posttoday

เคาะรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่ ลุ้นเปิดประมูลปี62ค่าตั๋ว1,088บาท

15 ธันวาคม 2560

เคาะค่าตั๋วรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่ 1,089 บาท เร่งทีโออาร์ปีหน้าก่อนเปิดประมูลปี62 เล็งดึงเอกชนร่วมทุนพีพีพีสร้างเฟสแรก 2.8 แสนล้าน พร้อมเผยซื้อสินค้าจากญี่ปุ่นด้วยความสบายใจ

เคาะค่าตั๋วรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่ 1,089 บาท เร่งทีโออาร์ปีหน้าก่อนเปิดประมูลปี62 เล็งดึงเอกชนร่วมทุนพีพีพีสร้างเฟสแรก 2.8 แสนล้าน พร้อมเผยซื้อสินค้าจากญี่ปุ่นด้วยความสบายใจ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่าความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 673 กม. วงเงิน 4.2 แสนล้านบาท ขณะนี้ญี่ปุ่นได้สรุปรายงานผลการศึกษาระยะที่ 1 กรุงเทพ-พิษณุโลก เสร็จเรียบร้อยแล้ว ระยะทาง 418 กม. มูลค่าการลงทุน 2.8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนเกี่ยวกับงานโยธา อาณัติสัญญาณ ระบบรถ และการบำรุงรักษา หลังจากนี้จะเร่งสรุปแนวทางดำเนินโครงการที่ชัดเจนก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ภายในเดือน ก.พ. 2561

นายอาคมกล่าวต่อว่า หากครม.อนุมัติผลการศึกษาได้จะส่งให้ฝ่ายญี่ปุ่นออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างเพื่อแบ่งสัญญาออกเป็นตอนไป ก่อนดำเนินการร่างเอกสารประกวดราคา(ทีโออาร์)แล้วส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2561 ก่อนทยอยเปิดประมูลโครงการบางช่วงในส่วนของเฟส1 กรุงเทพ-พิษณุโลก วงเงิน 2.8 แสนล้านบาทในปีต่อไปหรือปี 2562 เนื่องจากเส้นทางเฟส 1 นั้นผ่านการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)เรียบร้อยแล้วสามารถเดินหน้าได้เลย

อย่างไรก็ตามด้านค่าโดยสารนั้นได้กำหนดค่าแรกเข้าไว้ที่ 80 บาทและคิดค่าเดินทางกิโลเมตรละ 1.5 บาท ส่งผลให้ค่าโดยสารช่วงเฟส1 กรุงเทพ-พิษณุโลก ระยะทาง 418 กิโลเมตรนั้นจะมีค่าโดยสารราว 707 บาท ขณะที่ค่าโดยสารตลอดสายช่วงกรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะทาง 673 กม. จะอยู่ที่ราว 1,089 บาท

"รู้สึกยินดีที่โครงการนี้เริ่มมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งญี่ปุ่นได้ออกแบบโครงการมาอย่างดีและรอบคอบตามแบบฉบับของชาติเขา ดังนั้นจึงมองว่าสินค้าจากญี่ปุ่นนั้นซื้อได้ด้วยความสบายใจ"

ทั้งนี้รูปแบบการลงทุนนั้นญี่ปุ่นมีข้อเสนอว่าควรเป็นโครงการที่รัฐบาลเป็นผู้ลงทุน แต่ทางไทยก็เสนอเป็นทางเลือกว่าน่าจะเป็นลักษณะของการร่วมลงทุนพีพีพีระหว่างรัฐบาลไทยและเอกชนไทย

นายอาคมกล่าวอีกว่าส่วนด้านรูปแบบการก่อสร้างนั้นจะทยอยสร้างเป็นช่วงพร้อมดำเนินการจัดซื้อตัวรถเพื่อเร่งรัดให้โครงการเกิดขึ้นได้เร็วและทยอยเปิดให้บริการประชาชนก่อนเป็นช่วงไปอาทิสถานที่1บางซื่อ-สถานีที่2 ดอนเมือง –สถานีที่ 3 อยุธยา ระยะทางประมาณ 100 กม. จากนั้นจึงค่อนดำเนินการออกแบบและก่อสร้างสถานีที่ 4 ลพบุรี- สถานีที่ 5 นครสวรรค์และสถานีที่ 6 พิษณุโลก ตามลำดับ