอรับการส่งเสริมได้ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด

แนวโน้มลงทุนหุ่นยนต์รุ่ง บีโอไอเร่งส่งเสริมผู้ผลิต-ผู้ใช้