posttoday

ห่วงสเปก "ถนนยางพารา" เอื้อนายทุน

03 ธันวาคม 2561

เกษตรฯ ดักคอคมนาคมออกสเปกถนนยาง 9 หมื่นล้าน อย่าเอื้อนายทุน “กฤษฎา” เตรียมแจง ครม.อังคารนี้ เผย 4 มาตรการ กนย.ใช้ยางเพิ่ม

เกษตรฯ ดักคอคมนาคมออกสเปกถนนยาง 9 หมื่นล้าน อย่าเอื้อนายทุน “กฤษฎา” เตรียมแจง ครม.อังคารนี้ เผย 4 มาตรการ กนย.ใช้ยางเพิ่ม

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หารือกับกระทรวงคมนาคม เพื่อกำหนดสเปกการทำถนนยางพาราเพื่อช่วยใช้ยางในประเทศ โดยกระทรวงคมนาคมระบุว่า มีเอกชนที่ทำแอสฟัลติก 9 ราย และต้องส่งมาผลิตที่ กทม.หรือปริมณฑลเพื่อกระจาย ซึ่ง รมว.เกษตรฯ ไม่เห็นด้วยเพราะต้องการให้ใช้น้ำยางดิบจากเกษตรกรในพื้นที่ การทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์จะดีกว่า ซึ่งทางกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทจะไปหารือและออกแบบให้ตรงความต้องการ

นายกฤษฎา กล่าวว่า เตรียมชี้แจงที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในอังคารที่ 4 ธ.ค. 2561 นี้ เพื่อแจ้งผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ถึง 4 มาตรการ เพื่อขับเคลื่อนโครงการตามที่ ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2561 และหากทำเต็มรูปแบบจะใช้น้ำยางพาราประมาณ 1.4 ล้านตัน ใช้งบประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยประมาณ 9 หมื่นล้านบาท เป็นงบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(อปท.)

ขณะเดียวกัน ในสัปดาห์หน้าจะเชิญบริษัทล้อยางทั้งในและต่างประเทศ มาหารือประเด็นการเพิ่มปริมาณรับซื้อยางพาราจากเกษตรกร ซึ่งต้องขอรับการช่วยเหลือและสนับสนุนอะไรจากรัฐบาลบ้าง โดยรัฐจะมีโครงการช็อปยางล้อช่วยชาติออกมา

สำหรับ 4 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรชาวสวนยาง ให้ความช่วยเหลือไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ 2.โครงการถนนยางพารารา 1 หมู่บ้าน 1 กม. โดยให้ อปท.นำน้ำยางพาราไปสร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ 7.5 หมื่นหมู่บ้าน วงเงินรวม 9.23 หมื่นล้านบาท 3.โครงการรักษาเสถียรภาพราคา โดยให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเป็นแหล่งรับซื้อยางพาราและจำหน่ายยางพาราเพื่อส่งออก และ 4.ลดพื้นที่ปลูกยางพาราเพื่อปลูกพืชอื่นทดแทน n