posttoday

หลานและศิษย์หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่หนูบาล จนฺทปญฺโญ

11 มกราคม 2553

โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

หลานและศิษย์หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่หนูบาล จนฺทปญฺโญ

เมื่อวันที่ 18-20 ธ.ค. ปีพ.ศ. 2552 มีงานพระราชทานเพลิงศพครูบาอาจารย์รูปหนึ่งที่วัดอรัญญวิเวก อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม วัดแห่งนี้เป็นวัดที่ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เคยเป็นอดีตเจ้าอาวาส ครูบาอาจารย์รูปดังกล่าวก็คือ พระครูวิรุฬห์ธรรมโอภาส หรือ หลวงปู่หนูบาล จนฺทปญฺโญ ผู้ซึ่งเป็นทั้งหลานและศิษย์ของหลวงปู่ตื้อ และเป็นผู้สืบทอดเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าแห่งนั้น

เพื่อให้ประวัติของหลวงปู่หนูบาลได้เผยแผ่กว้างขวางออกไปและเป็นการสืบทอดประวัติพระสุปฏิปันโน “คาบใบลาน ผ่านลานพระ” จึงขอนำประวัติของท่านซึ่งคณะศิษย์ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสดังกล่าวมาเผยแผ่ต่อโดยมิได้ตัดทอนดังต่อไปนี้

อัตชีวประวัติ
พระครูวิรุฬห์ธรรมโอภาส (หนูบาล จนฺทปญฺโญ)
อดีตเจ้าอาวาสวัดอรัญญวิเวก อดีตเจ้าคณะตำบลศรีสงคราม

1.ชีวิตปฐมวัย
1.1 สถานะเดิม
พระครูวิรุฬห์ธรรมโอภาส มีชื่อเดิมว่า หนูบาล แก้วชาลุน เกิดที่บ้านข่า ต.บ้านข่า อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ในวันที่ 26 เดือนม.ค ปีพ.ศ. 2474 ตรงกับ วันอังคาร แรม 4 ค่ำ เดือน 2 ปีมะแม โยมบิดาชื่อ เบี้ยว แก้วชาลุน โยมมารดาชื่อ กาสี แก้วชาลุน (เสียชีวิตทั้งหมดแล้ว)

โยมมารดาของท่านนั้น แต่เดิมเคยแต่งงานมาก่อนกับพ่อ จารย์แก้ว แก้วชาลุน และมีบุตร ธิดา ด้วยกันจำนวน 6 คน ดังนี้
1.นายโง้ง แก้วชาลุน  
 (เสียชีวิตแล้ว)
2.นางดา คะปัญญา 
 (เสียชีวิตแล้ว)
3.นางยา คะปัญญา 
 (เสียชีวิตแล้ว)
4.นางกง แก้วชาลุน 
 (ยังมีชีวิตอยู่)
5.นายม้ง แก้วชาลุน  
 (เสียชีวิตแล้ว)
6.นางบง เกษมสินธุ์ 
 (ยังมีชีวิตอยู่)

ต่อมาสามีเสียชีวิตลง ผู้ใหญ่ได้จัดการให้แต่งงานใหม่กับพ่อจารย์เบี้ยว แก้วชาลุน และมีบุตร ธิดา ด้วยกันจำนวน 2 คน ดังนี้
1.พระครูวิรุฬห์ธรรมโอภาส (หนูบาล จนฺทปญฺโญ) (ผู้มรณภาพ)
2.นางกองแก้ว แก้วชาลุน (ยังมีชีวิตอยู่)

1.2 การศึกษา การบรรพชาอุปสมบท
พระครูวิรุฬห์ธรรมโอภาส (หนูบาล จนฺทปญฺโญ) เมื่อถึงวัยที่จะต้องรับการศึกษาเล่าเรียน บิดา มารดา ได้ให้เข้ารับการศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนประชาบาล ต.บ้านข่า ในขณะนั้น จนกระทั่งจบชั้นสูงสุด คือชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในขณะที่เรียน บิดาได้สอนการอ่านการเขียนภาษาธรรม ภาษาขอมควบคู่ไปด้วย เนื่องจากโยมบิดาเคยบวชเรียนมาก่อนและมีความแตกฉานในด้านนี้มากคนหนึ่งในหมู่บ้าน ประกอบกับท่านพระครูวิรุฬห์ธรรมโอภาส (หนูบาล จนฺทปญฺโญ) เป็นคนฉลาด สมองดี จึงเรียนรู้ได้เร็ว และสามารถเขียนอ่านหนังสือขอมหนังสือธรรมได้ตั้งแต่ยังไม่ได้อุปสมบท เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้ว ได้ช่วยบิดามารดาและพี่น้องประกอบอาชีพทำไร่ทำนาตามปกติทั่วไป

ในขณะที่ท่านมีอายุ 17 ปี มีเรื่องเล่าว่า ขณะที่เริ่มโตเป็นหนุ่มท่านอยากได้กางเกงขายาว จึงขอเงินแม่ไปซื้อ แต่แม่ไม่ให้เพราะราคาแพงมาก ท่านจึงประกาศว่าจะไม่ช่วยทำไร่ทำนาอีกต่อไป และจะบวชตลอดชีวิตโดยจะต้องไปบวชกับเจ้าคณะจังหวัดนครพนมเท่านั้น เมื่อเป็นดังนั้นโยมบิดาจึงได้พาท่านเดินทางไปยังวัดศรีเทพประดิษฐาราม จ.นครพนม และมอบตัวให้กับท่านเจ้าคุณสารภาณมุณี (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) เจ้าคณะจังหวัดนครพนมในขณะนั้น และได้บวชเรียนเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 15 เดือนธ.ค. ปีพ.ศ. 2492 โดยมีท่านเจ้าคุณสารภาณมุนี (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) เจ้าคณะจังหวัดนครพนมเป็นพระอุปัชฌาย์ และได้จำพรรษาอยู่ที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม จ.นครพนม เป็นเวลา 2 ปี และได้ศึกษาจนจบ นักธรรมชั้นโท

เมื่อถึงกาลอุปสมบทอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ขณะนั้นท่านเจ้าคุณสารภาณมุณี (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) พระอุปัชฌาย์ มีภารกิจสำคัญต้องเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร ท่านจึงได้ส่งตัวกลับมายังบ้านข่า และมีบัญชามอบหมายให้พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก แห่งวัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม เป็นพระอุปัชฌาย์ เพื่อทำการอุปสมบท โดยมีพระอาจารย์บุญสงค์ โสปาโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์นู สุกวโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยได้ฉายาว่า จนฺทปญฺโญ เมื่อวันที่ 16 เดือนมิ.ย. ปีพ.ศ. 2994

2.ชีวิตมัชฌิมวัย
หลังจากที่พระหนูบาล จนฺทปญฺโญ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุตามความประสงค์ของท่านแล้ว ท่านได้กลับไปที่วัดเทพประดิษฐาราม จ.นครพนม เพื่อปฏิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์ของท่าน คือท่านเจ้าคุณพระสารภาณมุณี (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) เจ้าคณะจังหวัดนครพนมในสมัยนั้น และตั้งใจว่าจะเลือกเรียนฝ่ายปริยัติจนถึงระดับมหาเปรียญธรรมให้ได้ ท่านเจ้าคุณฯ ได้แนะนำให้กลับบ้านเพื่อลาโยมบิดา มารดาเสียก่อน จึงจะนำไปฝากตัวเพื่อเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ท่านจึงได้เดินทางกลับมายังบ้านเกิดอีกครั้งและเล่าความประสงค์ให้โยมบิดา มารดาฟัง

โยมบิดา มารดาของท่านบอกว่า มีญาติผู้หนึ่งชื่อว่า ตื้อ เป็นลูกชายของพ่อลุงจารย์ปา ซึ่งเป็นญาติพี่น้องของเรานี่แหละ บวชนานแล้วกับหลวงปู่คาน วัดโพธิ์ชัย อ.ท่าอุเทน ตั้งใจจะไปเรียนเป็นมหาเปรียญเหมือนกัน แต่บัดนี้หายสาบสูญไม่ทราบเป็นตายร้ายดีประการใด (หมายถึงหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม) จึงเป็นห่วงไม่อยากให้ไป แต่ท่านได้ตั้งใจเด็ดเดี่ยวแล้วว่าจะออกตามหาหลวงปู่ตื้อให้พบ เพื่อจะได้เรียนรู้และปฏิบัติธรรมด้วยในสมัยนั้นมีพระสงฆ์จากบ้านข่าหลายรูปที่บวชแล้วเดินทางไปปฏิบัติธรรมทางภาคเหนือ เช่น พระอาจารย์กาวงศ์ โอทาตวณฺโน หลวงปู่สังข์ สงฺกิจฺโจ เป็นต้น ท่านจึงคิดว่าน่าจะได้ข่าวคราวของ “หลวงลุง” (หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม) บ้าง

ท่านเดินทางไปเชียงใหม่ในขณะที่ท่านมีพรรษาประมาณ 5-6 พรรษา และไปจำพรรษาที่วัดป่าดาราภิรมย์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กับพระอาจารย์กาวงศ์ โอทาตวณฺโน ได้ 2 พรรษา จากนั้นได้ทราบข่าวว่าหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าอาจารย์ตื้อ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ท่านจึงกราบลาพระอาจารย์กาวงศ์ เพื่อไปศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ตื้อ ซึ่งเป็นหลวงลุงของท่านด้วยความดีใจ

ท่านอยู่ปฏิบัติธรรมกับ “หลวงลุง” ของท่านประมาณ 4-5 พรรษา และได้พบกับหลวงปู่สังข์ สงฺกิจฺโจ และพระอาจารย์ไท ฐานุตฺตโม ซึ่งเป็นเครือญาติเดียวกัน และจะเป็นที่ทราบกันดีในหมู่พระสงฆ์ทั่วไปและเรียกว่า “ครูบาสามพี่น้อง” โดยหลวงปู่สังข์ (พระครูภาวนาภิรัติ) จะมีอายุพรรษามากที่สุด รองลงมาคือ หลวงปู่บาล (พระครูวิรุฬห์ธรรมโอภาส) และหลวงปู่ไท (พระอาจารย์ไท ฐานุตฺตโม) ท่านทั้งสามจะช่วยเหลือเกื้อกูลและร่วมปฏิบัติธรรมร่วมกันอยู่เสมอ

เมื่อพระหลานทั้งสามได้เรียนรู้และปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม จนหลวงปู่ไว้วางใจและสามารถดูแลตัวเองได้แล้วจึงได้ให้แยกย้ายกันออกไปปฏิบัติธรรมตามสถานที่ต่างๆ ตามจังหวัดในภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคอีสาน

ประมาณพ.ศ. 2514 หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้รับนิมนต์มาจำพรรษาเพื่อโปรดญาติโยมที่บ้านข่าอันเป็นบ้านเกิดของท่าน ท่านได้เดินทางกลับมาเพื่อปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่ ช่วยเป็นกำลังใจในการสร้างโบสถ์และพัฒนาวัดอรัญญวิเวก พร้อมกับสร้างกุฏิพระอาจารย์กาวงศ์ โอทาตวณฺโน ซึ่งท่านมรณภาพก่อนจนแล้วเสร็จ ตามคำบัญชาของหลวงปู่ และได้จัดการชักชวนให้โยมแม่ของท่านได้บวชชีจนตลอดชีวิต

หลังจากนั้นประมาณ 6 ปี หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้นิพพานลง ท่านได้ร่วมจัดงานฌาปนกิจจนแล้วเสร็จอีก 2 ปีต่อมาโยมแม่ของท่านก็เสียชีวิตลง ท่านได้จัดงานศพของโยมแม่เป็นที่เรียบร้อย จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2520 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดอรัญญวิเวก และเป็นเจ้าคณะตำบลศรีสงครามเขต 2 (ธรรมยุต) ในสมณศักดิ์ที่ท่านพระครูสังฆรักษ์หนูบาล
ในปีพ.ศ. 2521 ท่านได้ไปจำพรรษาที่สำนักสงฆ์ยอดวังบาดภูวัว บ้านดอนเสียด อ.เซกา จ.หนองคาย เป็นเวลา 5 พรรษา และได้กลับมาบ้านข่าเพื่อฌาปนกิจศพโยมบิดาของท่านซึ่งเสียชีวิตลง ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2529 ได้รับแต่งตั้งให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูวิรุฬห์ธรรมโอภาส ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอรัญญวิเวก จนถึงปีพ.ศ. 2530 ท่านจึงได้ลาออกจากตำแหน่งและได้ไปตั้งวัดใหม่ชื่อ วัดป่าสันติธรรม บ้านโพนก่อ ต.นาคำ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม และจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสันติธรรมจนตลอดบั้นปลายของชีวิต ซึ่งในปัจจุบันนี้ วัดป่าสันติธรรม มีเจ้าอาวาสดูแลปกครองคือพระอาจารย์สถิตย์ ธีรธมฺโม ซึ่งเป็นหลานและลูกศิษย์ของท่านนั่นเอง

3.สมณศักดิ์และการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
3.1 สมณศักดิ์
1 ต.ค. 2520  เป็นพระครูสังฆรักษ์หนูบาล ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอรัญญวิเวก และเจ้าคณะตำบลศรีสงคราม เขต 2 (ธ)
5 ธ.ค. 2529 เป็นพระครูชั้นโท ที่พระครูวิรุฬห์ธรรมโอภาส
19 พ.ย. 2549 เป็นกรรมการสนามหลวงแผนกธรรม

3.2 ผลงานการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาโดยสรุป
พ.ศ. 2521 สร้างกุฏิ 1 หลัง ที่วัดบ้านดอนเสียด
พ.ศ. 2525 สร้างกุฏิ 1 หลัง ที่วัดอรัญญวิเวก
พ.ศ. 2530/2549 สร้างวัดป่าสันติธรรม และสร้างเสนาสนะ ดังนี้
 สร้างกุฏิ 8 หลัง
 ศาลาการเปรียญ 1 หลัง
 ที่พักโยม (ปัจจุบันเป็นที่พักแม่ชี) 1 หลัง
 เจดีย์ประจำวัด 1 องค์
 สร้างเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำหน้าวัด เนื่องจากวัดป่าสันติธรรมตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสงคราม

4.ชีวิตปัจฉิมวัย
ท่านพระครูวิรุฬห์ธรรมโอภาส (หลวงปู่หนูบาล จนฺทปญฺโญ) ตลอดระยะเวลาที่ท่านอยู่จำพรรษาที่วัดป่าสันติธรรม ท่านได้พาศิษยานุศิษย์และญาติโยมชาวบ้านโพนก่อร่วมกันบูรณะวัดป่าสันติธรรมให้เจริญรุ่งเรือง จนกระทั่งถึงปีพ.ศ. 2549 สุขภาพของท่านทรุดโทรมอย่างหนัก เดินไปมาลำบาก ประกอบกับท่านเข้าสู่วัยชราภาพ ศิษยานุศิษย์และลูกหลานได้นิมนต์ท่านเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหลายครั้งแต่อาการมีแต่ทรงกับทรุด

จากนั้นท่านพระครูวิมลศีลโสภณ (พระอาจารย์สำเนา ธมฺมสีโล) เจ้าคณะอำเภอศรีสงคราม นาหว้า บ้านแพง นาทม องค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นหลานพร้อมด้วยศิษยานุศิษย์และลูกหลานจากบ้านข่า ได้กราบนิมนต์ท่านให้มาจำพรรษาที่วัดอรัญญวิเวกเพื่อสะดวกในการดูแลและปรนนิบัติรับใช้ ประกอบกับท่านมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับไต จนทำให้สุขภาพทรุดโทรมยิ่งขึ้น
พระอาจารย์วิราช ฐิตธมฺโม (เจ้าอาวาสวัดอรัญญวิเวกรูปปัจจุบัน ซึ่งเป็นลูกศิษย์อีกรูปหนึ่ง) พร้อมด้วยลูกหลานเคยนำท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น อาการก็เพียงทุเลาเบาบางเท่านั้น ในวันที่ 2 เม.ย. 2552 ข้าพเจ้า (ผู้เรียบเรียงประวัติ) ได้เข้าปฏิบัติรับใช้ตามปกติ

หลวงปู่หนูบาลได้ปรารภว่า “ได้ทำให้ลูกหลานลำบากยุ่งยากมานานแล้ว อีก 2-3 วันก็จะตาย อดเอาเน้อ” แต่ก็ไม่มีใครใส่ใจในคำพูดของท่าน ในวันที่  4 เม.ย. 2552 ได้สังเกตว่าท่านมีความสดชื่นเป็นพิเศษ พูดจาหยอกล้อกับลูกศิษย์ลูกหลานและญาติโยมที่ไปเยี่ยมด้วยอารมณ์ดี จนกระทั่งตอนเช้าของวันที่ 5 เม.ย. 2552 หลังจากที่ท่าน ฉันเช้าเสร็จ ท่านมีอาการเหนื่อยอย่างเห็นได้ชัด ลูกศิษย์ ผู้ปรนนิบัติได้นำท่านเข้าสู่ที่จำวัดและสังเกตว่าท่านเริ่มหายใจลำบาก ประมาณไม่ถึง 20 นาที ท่านก็มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ ในเวลา 08.30 น. ของวันที่ 5 เม.ย. ปีพ.ศ. 2552 เหตุการณ์นี้ยังความเศร้าโศกเสียใจให้แก่ศิษยานุศิษย์ ญาติพี่น้อง และสาธุชนที่เคารพนับถือ โดยทั่วไป สิริอายุได้ 75 ปี 58 พรรษา