posttoday

หลวงปู่ฝั้น วัดป่าอุดมสมพร

17 มีนาคม 2562

เรื่อง : เอกชัย จั่นทอง ในช่วงปี 2494 มีการปฏิสังขรณ์กุฏิวัดป่าภูธรพิทักษ์อย่างใหญ่โต แต่การก่อสร้างในครั้งนั้น หลวงปู่ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ไม่อนุญาตให้มีการเรี่ยไร หรือบอกบุญใคร แต่ถ้าหากมีผู้ศรัทธาจึงจะมีการก่อสร้าง ขณะนั้นตรงกับช่วงออกพรรษาในปีนั้น พระอาจารย์วิริยังค์ได้นิมนต์หลวงปู่ฝั้นและหลวงปู่กงมา เพื่อไปวัดดำรงธรรม อ.ขลุง จ.จันทบุรี ต่อจากนั้นท่านได้เดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ วิเวกตามเจตนาท่าน ที่ข้างๆ น้ำตกพลิ้วและที่อื่นอีกหลายแห่งเป็นระยะเวลานานกว่า 2 เดือน

เรื่อง : เอกชัย จั่นทอง

ในช่วงปี 2494 มีการปฏิสังขรณ์กุฏิวัดป่าภูธรพิทักษ์อย่างใหญ่โต แต่การก่อสร้างในครั้งนั้น หลวงปู่ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ไม่อนุญาตให้มีการเรี่ยไร หรือบอกบุญใคร แต่ถ้าหากมีผู้ศรัทธาจึงจะมีการก่อสร้าง ขณะนั้นตรงกับช่วงออกพรรษาในปีนั้น พระอาจารย์วิริยังค์ได้นิมนต์หลวงปู่ฝั้นและหลวงปู่กงมา เพื่อไปวัดดำรงธรรม อ.ขลุง จ.จันทบุรี ต่อจากนั้นท่านได้เดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ วิเวกตามเจตนาท่าน ที่ข้างๆ น้ำตกพลิ้วและที่อื่นอีกหลายแห่งเป็นระยะเวลานานกว่า 2 เดือน

ขากลับท่านได้แวะพักเหนื่อยที่วัดป่าบ้านฉาง 4-5 วัน พวกชาวไร่ชาวนากำลังเดือดร้อนอย่างหนักพอดี เนื่องจากมีตัวด้วงมากินยอดมะพร้าวจนกระทั่งมะพร้าวตายไปเป็นจำนวนมาก บางไร่บางสวนถึงกับต้องเผาต้นมะพร้าวทิ้งทั้งหมด เพราะทนไม่ไหวกับแมลงที่บุกกัดกินต้นมะพร้าวจนหมดเกลี้ยง สร้างความเดือดร้อนหนักอกหนักใจให้ชาวไร่ชาวสวนแถวนั้นอย่างมาก เนื่องจากไม่เคยเกิดเหตุการณ์เดือดร้อนวุ่นวายมากอย่างนี้มาก่อน ชาวไร่ที่ทำสวนมะพร้าวคนหนึ่งได้มากราบหลวงปู่ฝั้น ก่อนจะระบายความทุกข์ใจถึงปัญหาเรื่องแมลงด้วง พร้อมกับขอให้หลวงปู่ฝั้นช่วยเหลือเพราะหมดที่พึ่งจริงๆ ด้วยความเมตตาของหลวงปู่ฝั้น ท่านจึงได้ทำน้ำมนต์ให้ และมอบไม้แปรงสีฟันไปอีก 4-5 อัน พร้อมกำชับให้ภาวนาพุทโธ และเอาไม้แปรงสีฟันไปเหน็บไว้สี่มุมของไร่ จากนั้นให้รดน้ำมนต์ให้ทั่ว

ผ่านมาเพียง 2 วัน ชาวไร่ที่ทำสวนมะพร้าวกลับมากราบหลวงปู่ฝั้นอีกครั้ง ก่อนยกมือไหว้ท่วมหัว พร้อมกับบอกว่าความเดือดร้อนได้หายไปหมดแล้ว ไม่มีตัวแมลงหรือด้วงมากัดกินยอดมะพร้าวเหมือนเช่นเคย ถือว่าเป็นเรื่องแปลกอย่างยิ่งในขณะนั้น ไม่นานหลวงปู่ฝั้นออกเดินทางออกจากบ้านฉาง ก่อนที่ท่านจะแวะที่วัดอโศการามเพื่อเยี่ยมท่านพ่อลี และพักอยู่จนเข้าเดือน ก.พ. หลวงปู่ฝั้นจึงได้เดินทางกลับ จ.สกลนคร

หลวงปู่ฝั้นไม่ได้เดินทางไปสู่วัดป่าภูธรพิทักษ์ในทันที หากแต่มุ่งจะนำเรื่องสำคัญประชุมงานวันที่ระลึกคล้ายวันประชุมเพลิงพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าสุทธาวาส กระทั่งเสร็จกิจการประชุมจึงเดินทางเข้าสู่วัดป่าภูธรพิทักษ์ และพักอยู่ที่วัดแห่งนี้เพียง 2 สัปดาห์ ก่อนจะออกเดินทางปลีกวิเวกต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีการกำหนดเส้นทาง กระทั่งมุ่งหน้าสู่ถ้ำเป็ด อยู่ใกล้กับวัดของพระอาจารย์วัน อุตฺตโม ในเขตพื้นที่ อ.สว่างแดนดิน นับเป็นสถานที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติภาวนาธรรมอย่างยิ่ง หลวงปู่ฝั้นเลือกพักอยู่ที่ถ้ำเป็ดแห่งนี้นานหลายเดือน ก่อนจะสร้างกุฏิที่พักสงฆ์ขึ้นมาจำนวนหลายหลัง พร้อมทั้งศาลาเพื่อใช้สำหรับฉันอาหารอีกหนึ่งหลัง

ปัจจุบันถ้ำเป็ดถูกแยกออกมาขึ้นกับ อ.ส่องดาว มีการคมนาคมสะดวกสบายมากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาเดินเท้าเหมือนสมัยก่อน สมัยตอนที่หลวงปู่ฝั้นมาอยู่และพัฒนาถ้ำเป็ดใหม่ๆ ปรากฏว่ามีชาวบ้านละแวกนั้นซึ่งมีชีวิตความเป็นอยู่ขัดสนอัตคัดมาก ทำมาหากินค่อนข้างยาก หลวงปู่ฝั้นได้เมตตาอบรมสั่งสอนให้ชาวบ้านทุกคนมีความขยันหมั่นเพียรในทางที่ถูกต้อง โดยการทำประโยชน์ให้ทั้งส่วนรวมและส่วนตัว ให้เอาไปขุดอึ่งอ่าง เขียด กบ มาขุดสระน้ำ หันมาทำนา ทำสวน ปลูกพืชผัก และผลที่ตามมาคือความเป็นอยู่ของชาวบ้านค่อยๆ ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก

หลวงปู่ฝั้นอยู่ที่ถ้ำเป็ดจนเวลาใกล้เข้าพรรษา จึงได้ย้ายออกจากที่นั่นเพื่อเดินทางกลับไปจำพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์เหมือนเคย

ในช่วงบั้นปลายชีวิตของหลวงปู่ฝั้นท่านต้องเข้ารับการรักษาอาการอาพาธ ในปี 2519 ก่อนจะได้กลับไปพักฟื้นอยู่ที่วัดป่าอุดมสมพร จนถึงวันที่ 4 ม.ค. 2520 ท่านได้มรณภาพลงอย่างสงบ สร้างความโศกเศร้าเสียใจแก่ลูกศิษย์ไปทั่วประเทศ ทิ้งไว้เพียงความดีและหลักธรรมคำสอนอันล้ำค่าต่อสาธุชนรุ่นหลัง