posttoday

ดีเดย์ซื้อขายไฟฟ้า3ประเทศ นำร่อง100เมกะวัตต์ เริ่ม1ม.ค.61

28 กันยายน 2560

วงถก รมว.พลังงานอาเซียน เดินหน้าโครงการซื้อขายไฟฟ้าไทย-ลาว-มาเลเซีย เชื่อมโยงระบบสายส่ง พร้อมตั้งเป้าเพิ่มพลังงานทดแทน23%

วงถก รมว.พลังงานอาเซียน เดินหน้าโครงการซื้อขายไฟฟ้าไทย-ลาว-มาเลเซีย เชื่อมโยงระบบสายส่ง พร้อมตั้งเป้าเพิ่มพลังงานทดแทน23%

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน (ASEAN Ministers on Energy Meeting-AMEM)  ครั้งที่ 35 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ว่า เวทีพลังงานอาเซียนมุ่งเน้นความร่วมมือด้านพลังงานในภูมิภาค ผ่านการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน การบูรณาการผ่านการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคี และการเชื่อมสายส่งและระบบท่อก๊าซ โดยอาเซียนตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 23% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายภายในปี 2568 จากปี 2558 อาเซียนมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 14%

"การประชุมครั้งนี้ได้หารือประเด็นการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในด้านพลังงาน เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และความร่วมมือด้านก๊าซธรรมชาติ ขณะที่การเป็นเจ้าภาพจัดงานของฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญเรื่องพลังงานใต้พิภพและชีวมวล" พล.อ.อนันตพร กล่าว

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากยังมีการหารือถึงโครงการ LTM on Power Integration Project ซึ่งเป็นข้อตกลงการลงนามซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง 3 ประเทศ คือ ลาว ไทย และมาเลเซีย โดยจะมีผลให้เกิดการเริ่มซื้อขายไฟฟ้ากันในทางปฏิบัติ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 ซึ่งมาเลเซียจะซื้อไฟฟ้าจากลาวผ่านระบบสายส่งของไทย จำนวน 100 เมกะวัตต์ ในราคารวมประมาณ 7.16 เซนต์/หน่วย ซึ่งแบ่งเป็นค่าไฟฟ้าที่ลาวจะได้รับประมาณ 6.3 เซนต์/หน่วย และเป็นค่าผ่านสายส่ง (Wheeling Charge) ที่ไทยจะได้รับ 0.86 เซนต์/หน่วย มีระยะเวลาการซื้อขายตามสัญญา 2 ปี

ทั้งนี้ หากความร่วมมือดังกล่าวประสบความสำเร็จ จะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างอาเซียน ที่มีระบบสายส่งเชื่อมโยงถึงกัน (อาเซียน พาวเวอร์ กริด)

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยเป็นผู้นำด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนในอาเซียน ซึ่งได้ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านแผนพัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานระยะ 20 ปี (ปี 2558-2579) เช่น แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 (EEP 2015) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) สอดคล้องนโยบายพลังงาน 4.0

สำหรับแผนพัฒนาพลังงานของไทย มีเป้าหมายสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามข้อผูกพันของการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 หรือ COP21 2.ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล 3.การสร้างกลไกการแข่งขันไปสู่เสรีเพื่อราคาเป็นธรรม และ 4.การพัฒนาพลังงานชุมชนเพื่อสร้างรายได้ แก่ชุมชน

สำหรับรางวัล อาเซียน เอเนอร์จี อวอร์ดส์ 2017 (ASEAN Energy Awards 2017) ไทยคว้า 19 รางวัล สูงสุดในอาเซียน แบ่งเป็น รางวัลด้านพลังงานทดแทน จำนวน 9 ผลงาน รางวัลด้านการบริหารจัดการพลังงานดีเด่น 6 ผลงาน รางวัลด้านอาคารอนุรักษ์พลังงานดีเด่น 3 ผลงาน และรางวัลด้านอาคารเขียวดีเด่น 1 ผลงาน ขณะเดียวกันไทยได้รับรางวัล อาเซียน โคล อวอร์ดส์ 2017 (ASEAN Coal Awards 2017) จำนวน 6 รางวัล