posttoday

เปิดกลยุทธ์ไลน์ มุ่งฟินเทค-เอไอต่อยอด

06 กุมภาพันธ์ 2561

กลยุทธ์ของไลน์ สำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่น ประกาศออกมาในปีนี้จะเน้น 3 เรื่องด้วยกัน

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

แม้ว่าไลน์ในประเทศไทยจะเป็นบริการ ที่มีการเติบโตมาก เพราะคนไทยใช้งานกันอย่างแพร่หลายทั้งในเชิงธุรกิจและการใช้งานทั่วไป แต่การประกาศจัดตั้งบริษัทใหม่ LINE Financial Corporation ที่ประเทศญี่ปุ่น ถือว่าเป็นก้าวใหม่อีกก้าวหนึ่งของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มด้านการสื่อสาร

กลยุทธ์ของไลน์ สำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่น ประกาศออกมาในปีนี้จะเน้น 3 เรื่องด้วยกัน คือ ธุรกิจโฆษณา ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพและแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นโดยใช้ประโยชน์จากคลังข้อมูลหลักในญี่ปุ่น เพิ่มการติดต่อ กับผู้ใช้งานเพื่อประสิทธิภาพที่ดีขึ้น  พร้อมตั้งเป้าไว้ว่าจะสำเร็จได้ทั้งในญี่ปุ่น และนอกประเทศ

นอกจากนี้ ไลน์จะเดินหน้าเรื่องธุรกิจการเงินหรือฟินเทคมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าใช้จ่ายผ่านไลน์ วอลเล็ต สะดวกขึ้น โดยจะเชื่อมต่อการใช้จ่ายผ่านไลน์เพย์ รวมทั้งการตั้งบริษัทใหม่ ไลน์ ไฟแนนเชียล เพื่อช่วยด้านบริการข้อมูลและนำเสนอการให้บริการทางการเงินแก่ผู้ใช้งานและเป็นพื้นฐานเตรียมตัวให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ การเทรดเงินเสมือนหรือเวอร์ชวลเคอเรนซี ธุรกิจกู้ยืมและธุรกิจประกัน โดยเริ่มต้นเงินทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านเยน หรือ 1.2 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ภาคธนาคารของไทยมีความกังวลว่าการเข้ามาจับธุรกิจฟินเทคของไลน์นั้น จะกระทบกับการผลักดันให้ลูกค้าใช้จ่ายผ่านมือถือมากขึ้น ทั้งคิวอาร์โค้ด พร้อมเพย์ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะคนไทยยังไม่กล้าใช้จ่ายผ่านมือถือเนื่องจากกังวลในเรื่องความปลอดภัย แต่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย หรืออี-คอมเมิร์ซ กล่าวว่า ต้องมองภาพย้อนกลับไปก่อนว่า ก่อนหน้านี้ไลน์ประเทศไทยเคยทำไลน์เพย์มาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทำให้ต้องไปร่วมมือกับแรบบิท จนกลายเป็นแรบบิทไลน์เพย์ แต่ก็ยังมีการใช้งานไม่มากนัก อาจเป็นเพราะผู้ใช้งานยังไม่คุ้นชินกับการใช้จ่ายผ่านมือถือทำให้ไม่บูม

"แม้ว่าการเข้ามาของไลน์เพย์จะเคยเป็นสิ่งที่ผู้บริหารธนาคารกังวล แต่ก็อย่าเพิ่งให้น้ำหนักมากไป เพราะพฤติกรรมการใช้งานออนไลน์ของคนไทยยังไม่เหมือนต่างประเทศทั้งหมด" ภาวุธ กล่าว

ขณะที่การประกาศจัดตั้งบริษัทใหม่ ไลน์ ไฟแนนเชียล คอร์ปอเรชั่น ขึ้นมา น่าจะเป็นจังหวะเหมาะ เพราะที่ญี่ปุ่นการทำธุรกรรมผ่านช่องทางไลน์เพย์เติบโตมาก โดยมียอดการทำธุรกรรมทั่วโลกมากกว่า 4.5 แสนล้านเยน หรือประมาณ 1.28 แสนล้านบาท จำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 40 ล้านคนทั่วโลก

ดังนั้น ประเทศไทยและอินโดนีเซียที่มีจำนวนผู้ใช้งานมากเป็นอันดับ ต้นๆ ย่อมเป็นประเทศที่ไลน์อาจ ผลักดันบริการนี้เข้ามาให้ใช้งานเพิ่มเพื่อมูลค่าการซื้อขาย แต่ต้องรอดูว่าจะมีแผนธุรกิจเป็นไปในทิศทางใด เพราะการบริหารงานของไทย กับญี่ปุ่นจะแยกกัน จึงเป็นเหตุผลให้ ผู้บริหารในไทยอาจกำลังรอดูจังหวะที่เหมาะสมก่อน

กลยุทธ์สุดท้ายที่ไลน์จะทำคือเรื่องของธุรกิจเอไอที่พัฒนาจากการเก็บข้อมูลของสังคมผู้ใช้งานไลน์ในแพลตฟอร์มทั้งหมด เพื่อให้รับทราบพฤติกรรมมนุษย์ทั้งเสียงพูด ฟังเพลง ดูทีวี อ่านข่าวสาร ฟังวิทยุและการค้นหา และจะนำมาวางขายในรูปแบบไลน์ ดีไวซ์ ที่ประกอบไปด้วย ลำโพง Clova WAVE, Clova Friends, หูฟัง MARS และอุปกรณ์การจดจำเสียงในปีนี้

ต้องจับตาก้าวเดินของไลน์ว่าจะเข้ามาเขย่ารูปแบบการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคไทยได้มากน้อยขนาดไหน