posttoday

พระธรรมจาริก : ผู้จุดเทียนบนดอย

26 มกราคม 2563

โดย อุทัย มณี (เปรียญ)

โดย อุทัย มณี (เปรียญ)

สมัยเป็นนักบวชเคยได้ยินคำว่า “พระธรรมจาริก”  เพราะมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงไปเป็นพระธรรมจาริกอยู่บนดอย การเป็นพระธรรมจาริกอยู่บนดอยนั่น เพื่อนมาเล่าให้ฟังว่า “ลำบากมาก เพราะดอยที่อยู่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีโทรทัศน์ อยู่รูปเดียว หน้าหนาวก็หนาวจัด หน้าที่ของท่านคือ บิณฑบาตโปรดชาวเขา วันพระนำชาวบ้านทำวัตรสวดมนต์ สอนชาวบ้านให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด ถิ่นอาศัย”

พระธรรมจาริก : ผู้จุดเทียนบนดอย

โครงการพระธรรมจาริก เป็นโครงการริ่เริ่มโดย นายประสิทธิ ดิศวัฒน์ หัวหน้ากองสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ในยุคนั้น ในคราวที่ท่านอุปสมบทในวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แล้วไปปรึกษากับ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ซึ่งสมเด็จ ฯเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรท่านเห็นด้วย จึงเกิดโครงการนี้ขึ้นมา

โครงการพระธรรมจาริกก่อกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2508 ก่อนยุคคอมมิวนิสต์เบ่งบาน และเป็นยุคที่ชาวเขาในบ้านเรานิยมปลูกฝิ่นพื่อเลี้ยงครอบครัว และทั้งไม่รู้จัก ใครคือประมุขของชาติ

โครงการพระธรรมจาริก ศูนย์กลางการบริหารภูมิภาคอยู่ที่วัดศรีโสดา จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนกลางบริหารหลักอยู่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม มีพระเทพกิตติเวที เป็นประธานพระธรรมจาริก

การดำเนินการของพระธรรมจาริกยุคแรก ๆ เป็นที่หวาดระแวงของชาวเขา เพราะคิดว่า “พระเป็นสาย” ให้กับทางราชการ การเป็นอยู่ก็อยู่ด้วยความยากลำบาก มีกระต๊อบหลังเล็ก ๆ และชาวเขาส่วนใหญ่ “นับถือผี” ยังไม่นับถือพุทธศาสนา ซ้ำบางพื้นที่มี “นักบวชต่างศาสนา” ไปเผยแผ่ศาสนาก่อนหน้านี้แล้ว พระธรรมจาริกหากวิเคราะห์ในแง่ของมิติทางการเมืองคือ “ผู้สร้างความมั่นคง” ให้ชาติไทยอย่างแท้จริง

พระธรรมจาริก : ผู้จุดเทียนบนดอย

การดำเนินงานของพระธรรมจาริกตลอด 55 ปี จึงมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมไทย มิใช่แค่ชาวพุทธบ้านเราเท่านั่น แต่หากหมายถึง ต่อประเทศชาติด้วย พระธรรมจาริก มิได้รับเงินเดือน มิได้รับเบี้ยเลี้ยงยังชีพ มีแต่บาตรใบเดียว เดินขึ้นดอยท่ามกลาง “ความเสี่ยง” มากมายที่คอยอยู่เบื้องหน้า

พระธรรมจาริก จึงสมกับเป็นนักสังคมสงเคราะห์ เป็นนักจิตอาสา สมกับเป็นสาวกผู้สืบทอดพระราชปณิธานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสสอนไว้ว่า “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย ฯปฯ เทเสถ ภิกฺขเว ธมฺมํ”  แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจึงเที่ยวจาริกไป จงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลกเถิด..”

การดำเนินงานของพระธรรมจาริก น่าจะเป็นโครงการแรก ๆของคณะสงฆ์ไทยที่ทำงานเกี่ยวกับ “สาธารณสงเคราะห์” เช่น สอนศีลธรรมในโรงเรียนบนพื้นที่สูง, โครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำยุวพุทธธรรมจาริก,โครงการสอบธรรมศึกษาสนามหลวง โครงการ ปลูกต้นกล้าในนาบุญ บวชภาคฤดูร้อนชาวเขา หรือแม้กระทั้ง โครงการ ธรรมะห่มดอย  ดังนี้เป็นต้น

แต่ที่เห็นชัดเป็นรูปธรรมของโครงการนี้คือ “การเปิดโอกาส” เรื่องการพัฒนามนุษย์ คือ บวชชาวเขาแล้วส่งเรียนหนังสือจนปริญญาตรี,การให้ทุนเด็กและเยาวชนชาวเขาเรียนจบแล้วกลับไปพัฒนาบ้านเกิด

พระธรรมจาริก : ผู้จุดเทียนบนดอย

การดำเนินงานตลอด 55 ปีมานี้ โครงการพระธรรมจาริก จึงเป็นโครงการที่มีประโยชน์มหาศาลทั้งในแง่ของความมั่นคงของชาติ และในการดึงคนมาเป็นพุทธมามกะ และรวมทั้งสอนอบรมให้ชาวเขามีความ “กตัญญูต่อแผ่นดินเกิดและถิ่นอาศัย” โดยผ่านการดำเนินงานของพระธรรมจาริก

ปัจจุบันรู้แต่เพียงว่า โครงการพระธรรมจาริก มีหน่วยงานภาครัฐอย่างกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และมีมูลนิธิแผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชนถิ่นกันดาร ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี คอยสนับสนุน ส่วนมหาเถรสมาคมยังไม่เห็นเข้าไปสนับสนุนเต็มรูปแบบ

และเพิ่งเห็นข่าวเมื่อไม่กี่วันมานี้ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณะสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม ไปเป็นประธานปฐมนิเทศพระธรรมจาริกประจำปี 2563 ณ วัดศรีโสดา จ.เชียงใหม่

จึงต้องหยิบหนังสือที่ไม่ทราบว่าใครให้มา แต่อยู่ในตู้นานแล้วออกมาอ่าน ชื่อหนังสือว่า “พระธรรมจาริก : อัตลักษณ์ 6 กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง” พิมพ์ออกมาโดยสำนักงานพระธรรมจาริกส่วนกลาง วัดเบญจมบพิตร

พระธรรมจาริก : ผู้จุดเทียนบนดอย

เป็นการรวบรวมอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง มี กะเหรี่ยง,ม้ง,ลีซู,เมี่ยน,อาข่าและลาหู่ เป็นหนังสือที่เก็บรายละเอียดวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งแต่เกิดจนตายของแต่ละชาติพันธุ์ เช่นกะเหรี่ยง กล่าวถึงตำนานกะเหรี่ยงกับช้าง,พิธีกรรมพืชผักกับศพ,ประเพณีปีใหม่ ดังนี้เป็นต้น

หรืออัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ลีซู ความหมายของคำว่าลีซู คืออะไร ประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับหมอผี  วิถีชีวิตเกี่ยวกับการแต่งงาน ในหนังสือเล่มนี้จะเล่าไว้ละเอียดมากทั้ง 6 ชาติพันธุ์

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาบนดอยในถิ่นทุรกันดาร ประเภทอยู่ยาก กินยาก ของพระธรรมจาริก ผู้ถวายตนเพื่อพระพุทธศาสนา ผู้อุทิศตนต่อพระรัตนตรัย ผู้เขียนเชื่อว่า ชาวพุทธในสังคมไทยไม่ค่อยรู้จัก บางคนไม่เคยได้ยินได้ทราบมาก่อนด้วยซ้ำไปว่า “พระสงฆ์ยอมลำบากแบบนี้”

ดีไม่ดีแม้กระทั้งพระสงฆ์เราเอง บางรูปก็อาจจะไม่รู้ว่าในภาคเหนือคณะสงฆ์ทำงาน “บนดอย บนเขา” กันแบบนี้ ซึ่งต้องคอยดูต่อว่า..มหาเถรสมาคมจะเห็นคุณค่ารับไว้ในความอุปถัมภ์เชิดชูยกย่องตบรางวัลแก่..พระธรรมจาริกอย่างไรบ้าง