posttoday

แสวงบุญมัณฑะเลย์ : ยลโฉมเมืองอารยะธรรมโบราณ  (ตอนจบ)

22 ธันวาคม 2562

 โดย อุทัย มณี (เปรียญ)

 โดย อุทัย มณี (เปรียญ)

การเดินทางโดยเครื่องบินจากประเทศไทยสู่ มัณฑะเลย์ประเทศเมียนมา ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาที ถึงสนามบินเมืองมัณฑะเลย์ การเข้าเมืองก็ง่ายไม่ต้องกรอกเอกสารอะไรเลย ไม่เหมือนสมัยก่อนเวลาจะเข้าเมืองต้องกรอกเอกสารเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งคนที่ไม่มีความรู้ด้านภาษาอาจจะลำบาก หลังจากเมื่อตอนที่แล้วคณะสงฆ์ซึ่งประกอบด้วยคณะสงฆ์จากจังหวัดตรัง วัดธรรมกาย และพวกเราในฐานะสื่อมวลชนกราบสักการะเจดีย์หยกกันแล้ว เป้าหมายต่อไปคือ “สะพานอูเบ็ง”

แสวงบุญมัณฑะเลย์ : ยลโฉมเมืองอารยะธรรมโบราณ  (ตอนจบ)

สะพานอูเบ็ง เป็นสะพานไม้สักที่เก่าแก่และยาวที่สุดในโลก ความยาว 1.2 กิโลเมตร สร้างจากไม้สักที่รื้อมาจากพระราชวังเก่าแห่งกรุงอังวะ เมื่อครั้งย้ายราชธานีมายังอมรปุระ จำนวน 1,086 ต้น เพื่อใช้ทำเป็นเสาและสะพาน มีอายุกว่า 170 ปี เหตุผลการสร้างตามประวัติศาสตร์ปนตำนานเล่าว่าเนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินยุคนั่นต้องการที่จะย้ายพระพุทธรูปองค์หนึ่งไปอีกฝั่ง จึงจำเป็นต้องสร้างสะพานไม้ขึ้น

ส่วนสะพานชื่อ “อูเบ็ง” เรียกตามชื่อวิศกรคนสร้างซึ่งเป็นคนมุสลิมชื่อว่า “อูเบ็ง” ผิดหรือถูกผู้เขียนไม่ทราบ โต่โน่มัคคุเทศก์ชาวพม่าเล่ามามานี้ ช่วงที่คณะเราไปนักท่องเที่ยวมีแต่ชาวจีน เห็นคนไทยบ้างเล็กน้อย น้ำด้านล่างสะพานแห้งหมดแล้ว มีแต่ฝุ่น แต่พวกเราก็ไม่วายเดินใต้สะพานรบกวนให้ช่างกล้องมือหนึ่งของวัดธรรมกายคือ “หลวงพี่มหานพพร” เก็บภาพทุกซอกทุกมุม หากพวกเราไม่อยากถ่าย..หลวงพี่นพพร ท่านก็จะบอกว่า “มุมนี้สวย มุมนี้เด่น” พวกเราก็ไม่มีใคร..ปฎิเสธ..

แสวงบุญมัณฑะเลย์ : ยลโฉมเมืองอารยะธรรมโบราณ  (ตอนจบ)

หลังจากเที่ยวสะพานอูเบ็งเสร็จ พวกเราก็กลับเข้าโรงแรมที่พัก พรุ่งนี้มีกำหนดการเดินทางไปกราบเจดีย์ที่ได้ชื่อว่า “ทัชมาฮาลแห่งลุ่มน้ำอิระวดี" และ“เจดีย์มิงกุน" หรือ “เจดีย์จักรพรรดิ" ซึ่งอยู่ที่เมืองสกาย เมืองหลวงเก่าแก่อีกแห่งของพม่าอยู่ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์เดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 2 ชั่วโมง กำหนดนัดพบเคลื่อนขบวน  07.30 น.

ในวันรุ่งขึ้นหลวงพี่นพพร กับโตโน่มารับพวกเราแต่เช้าเพื่อเดินทางไปเมืองสกาย เป้าหมายไปกราบนมัสการเจดีย์ เจดีย์ชินพิวเม” และ “เจดีย์มิงกุน"

"เจดีย์ชินพิวเม” หรือ เมี๊ยะเต็งดาน ได้ชื่อว่าเป็น “ทัชมาฮาลแห่งลุ่มน้ำอิระวดี" มีอายุ 203 ปี สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2359 โดยพระเจ้าบากะยีดอว์ พระราชนัดดาของพระเจ้าปดุงเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่มีต่อพระมหาเทวีชินพิวเม ซึ่งถึงแก่พิราลัยก่อนเวลาอันควร เจดีย์องค์นี้มีความสำคัญ คือ สถาปัตยกรรมสร้างตามหลักภูมิจักรวาลทางพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเอายอดพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาล มีเจดีย์จุฬามณีอยู่บนสุดเหนือเขาพระสุเมรุ และมีเทือกเขาทั้งเจ็ดรายล้อมด้วยขุนเขาและมหาสมุทรตามหลักไตรภูมิ สีขาวสวยสง่าตื่นตาตื่นใจมาก..

ที่นี่มีทั้งเด็กและคนขายดอกไม้มารุมเพียบ และเสียค่าเข้าไปชม ในคณะเราพระสงฆ์ก็ไม่เว้น..ถูกเก็บค่าเข้าไปชมหมด..หากคุณผู้อ่านต้องการภาพมุมไหนสวยงามจะมีเด็กชาวพม่าพม่าเจ้าถิ่น จะคอยถ่ายภาพสวยทุกมุมมอง เขามีการแบ่งโซนกันชัดเจน แก็งค์มหาเจดีย์จะไม่ข้ามไปถ่ายรูปที่วัด แก็งค์วัดไม่ไปถ่ายรูประฆัง แต่ทุกคนพูดเหมือนกัน หาเงินไปโรงเรียน และผู้เขียนโชคดีที่ เจดีย์มินกุน” มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งหลังจากให้เงินไป 5,000 จ๊าตหรือประมาณ 100 บาทไทย จะเดินไปได้น้องบอกจะเป็นบอดี้การ์ดให้และคอยถ่ายภาพให้ตลอดจนขึ้นรถกลับ

แสวงบุญมัณฑะเลย์ : ยลโฉมเมืองอารยะธรรมโบราณ  (ตอนจบ)

เจดีย์มินกุนสร้างในช่วง พ.ศ. 2333–2340 โดยพระเจ้าปดุง พระองค์มีพระราชดำริจะสร้าง “เจดีย์มิงกุน" หรือ “เจดีย์จักรพรรดิ" ที่ใหญ่ที่สุดกว่าเจดีย์ใดๆและใหญ่กว่า “พระปฐมเจดีย์" ในสยามประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในสุวรรณภูมิ งานก่อสร้างเจดีย์มิงกุนดำเนินไปได้เพียง 7 ปีเท่านั้น พระเจ้าปดุงเสด็จสวรรคตหลังจากที่ทรงพ่ายแพ้สยามในศึกสงคราม 9 ทัพ ส่วนมหาเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่ตามความมุ่งหวังของพระองค์ แล้วเสร็จเพียงแค่ฐาน แต่ก็ยังสูงถึง 50 เมตรส่วนรอยแตกร้าวที่ฐาน เกิดจากเหตุแผ่นดินไหวในปี พ.ศ. 2381 ว่ากันว่าหากพระเจดีย์สร้างเสร็จตามแผน จะเป็นเจดีย์ที่ใหญ่อลังการที่สุดและสูงที่สุดในโลก ด้วยความสูงถึง 152 เมตร

และตรงข้ามมหาเจดีย์มิงกุนจะมีก้อนหินใหญ่ยักษ์อยู่ 2 ก้อน คือสิงห์คู่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งไว้สำหรับเฝ้าหน้าเจดีย์มิงกุน แต่ส่วนหัวสิงห์ถูกแผ่นดินไหว หักตกลงแม่น้ำอิระวดี ถามคนท้องถิ่นเล่าว่า “อดีตที่นี้คือเมืองท่าใหญ่ที่สุดของพม่า การสร้างเจดีย์มิงกุนนี้ต้องเกณฑ์คนมานับหมื่นคน แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ” มีอีกหลายแห่งที่ไปเที่ยวแต่ไม่มีเวลาเล่ารายละเอียดขอรวบรัดคือว่า

หลังจากกลับจากเมืองสกายในช่วงหัวค่ำ หลวงพี่นพพร และฝ่ายประชาสัมพันธ์ของวัดธรรมกาย พาพวกเราไปดูสถานที่จัดงานซึ่งเป็นสนามบินเก่าของเมืองมัณฑะเลย์ ช่วงที่เราไปเห็นมีเด็ก ๆ วัยรุ่นที่เป็นอาสาสมัครหลายร้อยคนกำลังจัดสถานที่ มีกัลยาณมิตรจากวัดพระธรรมกาย มีพระสงฆ์ไทยหลายสิบรูป ช่วยกันจัดสถานที่และเตรียมของที่จะใส่บาตร 30,000 รูปในวันรุ่งขึ้น

ณ ที่นี้ทำให้เราเห็นว่า ประเทศเมียนมา เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาที่แท้จริง คหบดีที่นี้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา เสียสละทั้งทรัพย์และกำลังกายเพื่อพระพุทธศาสนา คนรวยคนจนที่นี้ดูไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นประมุขรัฐ รัฐมนตรี หรือนายทหาร ตอนใส่บาตรต้องนั่งอยู่กับพื้น และที่แปลกตาที่สุดในชีวิตผู้เขียนไม่เคยเจอมาก่อนคือ จำนวนพระ 30,000 รูป นั่งเต็มพื้นที่ไปหมด ชาวพุทธพม่ามากันนับแสนคน..คิดเล่น ๆ แต่จริง..การจัดงานตักบาตรพระมากมายแบบนี้มหาเถรสมาคม รัฐบาลไทยก็ทำไม่ได้..

แสวงบุญมัณฑะเลย์ : ยลโฉมเมืองอารยะธรรมโบราณ  (ตอนจบ)

แสวงบุญมัณฑะเลย์ : ยลโฉมเมืองอารยะธรรมโบราณ  (ตอนจบ)

แสวงบุญมัณฑะเลย์ : ยลโฉมเมืองอารยะธรรมโบราณ  (ตอนจบ)