posttoday

จบศาสนกิจ :  5 ปีที่รอคอย           

17 พฤศจิกายน 2562

การลงนามข้อตกลงร่วมหรือ MOU ระหว่างวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกับ มหาวิทยาลัยรามัญรัฎฐะแห่งคณะสงฆ์รามัญนิกาย เป็นไปด้วยความเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน

โดย..อุทัย มณี (เปรียญ)

การลงนามข้อตกลงร่วมหรือ MOU ระหว่างวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกับ มหาวิทยาลัยรามัญรัฎฐะแห่งคณะสงฆ์รามัญนิกาย เป็นไปด้วยความเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

จบศาสนกิจ :  5 ปีที่รอคอย           

ในฐานะผู้ประสานงานให้เกิดงานนี้มาประมาณ 5 ปี ผู้เขียนใช้ความอดทนและพยายามอย่างยิ่งในการที่จะประสานงานกับคณะสงฆ์รามัญนิกายหรือคณะสงฆ์มอญ ตลอดระยะเวลา 5 ปี ในการทำงานเกิดความท้อแท้หลายครั้ง เนื่องจากผู้เขียนชินกับคณะสงฆ์ไทยที่ทำงานด้วยความฉับไว คิดบวก มองไปข้างหน้า เดินไปตามกรอบที่วางเอาไว้ ผิดกับคณะสงฆ์มอญที่ไม่ชินเกี่ยวกับศาสตร์สมัยใหม่ ทำงานในเชิงระบบไม่เป็นและมีความระแวงกับบุคคลภายนอกสูง แต่โชคดีสุดท้ายได้ชมรมพระนิสิตมอญที่เรียนอยู่ที่มหาจุฬาฯ มาช่วยประสานและทำงานร่วมกัน ได้ผู้บริหารมหาจุฬา ฯ ร่วมผลักดันเต็มที่ สุดท้ายกิจกรรมประวัติศาสตร์นี้ก็จบลงด้วยความพอใจของทั้งสองฝ่าย

หลังจากจบงานนี้แล้วในฐานะ “ผู้ก่อสร้างสะพานเชื่อม” ตั้งใจเอาไว้ว่าจะหยุดพักแล้วมอบภารกิจงานทั้งหมดทั้งเรื่องระหว่างมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองที่จะทำงานต่อไปตามข้อตกลงที่ลงนามร่วมกันไว้ รวมทั้งเรื่องกิจกรรมงานวิสาขบูชาที่มีคณะสงฆ์มอญกับคณบดีมอญมาร่วมเป็นประจำทุกปีให้กับชมรมพระนิสิตมอญ มหาจุฬา ฯ รับช่วงต่อไป

จบศาสนกิจ :  5 ปีที่รอคอย           

แต่ก่อนกลับ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาจุฬาฯ ได้ปรารภก่อนขึ้นเครื่องว่า “อยากเห็นโครงสร้าง บทบาทของผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์มอญที่ชัดเจน พร้อมกับร่วมกันทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยสงฆ์มอญระยะ 5 ปี ฝากอาจารย์อุทัยด้วย ซึ่งมหาจุฬา ฯยินดีช่วย โดยไปเขียนแผนทำ คิดร่วมกันที่ มหาจุฬาฯ วังน้อยเลย และปีหน้า วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติหรือ IBSC จะส่งพระนิสิตทั้งมหายาน วัชรยานมาฝึกงานที่มหาวิทยาลัยสงฆ์มอญ เพื่อจะได้เป็นเครือข่ายกันในอนาคต ”

และตั้งใจเอาไว้ว่าประมาณปลาย ๆ เดือนกุมภาพันธ์จะเดินทางไปยังรัฐมอญอีกครั้งเพื่อไปถวายภัตตาหารและอุปถัมภ์การสอบภาษาบาลีมอญ ที่มีพระภิกษุ สามเณร แม่ชี ร่วมสอบเกือบ 2 พันรูป เหตุผลที่ต้องการจะไป เนื่องจากวันเดินทางไปร่วมกิจกรรมเซ็น MOU ครั้งนี้ เจอ พระเทพปริยัติโมลี เจ้าสำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม ซึ่งเป็นสำนักเรียนบาลีอันดับหนึ่งของประเทศไทย

จบศาสนกิจ :  5 ปีที่รอคอย           

หลังจากเล่าวัตถุประสงค์ของการเดินทางมาคราวนี้แล้ว ก็ยังเล่าต่อให้ท่านฟังว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้วเคยเดินทางมากับ พระศรีสุทธิเวที เลขานุการเจ้าคณะภาค 9 วัดอรุณราชวราราม มาถวายผ้าไตรและถวายภัตตาหารเพลกับพระภิกษุ สามเณร ที่สอบบาลี ซึ่งเป็นคณะสงฆ์นิกายเดียวในพม่า ที่รัฐบาลพม่าอนุญาตให้เรียนและสอบด้วยภาษาของตัวเอง เจ้าคุณพระเทพปริยัติโมลี สอบถามด้วยความสนใจ สุดท้ายก่อนจากกันท่านทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “ปีหน้าหากมาอีกบอกด้วย อยากจะมาดูการสอบบาลีของคณะสงฆ์รามัญนิกาย เผื่อเขาขาดอะไรเราจะได้ช่วยเขาได้บ้าง..”

และหลังจากเซ็น MOU กลับมาประเทศไทยแล้ว พระศีลาจาระ หรือในหมู่มอญเรียกท่านว่า “ตะละกุ้นแหม่ะ” ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรามัญญะรัฎฐะ ของคณะสงฆ์รามัญนิกาย พระคุณเจ้าโทรมาขอบคุณอนุโมทนาบุญกับศาสนกิจคราวนี้ที่ลุล่วงไปด้วยดี “พร้อมกับทิ้งท้ายว่า อย่าทิ้งกัน เพราะหากไม่มีคณะสงฆ์ไทย มอญเมืองไทยร่วมผลักดัน การเดินหน้าต่อไปลำบาก เพราะปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงฆ์มอญพร้อมแต่สถานที่ ทั้งเงิน บุคลากรและการบริหารจัดการยังไม่พร้อม”

จบศาสนกิจ :  5 ปีที่รอคอย           

เดิมทีผู้เขียนตั้งใจจะหยุดแล้วจะอยู่แค่ “เบื้องหลัง” เพราะตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พยายามเชื่อมประสานเอง ออกความคิดเอง ทำเอกสารเอง รวมทั้งออกค่าใช้จ่ายเอง ด้วยคิดว่า เราทำเพื่อตอบแทนบุญคุณพระพุทธศาสนา ตอบแทนบุญคุณชาวพุทธที่เลี้ยงเรามาสมัยบวชเรียน และในฐานะเป็นคนมอญก็อยากจะพัฒนาบุคลากรของชาติพันธุ์ตัวเองผ่านคณะสงฆ์มอญ ซึ่งถือว่าเป็น จุดศูนย์กลางของพลเมืองมอญในประเทศเมียนมา

สุดท้ายความตั้งใจที่อยากจะถอยอยู่เบื้องหลัง สุดท้ายความตั้งใจที่อยากจะหยุด งานเกี่ยวกับคณะสงฆ์มอญเพื่อเชื่อมกับคณะสงฆ์ไทย รวมทั้งกิจกรรมอื่น ๆ ที่ผู้เขียนทำอยู่เกี่ยวกับกิจกรรมชาติพันธุ์มอญผ่านมูลนิธิรามัญรักษ์ มันก็ยังคาราคาซัง..เหมือนเพลงน้าเบิร์ดที่ว่า กลับตัวก็ไม่ได้ ...ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง...เหมือนมีอะไรที่ดึง...ไม่ให้เราเลือกทางใด..แต่สุดท้ายในฐานะปุถุชนคนมีครอบครัวคงเลือกทางเดินได้ไม่ยาก ??

จบศาสนกิจ :  5 ปีที่รอคอย