posttoday

คณะสงฆ์ต้องสร้าง “พระผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในชุมชน”

24 พฤศจิกายน 2562

การที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยร่วมมือกับสถาบันต่าง ๆ เพื่อพัฒนานักไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทถือว่า “มาถูกทาง” แล้ว

โดย..อุทัย มณี (เปรียญ)

เมื่อเร็ว ๆนี้ เห็นข่าวชิ้นเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งที่ถูกส่งมาทางเฟชบุ๊ค เป็นข่าวเล็ก ๆ ที่สื่อไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสนใจ เพราะมันเป็นประเด็นที่คิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว แต่หากคนที่มี “ข้อพิพาท ขัดแย้งกัน” เป็นเรื่องใหญ่นั่นคือ “ลงนาม MoU 25 หน่วยงาน เกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท”

คณะสงฆ์ต้องสร้าง “พระผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในชุมชน”

ปัจจุบันความขัดแย้งในสังคมไทยมีทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับชาติ คดีที่ถูกส่งไปยังศาลเพื่อไกล่เกลี่ยและฟ้องร้องมีนับหมื่นคดี เวลาคนเราเกิดข้อพิพาท ทะเลาะกัน ต่างคนย่อมต่างต้องการให้ตนเองได้รับความยุติธรรมมากที่สุด การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่เปิดโอกาสให้คู่พิพาทได้มาพูดคุยกันเพื่อช่วยกันหาทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและหาแนวทางระงับข้อพิพาทที่ทุกฝ่ายพึงพอใจทั้งสองฝ่าย อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายของท่านไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทางไปศาล ค่าจ้างทนาย ที่จะต้องเสียไปในการต่อสู้ดำเนินคดี

ในการลงนาม MOU ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงยุติธรรมในคราวนี้ มีคณะสงฆ์เป็นตัวแทนเข้าไปร่วมด้วยนั่นคือ เพราะในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีการเรียนการสอนสาขาหนึ่งนั่นคือ “สาขาสันติศึกษา” โดย มจร จับมือกับสถาบันพระปกเกล้า ศาลยุติธรรม จัดทำหลักสูตรนี้ขึ้นมา

ความจริงบทบาท “นักไกล่เกลี่ย” บทบาท “ในการระงับข้อพิพาท” บทบาท “ในการชำระคดีความ” เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ทางแพ่งหรือแม้แต่ทางอาญาในอดีต เป็นบทบาทของพระสงฆ์ เจ้าอาวาสอยู่แล้ว

คณะสงฆ์ต้องสร้าง “พระผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในชุมชน”

มีเรื่องเล่า สมัยที่ผู้เขียนเป็นพระภิกษุติดตาม หลวงพ่อลำใย ปิยวณฺโณ (พระมงคลสิทธิคุณ) เจ้าอาวาสวัดทุ่งลาดหญ้า ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ในชุมชนมีความขัดแย้งกันเรื่อง “วินรถตู้” ฝ่ายหนึ่งที่นายทหารเป็นแบ็คอัพ ส่วนอีกฝ่ายมีนักการเมืองท้องถิ่นเป็นแบ็คอัพ ต่างฝ่ายต่างมีอิทธิพล ฝ่ายนักการเมืองท้องถิ่นต้องการเปิดวินใหม่ แต่อีกฝ่ายไม่ยอม ต่างก็วิ่งเข้ามาหาหลวงพ่อลำใย มาฟ้องเพื่อให้ระงับข้อพิพาทไกล่เกลี่ย หลวงพ่อรับฟังทั้งสองฝ่าย เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมหลวงพ่อเรียกทั้ง 2 ฝ่ายมาพบที่กุฎิ พูดคุยตามปกติ ท่านก็พูดทำนองว่า “ให้ทั้งสองฝ่ายคำนึงถึงชุมชนหมู่บ้านของเรา ให้คำนึงถึงการพัฒนาหมู่บ้าน ทะเลาะกันแล้วมีแต่จะพังและเสียหายทั้งสองฝ่าย สุดท้าย ไม่มีใครได้ดี” ท่านพูดประมาณนี้ สุดท้าย ทั้งสองฝ่ายก็จากกัน ผลสรุปคือ เปิดวินใหม่ แต่ต่างคนต่างทำงาน ต่างคนต่างเปิด ไม่มีความขัดแย้งกัน

อันนี้บทบาทพระสงฆ์ในอดีตที่นับถอยหลังไปไม่กี่ปี ปัจจุบันมหาเถรสมาคม มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะ “รื้อฟื้นให้วัดเป็นศูนย์กลางชุมชนหมู่บ้าน” การที่จะให้วัดเป็นศูนย์กลางสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านเขาต้องการที่สุดนั่นคือ “ที่ปรึกษา” ทั้งเรื่อง ความทุกข์ใจและทางกฎหมาย  ชาวบ้านเขาไม่ต้องการให้วัดเป็นศูนย์กลางในด้านพิธีกรรมและด้านศูนย์กลางความบันเทิง เพราะสิ่งนี้ปัจจุบันมีห้างและสถานบันเทิงมากมายที่พวกเขาไปหามาได้ ยิ่งพิธีกรรมยิ่งไม่ต้องพูดถึง ทำที่วัดหรือที่บ้านเมื่อไรก็ได้

การที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยร่วมมือกับสถาบันต่าง ๆ เพื่อพัฒนานักไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทถือว่า “มาถูกทาง” แล้ว เรื่องนี้มหาเถรสมาคม สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคณะสงฆ์ไทยทั้ง มจร และ มมร ต้องร่วมมือกัน “พัฒนาหลักสูตรนักไกล่เกลี่ยระยะสั้นสำหรับพระสังฆาธิการ” เพื่อทำหน้าที่ตรงนี้ให้ได้..เพื่อสนองรองรับกับยุทธศาสตร์กิจการพระศาสนาที่จะก้าวไปสู่ ให้วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน

คณะสงฆ์ต้องสร้าง “พระผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในชุมชน”