posttoday

สมเด็จวัดเกศไชโยพิมพ์ 7 ชั้นไหล่ตรง และจุดพิจารณาสำคัญ

12 พฤศจิกายน 2562

พระชุดสมเด็จวัดเกศไชโยนี้ได้รับการยอมรับ นับตั้งแต่เปิดกรุออกมาจากวัดบางขุนพรหม สมเด็จวัดเกศไชโยก็เริ่มเป็นที่ยอมรับของนักสะสม เริ่มมีการเช่าหากันอย่างกว้างขวาง

โดย อาจารย์ชวินทร์ [email protected]

พระเครื่องสมเด็จวัดเกศไชโย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ กรอบกระจก อกร่อง หูบายศรี นอกจาก 3 พิมพ์ที่เป็นที่ต้องการของนักสะสมพระเครื่องคือ พิมพ์ 7 ชั้นนิยม ,พิมพ์ 6 ชั้นอกตัน และพิมพ์ 6 ชั้นอกตลอด ในยุคแรกนั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับของนักสะสม

จนกระทั่งพบเห็นในการเปิดกรุวัดบางขุนพรหมปี พ.ศ.2500 ถึงเริ่มเป็นที่ยอมรับว่าพระเครื่องสมเด็จพิมพ์เหล่านี้ เป็นของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) พรหมรังสี แห่งวัดระฆังเป็นผู้สร้าง

สมเด็จวัดเกศไชโยพิมพ์ 7 ชั้นไหล่ตรง และจุดพิจารณาสำคัญ

มาชมพระสมเด็จวัดเกศไชโยพิมพ์ 7 ชั้น ไหล่ตรงกันครับ อันเนื้อหามวลสารของสมเด็จวัดเกศไชโยนั้นมีหลายโซน ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อหาแก่ปูน มาลองชมและเทียบกับพระองค์นี้ ที่ผ่านการใช้งานมา สัมผัสกับเหงื่อเนื้อหามวลสารปรากฏออกมาจัดจ้านมาก เรียกกันว่าเนื้อตุ๊บตั๊บแบบเนื้อสมเด็จวัดระฆังทีเดียว

มาพิจารณาพิมพ์ทรงกันก่อน
1.พระเกศและเส้นคอจะเป็นเส้นตรง
2.ไหล่ตรงผึ่งผายวดวามเป็นที่มาของพิมพ์ไหล่ตรง
3.ข้อศอกทางซ้ายขององค์พระจะสูงกว่าข้อศอกทางขวาขององค์พระ
4.วงแขนฝั่งขวาขององค์พระจะมีพื้นที่มากกว่าวงแขนฝั่งซ้ายขององค์พระ
5.มุมเข่าขวาขององค์พระจะยกสูงกว่าเข่าซ้ายขององค์พระ
6.กรอบกระจกกับเส้นซุ้มด้านล่างจะเป็นเส้นเดียวกัน

สมเด็จวัดเกศไชโยพิมพ์ 7 ชั้นไหล่ตรง และจุดพิจารณาสำคัญ

ปกติแล้วพระพิมพ์นี้ฐานแต่ละชั้นขององค์พระฝั่งซ้ายปลายจะแหลม แต่พระองค์นี้ผ่านมาการใช้งาน ผ่านการสัมผัสมา มีสภาพการสึกหรอแต่ก็ยังมีเค้าโครงอยู่ มาส่องอย่างละเอียดจะเห็นมวลสารจุดแดง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นอิฐแดงของพระทุ่งเศรษฐี กำแพงเพชรและจุดดำซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นก้านธูปหรือใบลานเผาและนำมาเป็นส่วนผสมเหมือนพระสมเด็จวัดระฆังครับ

ไล่ส่องไปก็พบเห็นการยุบตัวเป็นธรรมชาติของพื้นผิวพระ พบเห็นก้อนมวลสารและมวลสารอื่นกระจายตัวอยู่ทั้งองค์ดั่งที่กล่าวมาข้างต้นว่าเหมือนเนื้อหาของสมเด็จวัดระฆังนั่นเอง หากพบเจอพระสมเด็จวัดเกศไชโยที่มีเนื้อหาแบบนี้ อย่าปล่อยให้ผ่านมือไปครับ

ส่องดูด้านข้างและด้านหลัง พบมวลสารกระจายตัวและปรากฏรูพรุนจากมวลสารที่เป็นอินทรีย์สารย่อยสลายไป เหลือไว้แต่หย่อมของน้ำมันตังอิ๊วที่เป็นตัวประสานของเนื้อพระเป็นหย่อม กระจายไปอันเป็นเอกลักษณ์ของสมเด็จวัดเกศไชโย หย่อมนี้ภาษาเซียนพระมักจะเรียกว่า “เนื้อเน่า”

มีบันทึกกล่าวไว้ว่า ในอดีตแรกเริ่มที่วัดเกศไชโย เริ่มพบเห็นที่วัดโพธิ์เกรียบ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ในสมัยที่พระครูรอด เป็นเจ้าอาวาสนั้น ในวงการพระเครื่องยังสับสนมากว่า พระเครื่องชุดนี้ใครเป็นผู้สร้าง

จากนั้นได้มีการสืบเสาะจนได้ความว่า พระพิมพ์สมเด็จวัดเกศไชโยนี้ พระครูรอด เจ้าอาวาสในสมัยนั้นได้นำมาจากวัดไชโย ซึ่งพระครูรอดสนิทสนมและไปมาหาสู่กับเจ้าอาวาสวัดไชโยในขณะนั้น

สมเด็จวัดเกศไชโยพิมพ์ 7 ชั้นไหล่ตรง และจุดพิจารณาสำคัญ

ต่อมาในปี พ.ศ.2478 ศาลาวัดโพธิ์เกรียบเกิดพังลง พระครูรอดยังได้นำพระพิมพ์สมเด็จวัดเกศไชโยนี้มาแจกชาวบ้าน ที่มาร่วมกันบูรณะศาลาขึ้นมาใหม่ และนอกจากนี้ก่อนพระครูรอดจะมรณภาพ ก็ได้มอบพระพิมพ์สมเด็จวัดเกศไชโยนี้แก่หลานสาว ซึ่งหลานสาวท่านได้นำมาให้เช่าบูชาต่อหลังจากท่านมรณภาพไป

พระชุดสมเด็จวัดเกศไชโยนี้ได้รับการยอมรับ นับตั้งแต่เปิดกรุออกมาจากวัดบางขุนพรหม สมเด็จวัดเกศไชโยก็เริ่มเป็นที่ยอมรับของนักสะสม เริ่มมีการเช่าหากันอย่างกว้างขวาง

กระทั่งอาจารย์ประชุม กาญจนวัฒน์ได้บันทึกไว้ในหนังสือสามสมเด็จว่า การได้เห็นพระมากแบบจากพิมพ์ 6 ชั้น ที่ลือกันว่าเป็นสมเด็จของวัดโพธิ์เกรียบ ที่ผู้สร้างนิรนามแล้วนั้น ทั้งเนื้อและความเก่าก็คงตกอยู่ในสภาพไม่ผิดกับพิมพ์ 7 ชั้นที่นิยมกันเลย (พิมพ์ 6 ชั้นที่เนื้อจัดมีฝ้ากรุหุ้มเป็นชั้น สีอมเหลืองมีน้อยมาก)

นอกจากนั้นลักษณะการลีลาของพิมพ์ก็ดี การมีขอบกระจก อันเป็นเอกลักษณ์ของสมเด็จวัดเกศไชโยก็ดี รวมทั้งเนื้อพระ ซึ่งใกล้เคียงกับพระสมเด็จวัดระฆังฯด้วยแล้ว ก็น่าจะยอมรับโดยดุษฏีว่า พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์ฐาน 6 ชั้นที่พากันข้องใจกันมานานแล้วว่าเป็น "สมเด็จของวัดโพธิ์เกรียบ" นั้น ที่จริงก็คือพระกรุเคลื่อนที่จากวัดไชโยวรวิหาร ซึ่งเป็นพระของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จโตสร้างไว้นั่นเอง

สมเด็จวัดเกศไชโยพิมพ์ 7 ชั้นไหล่ตรง และจุดพิจารณาสำคัญ