posttoday

ลุยแผนแก้รถติดเมือง

14 ธันวาคม 2560

สนข.เร่งจัดทำแผนแก้ปัญหาการจราจร "ไพรินทร์" แนะ เดินหน้าจัดทำยุทธศาสตร์ระยะ12ปี ออกแบบระบบขนส่งตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

สนข.เร่งจัดทำแผนแก้ปัญหาการจราจร "ไพรินทร์" แนะ เดินหน้าจัดทำยุทธศาสตร์ระยะ12ปี ออกแบบระบบขนส่งตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยในงานสัมมนาโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทบูรณาการพัฒนาระบบการจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (2560-2572) ว่าการวางแผนระบบขนส่งต้องให้สอดคล้องกับรสนิยมความต้องการของผู้บริโภคในการเดินทางและการใช้ชีวิตกับคนรุ่นใหม่ โดยในอนาคตรถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์แบบสตาร์ทจะเริ่มเปลี่ยน และเชื่อว่ากลายเป็นรถยนต์ที่ขับด้วยมือ

ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีประชากรไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ดังนั้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต้องมองในระยะยาว 12 ปี จึงทำให้เห็นรูปแบบการคมนาคมของไทยเปลี่ยนไปมีระบบรางมากขึ้น โดยต้นปี 2561 การใช้รถยนต์จะลดลง เมื่อมีระบบรางเข้ามาช่วยดึงดูดให้คนต่างจังหวัดเข้ามา รวมทั้งเด็กรุ่นใหม่ให้ถูกสอนใช้ชีวิตในเมือง ไม่ใช่ให้ทำเกษตรกรรม เกิดการเดินทางเคลื่อนที่แบบไร้รอยต่อ เดินทางระบบสาธารณะระบบหนึ่งลงไปต่อระบบหนึ่งได้ทันทีเน้นประหยัด

ด้านแนวคิดที่ไม่นำรถยนต์เข้ามาวิ่งในเมือง เพื่อแก้ปัญหาจราจรในเขตเมือง แล้วให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนนั้น ขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากไทยมีข้อจำกัดหลายด้าน โดยมองว่าต้นปี 2561 มีรถไฟฟ้าเกิดขึ้นหลายสาย ทำให้พฤติกรรมการเดินทางเปลี่ยน คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการใช้รถหรูคันละ 10 ล้านบาท คนรุ่นใหม่ต้องการรถที่ใช้ง่าย สะดวก และประหยัดในการเดินทาง ทำให้ปัญหาเปลี่ยนไปอีกแบบไม่เหมือนปัญหาในปัจจุบัน

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวถึงการจัดทำแผนแม่บทแก้ปัญหาจราจรว่า ในเดือน เม.ย. 2561 จะจัดทำแผนเสร็จสมบูรณ์เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ซึ่งผลการศึกษาจะทำให้รู้ถึงจุดแข็งจุดอ่อนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และสามารถเสนอแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมจัดทำเป็นแผนแม่บทที่มีแผนงานโครงการในภาพรวมที่ชัดเจน เช่น การเสนอก่อสร้างเส้นทางถนนสายใหม่ที่ควรเพิ่มขึ้น การจัดทำทางลอดหรือทางยกระดับในแยกที่สำคัญ เป็นต้น

นายสุรพงษ์ เมี้ยนมิตร รักษาการ ผู้อำนวยการกองจัดระบบการจราจรทางบก สนข. กล่าวว่า ปัญหาจราจรที่พบคือกรุงเทพฯ ยังมีถนนรองเชื่อมต่อถนนสายหลักในเมืองน้อยเกินไปจนทำให้เกิดการ กระจุกตัวของจราจรแตกต่างกับเมืองหลวงอื่นๆ ในโลกที่มีถนนสายรองมากกว่าสองเท่า ขณะเดียวกันยังประสบปัญหาระบบขนส่งที่ไม่ครอบคลุมกับขนาดของเมืองด้วย