posttoday

สถาบันโพธิคยาเตรียมจัดโครงการธรรมยาตรา 6 ประเทศ

10 พฤษภาคม 2562

โครงการธรรมยาตราทำเพื่อเปิดมุมมองเพิ่มในเรื่องพระพุทธศาสนาในประเทศที่เป็นเพื่อนกันมากขึ้น

โดย สมาน สุดโต

สถาบันโพธิคยาวิชาลัย 980 เตรียมจัดโครงการธรรมยาตรา 6 ประเทศ ในวันที่ 14-31 ต.ค. 2562 เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และความสามัคคีระหว่างชาวพุทธด้วยกัน แต่เพื่อการเตรียพร้อม จึงจัดส่งทีมงานและสื่อมวลชน ออกสำรวจเส้นทาง และสถานที่จะจัดกิจกรรม เริ่มวันที่ 8 - 20 พ.ค. 2562 โดยจะเดินทางไปในประเทศเป้าหมาย ที่ติดต่อและประสานงานไว้ล่วงหน้าบ้างแล้ว ได้แก่ ไทย จีน เมียนมา เวียดนาม สปป.ลาว และกัมพูชา

สถาบันโพธิคยาเตรียมจัดโครงการธรรมยาตรา 6 ประเทศ

ทีมงานสำรวจของสถาบันโพธิคยา 980 ประกอบด้วย เกษม มูลจันทร์, สุรพล มณีวงศ์, ธีรพจน์ รัตนเสถียร, ตวงศักดิ์ ชื่นสินธุวร, อันนา สุขสุกรี, พัชราภรณ์ พลายงาม, เอกรินทร์ ศรีโยธี, พัชรพงษ์ พันธ์สวัสดิ์ และ ผู้สื่อข่าวไทย และทีวีช่อง 5 กัมพูชา 2 คน

คณะทั้งหมดเดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงเทพมหานครไป จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2562 จากนั้นพบกับ นายสมศักดิ์ คณาคำ นายอำเภอแม่สาย เพื่อขอคำปรึกษาในเบื้องต้น ก่อนเดินทางเข้าสู่เชียงตุง ประเทศเมียนมา และประเทศอื่นๆ ในลำดับต่อไป

ตวงศักดิ์ ชื่นสินธุวร รายงานว่า ตามที่ สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 มอบหมายให้ เกษม มูลจันทร์ รองเลขาธิการฯ สุรพล มณีพงษ์ กรรมการฯ นำทีมสำรวจ โครงการธรรมยาตรา 6 แผ่นดินที่จะจัดขึ้นระหว่าง 14-31 ต.ค.2562 เพื่อเตรียมพร้อม และอำนวยความสะดวกแก่คณะธรรมยาตรา ซึ่งจะมีทั้งคณะสงฆ์ พุทธศาสนิกชน และสื่อมวลชน จาก 6 ประเทศร่วมเดินทาง จึงต้องสำรวจเส้นทาง พื้นที่ และความสะดวกด้านต่างๆ ไว้ก่อน

เส้นทาง และสถานที่ที่เป็นเป้าหมาย ที่จะสำรวจในวันที่ 8-20 พ.ค. 2562 ได้แก่พื้นที่ฝั่งไทย คือแม่สาย จ.เชียงราย จากนั้นเดินทางเข้าสู่ เชียงตุง ประเทศเมียนมา จาก เชียงตุง ประเทศเมียนมา เข้าสู่หลวงน้ำทา สปป.ลาว จากหลวงน้ำทา สปป.ลาว เข้าสู่สิบสองปันนา ประเทศจีน จากสิบสองปันนา ประเทศจีน กลับเข้าสู่เมืองขวา สปป.ลาว จากเมืองขวา สปป.ลาว เดินทางสู่เดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม จากเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม เดินทางเข้าเมืองไซ หลวงพระบาง วังเวียง และเวียงจันทน์ จากนั้นเดินทางจากเวียงจันทน์ สู่ จ.นครพนม เพื่อบูชาพระธาตุพนม จากพระธาตุพนม เดินทางไปจ.ศรีสะเกษ และ อุบลราชธานี และกลับกรุงเทพฯในวันที่ 20 พ.ค. 2562

สถาบันโพธิคยาเตรียมจัดโครงการธรรมยาตรา 6 ประเทศ

งานหลักของคณะสำรวจ คือเก็บข้อมูล 1.สถานที่เปิดงานและจัดพิธีทางศาสนาร่วมกับประชาคมท้องถิ่น 2.สถานที่สำคัญประจำเมืองนั้น ๆ จุดเยี่ยมชม สักการะ สามารถทำกิจกรรมได้ 3.ที่พักพระสงฆ์ และฆราวาส 4.การประสานงานด่านชายแดนแต่ละประเทศ 5.รถที่ใช้เดินทาง 6.อาหาร และจุดถวายภัตตาหารเพล 7.จุดพักรถ /ห้องน้ำ 8.กำหนดศาสนพิธี และกิจกรรมของแต่ละพื้นที่ (โดยหารือกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ของแต่ประเทศ)

ตวงศักดิ์ รายงานว่า คณะสำรวจ ได้เดินทางถึงเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศเมียนมาที่มีพระพุทธศาสนาและนิกายคล้ายกับประเทศไทย และมีความรุ่งเรืองมาก โดยมีวัด 300 วัด พระสงฆ์ (สามเณร) 2,000 กว่ารูป คณะสำรวจได้เข้านมัสการสมเด็จอาชญาธรรมพระเจ้า (ใส่แก้ว เขมจารี) สมเด็จพระสังฆราชา แห่งเมืองเชียงตุง (รัฐฉานตะวันออก) วัดหลวงเชียงยืน เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา และเชิญคณะสงฆ์ที่เชียงตุงเข้าร่วมกิจกรรมของธรรมยาตรา 6 แผ่นดินด้วย

สมเด็จอาชญาธรรม กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่มีการจัดกิจกรรมแบบนี้ทำให้พระพุทธศาสนาเข้มแข็งรวมตัวกันหลายๆ ประเทศ

สถาบันโพธิคยาเตรียมจัดโครงการธรรมยาตรา 6 ประเทศ

เกษม มูลจันทร์ รองเลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะสำรวจ กล่าวว่า การเดินทางครั้งนี้ เพื่อเปิดมุมมองเพิ่มในเรื่องพระพุทธศาสนาในประเทศที่เป็นเพื่อนกันมากขึ้น ดังนั้นธรรมยาตรา 6 ประเทศ จะมีประเทศจีนเพิ่มขึ้นมา ทำให้ครบทุกประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ที่นับถือพระพุทธศาสนาเหมือนกัน

สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ชมรมโพธิคยา 980 และมูลนิธิวีระภุชงค์ พร้อมหน่วยงานภาคี 5 ชาติ เคยจัดโครงการธรรมยาตรา เมื่อเดือน พ.ค.2560 ซึ่งเป็นครั้งแรก โดยมีประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศ เข้าร่วม เรียกว่า โครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยพระอริยสงฆ์แห่งลุ่มน้ำโขง
ครั้งนั้นผู้เข้าร่วมได้แก่ คณะสงฆ์ พุทธศาสนิกชน และสื่อมวลชน 5 ประเทศ เมื่อคณะธรรมยาตรา ผ่านประเทศใด ผู้นำรัฐบาล และคณะสงฆ์ และประชาชนในประเทศนั้นๆ ให้การต้อนรับด้วยความด้วยความปีติยินดี ซึ่งคณะธรรมยาตรามีความประทับใจยิ่ง เพราะไม่คาดคิดมาก่อน

สุภชัย วีระภุชงค์ เลชาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 กล่าวว่า โครงการธรรมยาตรา ครั้งที่ 2 ได้ติดต่อประสานงาน เเละเชิญคณะสงฆ์ และผู้แทนชาวพุทธของจีน ร่วมด้วย จึงเป็นโครงการธรรมยาตราของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา แห่งลุ่มน้ำโขง ที่สำคัญและสมบูรณ์ยิ่ง จึงมั่นใจว่าธรรมยาตราครั้งที่ 2 จะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับครั้งที่ 1 หรือ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

สถาบันโพธิคยาเตรียมจัดโครงการธรรมยาตรา 6 ประเทศ

สถาบันโพธิคยาเตรียมจัดโครงการธรรมยาตรา 6 ประเทศ

สถาบันโพธิคยาเตรียมจัดโครงการธรรมยาตรา 6 ประเทศ