posttoday

ตื่นปีใหม่

08 มกราคม 2553

หมายเหตุ : เพื่อความเป็นมงคล เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2553 ขอนำเทศนาของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี พระสุปฏิปันโน แห่งวัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย ซึ่งเทศนาไว้ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. ปีพ.ศ. 2527 มานำเสนอดังนี้

หมายเหตุ : เพื่อความเป็นมงคล เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2553 ขอนำเทศนาของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี พระสุปฏิปันโน แห่งวัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย ซึ่งเทศนาไว้ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. ปีพ.ศ. 2527 มานำเสนอดังนี้

วันนี้ขึ้นปีใหม่แล้วก็เลยอยากจะเทศน์ให้ฟังเสียหน่อย ทุกคนที่เกิดมา มันมีการเปลี่ยนแปลงยักย้ายไปตลอดอายุของเรา ความของเรานั่นน่ะมันหมดไปๆ แต่ว่า วัน เดือน ปี นั้นมันของเก่าอยู่ คนยังพากันไปตื่นเงาตนเองเห็นว่าปีเก่าหมดไป ปีใหม่มาเลยตื่นเต้นกัน อยู่กรุงเทพฯ ก็พากันมาถึงวัดหินหมากเป้งนี่ มาขอพรปีใหม่ มาขอให้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ขอให้มีอายุยืนนาน อันความหลงของคน มันหลงอยู่อย่างนี้แหละ หลงเงาตนเอง

ขอให้มีอายุยืนนาน อายุมันจะยืนอย่างไร มันก็หมดไปทุกทีๆ เหมือนกันกับที่เขาทอหูกทอผ้า ข้างหน้ามันสั้นเข้าทุกทีๆ บางคนก็จวนจะหมดแล้ว แล้วจะเอาอายุที่ไหนมาต่อให้ มาขอพรจากพระ พระจะเอาอายุที่ไหนมาต่อให้ อายุของพระก็จะหมดไปเหมือนกัน ต่างคนต่างหมดไปด้วยกัน จะไปให้กันได้อย่างไรล่ะ

ขอให้มีวรรณะ คือ ผิวพรรณงาม ก็อาหารนั่นแหละให้ผิวพรรณ ขออายุกับขอวรรณะก็อันเดียวกัน มันได้จากอาหาร มาขอผิวพรรณผ่องใสบริสุทธิ์จากพระ ครั้นหากว่าพระให้ ทีนี้พระจะไปเอาที่ไหนมาให้ ผิวพรรณวรรณะมันเกิดจากอาหาร

ขอให้ได้มีความสุข มันจะอยู่ที่ไหน?

มาขอจากพระก็จะได้จากที่ไหนความสุข ความสุขอันที่ขอได้นั้นมันอย่างหนึ่ง คืออาหาร นั่นแหละขอความสุขได้ อาหารทำให้มีความสุขสบาย ถ้าอาหารไม่มี อาหารไม่ตกท้องแล้วละก็ หมดเหมือนกันความสุขไม่มีความสุข แต่พระก็ยังขออาหารจากชาวบ้านฉันอยู่ แล้วจะเอาความสุขมาให้ญาติโยมได้อย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาว่า ความสุขไม่มีในโลกนี้ มีแต่ทุกข์เกิดขึ้นแล้วดับไป ทุกข์อันเกิดขึ้นมาใหม่ แล้วทุกข์อันนั้นดับไป ทุกข์ใหม่เกิดขึ้นมาอีก เมื่อเห็นตามเป็นจริงอย่างนี้แล้วก็หมดเรื่อง ไม่ต้องไปขอความสุขจากใคร

ขอ พละ กำลัง ก็อันเดียวกัน ได้อาหารมีรสชาติดี มันก็ได้กำลังวังชา ทำมาหากินเลี้ยงชีพได้

พร 4 ประการนั้น ไม่ทราบจะไปขอจากใคร ตื่นเงาเจ้าของคือตัวของเราเองนั่นแหละ มันเปลี่ยนแปลงไปทุกวันๆ เข้าใจว่าปีใหม่ เดือนใหม่ จะทำให้มีความสุข มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ 4 ประการนั่น วัน เดือน ปี มันจะเอาอะไรมาให้ ตื่นโดยไม่รู้ด้วยซ้ำ ไม่มีใครให้แต่ว่าพากันตื่นเอา เข้าใจกันว่าเอาพรมาได้จาก ปี เดือน มันก็เป็นอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา เราเกิดขึ้นมาก็เห็นว่ามันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ปีหมดไปเดือนหมดไป มันหมดไปอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ เราสมมติว่ามันหมดไป แต่อันที่จริงมันไม่หมดหรอก มันหมุนเวียนอยู่อย่างนั้น ตลอดเวลามา วันหมุนไปหาเดือน เดือนหมุนไปหาปี มันเวียนกันไป

แท้จริงวันมันก็ไม่ได้เรียกตัวมันว่าวันหรอก วันอาทิตย์, วันจันทร์, วันอังคาร, วันพุธ, วันพฤหัสบดี, วันศุกร์, วันเสาร์ มันไม่ได้เรียกของมัน เดือนก็ไม่ได้เรียกของมันว่าเดือนเม.ย., พ.ค., มิ.ย., ก.ค. ฯลฯ มันไม่ได้เรียกไม่ได้พูด เราไปใส่สมมติชื่อเอาเฉยๆ ปีก็ไม่ได้เรียกตัวมันเองว่า ปีชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง ฯลฯ ไม่ได้พูด คนพูดเรียกเอาสมมติเอาเองต่างหาก

ความเป็นจริงตัวของเรานี้ต่างหากที่มันหมดไป ไม่ใช่วันเดือนปีหมดไป ครั้นมองเห็นตัวของเราหมดไปแล้ว ไม่ต้องตื่นเต้นกับของพรรค์นั้น ไม่ต้องตื่นเต้นกับวันใหม่ปีใหม่ อันนั้นมันหมุนไปตามเรื่องของมัน วันหนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง อันนั้นเป็นสมมติบัญญัติขึ้นมา
อันที่เราควรจะตื่นเต้นนั่น ควรตื่นเต้นที่ตัวของเราว่า วันหนึ่งๆ เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง เราเจริญขึ้น หรือว่าเราเสื่อมลงอันนั้นต่างหาก เราเห็นความเสื่อมความเจริญของเรา

แท้จริงร่างกายของเรามันเจริญขึ้นไม่มีหรอก มีแต่เสื่อมลงมันเกิดขึ้นมาแล้วก็เสื่อมลงทุกทีๆ มันเสื่อมตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดาโน่น มันแก่คือความเสื่อม ถ้าหากมันไม่แก่ มันก็ไม่คลอดออกมา คลอดออกมาแล้วก็แก่วัน แก่เดือน แก่ปี โดยลำดับจนกระทั่งเฒ่าชรา แล้วผลที่สุดก็มรณะคือตาย อันนี้เป็นความแก่ของร่างกาย

ความแก่ของจิตใจคราวนี้ ร่างกายนี้เราอาศัยมันอยู่เฉยๆ เท่านั้น มันไม่ใช่ของเรา ควรมองดูจิตใจของเรา ทำใจของเราให้มันแก่ขึ้น

ทำใจให้แก่ขึ้นคืออย่างไร? คือทำใจของเราให้แก่กล้าด้วยคุณธรรม อันนั้นเป็นของเราอย่างแท้จริง วันหนึ่งๆ เราคิดถึงการทำทานหรือไม่? เราคิดถึงการทำทานกี่ครั้ง เราคิดถึงการรักษาศีลหรือไม่? และเราคิดถึงการทำสมาธิเพื่อฝึกหัดการทำใจให้สงบ ทำใจให้เบิกบาน แจ่มใสหรือไม่? คุณธรรมเหล่านี้แหละที่ควรทำให้มันแก่ขึ้นในใจของเรา

การทำทาน เป็นผลให้จิตใจอิ่มเอิบเบิกบาน การที่จิตใจอิ่มเอิบเบิกบานมันเป็นอายุ วรรณะ สุขะ พละ ตรงนั้นแหละจิตใจเบิกบานแล้วกายมันก็เบิกบาน สุขะ มันเกิดขึ้น วรรณะมันก็เกิดขึ้นมาด้วยกัน มีความอิ่มอกอิ่มใจในการที่เราทำบุญทำทานวันหนึ่งๆ เราทำทาน มันอิ่มใจขึ้นมาทุกวัน ก็ได้ชื่อว่าเป็นของเราแล้วอันนั้น

การรักษาศีล ศีลเรามีกี่ตัวในตัวของเรา ศีล 5 ได้แก่
1) เจตนางดเว้นจากการฆ่า
2) เจตนางดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
3) เจตนาเว้นจากการประพฤติผิดมิจฉาจาร
4) เจตนางดเว้นจากการกล่าวเท็จ กล่าวคำไม่จริง
5) เจตนางดเว้นจากการดื่มสุรายาเมา

เรามีศีล 5 ข้อครบไหมในตัวของเรา ถ้าไม่ครบก็ทำให้ครบขึ้นมา สมมติว่าปีนี้มีแล้ว 1 ตัว ปีหน้าต้องมีอีก 1 ตัว ก็ได้ศีล 2 ตัวแล้ว ปีต่อไปก็ได้ศีล 3 ตัว ปีต่อๆ ไปก็มีศีล 4 ตัว 5 ตัว 5 ปี เราก็ได้ศีลครบบริบูรณ์ในตัวของเรา อันนั้นแหละจิตใจเจริญขึ้น มันแก่ขึ้น ครั้นมีศีลครบบริบูรณ์แล้ว ใจก็อิ่มเอิบเบิกบาน มีความสุข มี สุขะ วรรณะ มันก็เกิดขึ้นมา พละก็มีขึ้นทั้งกำลังกายกำลังใจ มันก็มีอายุ ทำให้อายุยืนได้เหมือนกัน ตกลงมีครบบริบูรณ์แล้ว

คนมีศีล 5 บริบูรณ์ทำให้อายุยืนได้ อย่างเช่นในสมัยหนึ่งตระกูลของธรรมบาลนั้นเขารักษาศีล 5 หมดทุกคน ในตระกูลของเขานั้นถ้าคนอายุไม่ถึง 100 ปี ไม่ตาย ธรรมบาลไปเรียนหนังสือในทิศาปาโมกข์ เห็นเด็กคนอื่นตาย ญาติพี่น้องพ่อแม่มาร้องไห้

ธรรมบาลเห็นแล้วก็หัวเราะ คนถามว่า “ทำไมจึงหัวเราะ” ธรรมบาลตอบว่า “คนในตระกูลของฉันนั้นอายุยังไม่ถึง 100 ปี ไม่ตายหรอก”

ครูของธรรมบาลก็มาคิดดู เอ! มันจะเป็นจริงได้หรือ? จึงทำอุบายเอากระดูกแพะมาเผาแล้วห่อผ้านำไปให้พ่อแม่ของธรรมบาล ร้องไห้ร้องห่มไป เมื่อถึงบ้านก็ร้องไห้อีก พ่อแม่ของธรรมบาลถาม “ร้องไห้เรื่องอะไร?” ครูตอบว่า “ที่ท่านเอาลูกไปฝากไว้ในสำนักของข้าพเจ้านั้น ลูกของท่านตายแล้ว” พ่อแม่ของธรรมบาลก็หัวเราะอีก ครูถามว่า “ทำไมท่านหัวเราะ?” ตอบว่า “ลูกฉันไม่ได้ตาย กระดูกนี้ไม่ใช่กระดูกของลูกของฉัน อายุของเขายังไม่ถึง 100 ปี ลูกของฉันยังไม่ตายหรอก” ครูก็แจ้งชัดขึ้นมาในใจว่า โอ! ตระกูลนี้เป็นอย่างนี้จริงๆ

นั่นแหละการรักษาศีล 5 ให้ครบมูลบริบูรณ์ มีอายุยืนนานได้เหมือนกัน ลองดู แม้อายุจะไม่ถึง 100 ปี แต่มีอายุยาวนานกว่าปกติธรรมดา การรักษาศีลทำให้อายุยืน เพราะมันทำให้จิตใจแจ่มใสเบิกบาน ไม่คิดถึงสิ่งทั้งปวงหมด เมื่อเรามีศีล 5 ครบบริบูรณ์ ก็ไม่มีการฆ่าสัตว์, ไม่มีการลักขโมยของคนอื่น ฯลฯ คือ ความชั่วไม่เกิดขึ้นในตัวของตน จิตใจมันก็ผ่องใสเบิกบาน อายุยืนยาวนานเท่านั้นเอง

จึงควรตื่นอย่างนี้ ตื่นความดีของเราดีกว่าว่า เราได้ทำดีแล้ว แต่ก่อนไม่เคยมีศีล 5 เวลานี้เรามีแล้ว ตื่นอันนี้แหละดีกว่าตื่นธรรมดา ที่เขาตื่นปีใหม่กันในบ้านในเมืองนั้น อันที่เขาตื่นเต้นนั้นมันตรงกันข้ามกับที่อธิบายมานี้ ตื่นมากินเหล้าเมาสุรา เฮฮากันไปทั่วทุกแห่งหน เสียทรัพย์สินเงินทอง กระโดดโลดโผน ในที่สุดขับรถขับราไปเที่ยวเลยรถคว่ำ หรือเกิดทะเลาะวิวาททุ่มเถียงตีกัน เลยหัวร้างข้างแตก บางทีถึงกับตาย ปีหนึ่งๆ คนตายเพราะตื่นเต้นปีใหม่นั้นจำนวนเท่าใด? อย่างนั้นไม่ได้ตื่นในตัวของเรา มันตื่นของภายนอก มันเลยหลงลืมตัวไป เพลิดเพลินมัวเมาไป ทีนี้เลยไม่ตื่นในตัวของเรา มันเป็นอย่างนั้นแหละ

ดังนั้น ความตื่นในตัวของเรานั้นเป็นของดีมาก เป็นเหตุให้รู้สึกตื่นตัว ทำความดีทั้งทางกายและทางใจ อย่างเช่นเราไม่เคยมีศีลเลยสักตัว ปีนี้เอาให้มันได้ศีลตัวหนึ่ง ปีต่อไปได้อีกเป็น 2 ตัว พอ 4 ปี 5 ปี ก็ได้ศีล 5 ครบบริบูรณ์ ก็มีความอุ่นใจแล้วสบายใจแล้วคราวนี้

เมื่อมีศีล สมบูรณ์แล้ว ต่อไปก็ตื่นทำสมาธิ หัดทำสมาธิภาวนา จิตใจยังไม่เป็นสมาธิ ก็หัดให้เป็นสมาธิ จิตใจแน่วแน่สงบลงเป็นหนึ่ง มันยังไม่ทันเป็นจึงต้องหัด หัดให้เป็นภาวนาปีนี้ได้แค่นี้ ปีหน้าให้ได้ต่อจากนี้ไปอีก ทำสมาธิให้ได้แน่วแน่ ปีต่อไปให้ได้ชำนิชำนาญกว่านี้อีก ปีนี้มันได้บ้างไม่ได้บ้าง มันส่งส่ายวอกแวกไปมาสารพัดทุกอย่าง ทำทีแรกเป็นอย่างนั้นก็ดีอยู่เราเห็นจิต ดีกว่าไม่เคยเห็นจิตเสียเลย ทีหลังต่อไปให้มันแน่วแน่ลงไป ปีหนึ่งทำสมาธิให้ได้สักครั้งหนึ่งก็ยังดีอยู่ดีกว่าที่เราอยู่เฉยๆ ไม่ได้หัดสมาธิเลย

ไม่ทราบว่าเกิดมากี่ภพกี่ชาติ ยังไม่เคยทำสมาธิสักที ชาตินี้ทำให้มันได้สักครั้งหนึ่ง ก็ยังนับว่าดีอยู่ ปีต่อไปก็หัดให้มันได้บ่อยเข้า หัดให้มันชำนิชำนาญคล่องแคล่วเข้า ทำให้มันได้เป็นขั้นเป็นตอนไป จนกระทั่งมันชำนาญทำเวลาใดให้มันได้เวลานั้น อันนั้นเรียกว่าต่ออายุ ต่อวรรณะ สุขะ พละ ขึ้นไป นี่แหละของที่ควรตื่น ควรตื่นทำสมาธิภาวนา

ถ้าหากไม่เช่นนั้นจิตใจของเรามันอยู่เสมอภาค อยู่เสมอเก่า ลองคิดดูคนเรานั้นจะเป็นคนแก่หรือคนหนุ่มก็ตาม จะมองเห็นได้ง่ายๆ ว่าจิตใจไม่รู้จักแก่ ในเวลาเราฝันจะรู้จักหรอกว่ามันแก่หรือไม่แก่ในตัวของเรา จิตใจมันยังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ แต่ภายนอกนั้นคนอื่นเห็นกันหมดแล้วว่าแก่พอแล้ว เขาเรียกว่าตา ว่ายาย ว่าป้า ว่าลุง อะไรต่างๆ ร่างกายมันแก่เขาจึงเรียกว่า ป้า ว่าลุง ว่าตา ว่ายาย เขาเห็นกันหมดทั้งเมืองว่าแก่ แต่ในใจไม่มีใครเห็นหรอก ตัวเราเองเห็นง่ายๆ ทีเดียว เวลาฝันยังหนุ่มฟ้ออยู่ทุกคน ไม่ทราบว่ามันเป็นอย่างไร มันถึงไม่แก่ หัดให้มันแก่บ้างซิ ร่างกายแก่ขึ้นมาแล้ว ก็หัดจิตหัดใจให้มันแก่อย่างเขาบ้าง จิตใจนี้ถ้าหากไม่หัด มันก็ไม่แก่เองสักทีหรอก

ทางโลกนั้น สิ่งใดเกิดมามันแก่หมดทุกสิ่งทุกอย่าง ลูกหมากผลไม้มันก็แก่ไปตามกาลเวลาของมัน แต่คนนี่จิตใจไม่มีแก่เลย
เป็นหนุ่มอยู่ตลอดเวลา เหตุนั้นคนตายไปจิตใจก็อยู่สภาพเดิมของมัน ถึงไปเกิดใหม่รูปร่างเป็นเด็กเล็ก แต่จิตใจมันก็เท่าเก่า
มีโลภ โกรธ หลง เท่าเก่า เดี๋ยวนี้เราเป็นอุบาสก-อุบาสิกา เป็นพระเป็นเณร อันนี้มันแก่ขึ้นมาแล้ว ไม่เป็นฆราวาสอย่างเก่า
เมื่อเราเป็นอุบาสก-อุบาสิกา มันก็ไม่เพลิดเพลินลุ่มหลงอย่างเขา ทำอะไรก็ระมัดระวังอยู่ในขอบเขตของศีลธรรม อันนั้น
แหละใจมันแก่ขึ้นมาแล้ว

หัดทำสมาธิภาวนาให้มันได้ให้มันเป็น อย่าเป็นแต่คนหนุ่มเรื่อยไป ทำให้มันแก่ขึ้นมาหน่อย เมื่อมันแก่ขึ้นมาอย่างที่อธิบายให้ฟังแล้ว มันจะพ้นทุกข์แล้วคราวนี้ เปรียบได้กับลูกไม้ผลไม้เกิดมาทีแรกมันยังดิบๆ อยู่ ยังอ่อนอยู่ เช่น มะม่วงพอออกมาเป็นลูกเล็กนิดเดียว ลองไปชิมดูซิขมจัดทีเดียว ครั้นแก่ขึ้นมาก็ค่อยฝาดขึ้น แก่ขึ้นมาอีกก็ค่อยมีรสมันขึ้นมาหน่อยรสฝาดก็หลุดร่วงลงไป หมดสภาพของลูกไม้ที่ยังสดๆ มันก็หวานนะซี มันควรที่จะหวานมันก็หวาน อย่างนั้นมันแก่หมดสภาพไป

ส่วนคนเราเมื่อแก่เข้าอายุมากเข้า ถ้าหากว่าเราไม่ฝึกหัดอบรมจิตใจของคนเราไม่มีแปรสภาพเลย ยังมิหนำซ้ำมันเลวร้ายไปกว่านั้นอีก กลับไปเป็นเด็กอีก คนแก่คนเฒ่าเลยไม่รู้จักแก่เฒ่า กลับเป็นเด็กไปเสียอีก

นี่พูดถึงเรื่องปีใหม่ ที่เขาสมมติบัญญัติว่าปีใหม่ แท้จริงไม่ใช่ของใหม่หรอก ของเก่านั่นแหละ ตะวันขึ้นก็ของเก่า ตะวันตกก็ของเก่า วันหนึ่งๆ ก็คือตะวันขึ้นจนถึงตะวันตก เรียกว่า วันหนึ่ง แล้วมันก็มากำหนดจดจำกันว่า 30 วันก็เป็น 1 เดือน 12 เดือนก็เป็นปีหนึ่ง อันที่จริงก็เท่าเก่านั่นแล้ว ตะวันขึ้นแล้วก็ตะวันตก

สมมติบัญญัติไปเท่าไรๆ มันก็ของเก่า ส่วนที่เป็นของจริงนั้นมันคร่าชีวิตอายุของเราต่างหาก อายุชีวิตของเรามันหมดไปๆคำปริศนาโบราณท่านว่าไว้ “ยักษ์ตนหนึ่งมีตาสองข้าง ข้างหนึ่งริบหรี่ ข้างหนึ่งลืมโพลง มีฟันอยู่ 30 ซี่ บดเคี้ยวกินสัตว์
หมดปฐพี” ท่านว่าอย่างนั้น “ตาข้างหนึ่งริบหรี่ข้างหนึ่งลืมโพลง” ท่านหมายถึงเดือนดับและเดือนเพ็ญนั้นเอง “มีฟัน 30
ซี่” ก็คือมี 30 วัน คือ 1 เดือน “เคี้ยวกินสัตว์หมดปฐพี” ทุกคนต้องเป็นอย่างนั้น ยักษ์ตนนี้กินหมด คนไหนเกิดขึ้นมามันก็
เคี้ยวกินหมดทุกๆ คน หมายความว่าอายุหมดไปสิ้นไป แต่เราไม่รู้ตัว เอาละเท่านั้นแหละ เอวํ ฯ