posttoday

ถกแก้ปมท้องถิ่นใช้ยางอืด

13 กุมภาพันธ์ 2561

"กฤษฎา" หารือมหาดไทย เร่ง อปท.ซื้อสต๊อกยาง 8 หมื่นตันทำถนน หลังการใช้ยางหน่วยงานรัฐทำได้แค่ 3,200 ตันเท่านั้น

"กฤษฎา" หารือมหาดไทย เร่ง อปท.ซื้อสต๊อกยาง 8 หมื่นตันทำถนน หลังการใช้ยางหน่วยงานรัฐทำได้แค่ 3,200 ตันเท่านั้น

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) เข้าพบว่า กระทรวงเตรียมหารือกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อสอบถามความคืบหน้าการซื้อยางพารามาใช้ในหน่วยงานของรัฐปริมาณ 2 แสนตัน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ได้สั่งการเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เนื่องจากสต๊อกยางในประเทศมีปริมาณมาก ล่าสุดหน่วยงานรัฐมีการซื้อเพื่อนำไปใช้ได้แค่ 3,200 ตันเท่านั้น โดยตามแผนกระทรวงมหาดไทยจะเป็นหน่วยงานที่ใช้ยางมากสุดประมาณ 8 หมื่นตัน เพื่อนำไปทำถนน

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้รับทราบความล่าช้ามาจากการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องไปปรับแก้รายละเอียดโครงการ (สเปก) จากเดิมจะเป็นถนนซีเมนต์ หรือแอสฟัลต์ เปลี่ยนมาใช้เป็นยางพาราทำให้อาจติดขัดจึงล่าช้า และต้องใช้เวลาในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งทั้งหมดคาดว่ากระทรวงมหาดไทยจะประชุมใน 12 ก.พ. เพื่อให้ อปท.สามารถดำเนินการเริ่มซื้อยางได้ประมาณเดือน มี.ค.เป็นต้นไป

สำหรับการหารือกับ สยยท. โดยทาง สยยท.ไม่เห็นด้วยกับการที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะว่าจ้างเอกชนมาดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง (เงินเซส) แทน กยท. ซึ่งเป็นความเห็นที่สอดคล้องกับตน จึงได้สั่งการให้ กยท.ไปจัดทำรายละเอียดเพื่อพิจารณาว่า กยท.มีศักยภาพในการแก้จุดอ่อนในระบบปัจจุบันก่อนได้หรือไม่

"เพิ่งทราบว่า กยท.มีโรงงานทำยางแผ่นถึง 6 โรงงาน ในภาคใต้ 3 โรง ภาคอีสาน 3 โรง ดังนั้น กยท.ควรเข้าไปซื้อน้ำยางจากเกษตรกรมาแปรรูปแล้วส่งขาย จะช่วยดูดซับปริมาณยางในตลาดได้ โดยจะเรียกผู้ว่าการการยางฯ มาถามว่า มีโรงทำยางแผ่นตั้งหลายแห่ง ทำไมจึงไม่ใช้ประโยชน์ รวมทั้ง พ.ร.บ.การยาง ได้ระบุให้มีหน่วยธุรกิจ ซึ่งจะให้ผู้ว่าการการยางฯ ไปดูว่าตั้งเป็นบริษัทลูกในการซื้อขายยางในประเทศและส่งออกได้หรือไม่" นายกฤษฎา กล่าว

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในสัปดาห์หน้าราคายางน่าจะขยับตัวสูงขึ้น จากปกติที่ราคายางขณะนี้ประมาณ 47-48 บาท/กิโลกรัม (กก.) โดยราคายางจะปรับขึ้นหลังเทศกาลตรุษจีน เพราะสต๊อกยางของจีนลดลงจากที่ 3 ประเทศลดการส่งออกยาง รวมทั้งจะเร่งรัดการใช้ยางจากหน่วยงานรัฐ ที่ต้องส่งยอดความต้องการใช้เข้ามาภายในเดือน ก.พ.นี้

นายธีระชัย แสนแก้ว แกนนำสถาบัน สยยท. กล่าวว่า ปริมาณผลผลิตยางลดลงทั้งจากอุทกภัยภาคใต้ การปิดกรีดยางในสวนยางของรัฐ 1 แสนไร่ และราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่ทำไมราคายางจึงยังไม่ขึ้น จึงอยากฝากเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องแก้ไข รวมทั้งขอให้ใช้สต๊อกยางรัฐกว่าแสนตันยกให้กองทัพไปทำประโยชน์ เช่น ทำล้อรถ เป็นต้น