posttoday

เปิดคอลัมน์ “ธรรมะทอร์ค”  

22 กันยายน 2562

ผู้เขียนได้คุยกับพระคุณเจ้าหลายรูป ก็สรุปตรงกัน “ต้องการพื้นที่” ในการที่จะอธิบายปรากฎการณ์ทางสังคมในบางจังหวะ ในบางโอกาสผ่าน “สื่อสารมวลชน” ที่น่าเชื่อถือบ้าง

โดย อุทัย มณี (เปรียญ)

วันนี้คือวันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2562 เป็นวันหยุดของผู้คนส่วนใหญ่ เป็นวันพักผ่อนของผู้คนหลาย ๆ  ครอบครัว แต่ถือว่า เป็นวันสำคัญสำหรับตัวผู้เขียน เพราะเป็นวันเปิดตัวคอลัมน์ “ธรรรมะทอล์ค” ตอนแรก ซึ่งต่อจากนี้ไปตั้งใจไว้ว่า จะพบกับผู้อ่านทุกวันอาทิตย์ในเวปไซต์ข่าวของโพสต์ทูเดย์

เปิดคอลัมน์ “ธรรมะทอร์ค”  

เหตุผลที่ผู้เขียนของใช้ชื่อคอลัมน์ว่า “ธรรมะทอร์ค” มีความตั้งใจว่า ต้องการไปพูดคุยกับพระสงฆ์ที่มีบทบาทต่าง ๆ ในสังคม ทั้งพระสายนักวิชาการ สายสังคมสงเคราะห์ สายพระเกจิ หรือแม้กระทั้งสายพระกรรมฐาน  รวมทั้งบางโอกาสจะวิเคราะห์ วิจารณ์ วิพากษ์ ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมสงฆ์ ด้วยเหตุและผล บางจังหวะก็อาจเล่าเกร็ดที่น่ารู้เกี่ยวกับสถาบันสงฆ์ หรือบางโอกาสก็อาจแนะนำวัด สำนักสงฆ์ที่ผู้เขียนคิดว่า ควรแนะนำ น่าเที่ยว สรุปทั้งหมดทั้งมวลชื่อ “ธรรมะทอร์ค” เป็นคอลัมน์เปิดกว้าง และหากท่านใดคิดว่าอยากจะเขียน อยากจะส่งบทความมาเผยแพร่ความรู้ ก็ยินดี

ปัจจุบันผู้เขียนมีอาชีพเป็นสื่อสารมวลชนอิสระ ผลิตรายการโทรทัศน์ มีธุรกิจเป็นของตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ทำงานช่วยเหลือสังคมผ่านมูลนิธิที่ตัวเองตั้งขึ้นไว้ด้วย ซึ่งอนาคตจะค่อย ๆ อธิบายเดียวไม่นานคงรู้ว่าทำอะไรบ้าง ส่วนอดีตเป็นนักบวชมาจากเด็กต่างจังหวัดที่ยากจนดิ้นรนจนจบเปรียญธรรม 7 ประโยค ต่อด้วย ปริญญาตรี 2 ใบสาขารัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แล้วไปจบด้วยปริญญาโท สาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ ที่ มหาวิทยาลัยเกริก หลังจากสิกขาออกมาแล้วก็ไปทำรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับทอล์ค ๆ นี้แหละที่ช่อง 11 อยู่ประมาณ 13 ปี แล้วก็เลิกไป ทำช่องอื่นหาประสบการณ์บ้าง

ด้วยในชีวิตมีประสบการณ์ทั้งทางพระและทางฆราวาส บางช่วง บางจังหวะของชีวิต มันเป็นเรื่องที่อยากจะเล่า อยากจะถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือ ยิ่งเรื่องพระพุทธศาสนา เรื่องพระสงฆ์ ท่ามกลางกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลง “ความศรัทธา ความเชื่อทางศาสนา” กำลังถูกท้ายทายด้วยเทคโนโลนีสมัยใหม่ คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นผู้เขียน 40 ต้น ๆ มักไปคนละทิศคนละทาง เมื่อพูดถึง ความเชื่อทางศาสนา ความศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา และศาสนวัตถุ  อันนี้ยังไม่ต้องพูดถึง ศิลปวัฒนธรรมประเพณี ของดีอันเป็นรากเหง้าสำคัญที่ทำให้สังคมไทยมีความรัก ความสามัคคีและมีอัตตลักษณ์เป็นของตนเอง เด็กรุ่นใหม่บางคนเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่คนรุ่นผู้เขียนมองว่า สิ่งเหล่านี้ทั้งก่อให้เกิดรายได้ และก่อให้เกิดความสุขความปราณีตของจิตใจด้วย ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมประเพณี จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สังคมไทยเราจะต้องรักษา ห่วงแหนเอาไว้ เพื่อเป็นมรดกตกทอดต่อไป

ในขณะเดียวกันนี้สถาบันสังฆ์เองผู้เขียนได้คุยกับพระคุณเจ้าหลายรูป ก็สรุปตรงกัน “ต้องการพื้นที่” ในการที่จะอธิบายปรากฎการณ์ทางสังคมในบางจังหวะ ในบางโอกาสผ่าน “สื่อสารมวลชน” ที่น่าเชื่อถือบ้าง

โดยเฉพาะหลายปีมานี้ สังคมพระสงฆ์ถูกจับตามาก ถูกขุดขุ้ยมาก ข่าวที่ออกไปสู่สังคมส่วนใหญ่ล้วนเป็นสิ่งบั่นทอนความศรัทธาปสาทะ สำหรับชาวพุทธที่ไม่หนักแน่นต่อธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือบางเนื้อข่าวอาจก่อให้เกิดความหวั่นไหวต่อพุทธบริษัทได้  คอลัมน์ธรรมะทอล์คจึงเกิดขึ้น เพื่อนำเสนอ สิ่งดี ๆ ข่าวดี ๆ ที่มีอยู่ในสถาบันสงฆ์ ที่เกิดขึ้นในสังคมชาวพุทธ หรือที่มีอยู่ในพระไตรปิฏกให้พุทธบริษัท หรือคนนอกศาสนารับรู้บ้าง อย่างน้อยเพื่อรักษาความศรัทธา ความเชื่อ ของศาสนาพุทธให้คงอยู่กับสังคมไทยไปนานตราบเท่านาน สมกับชาวโลกยกย่องให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนา..