posttoday

พระราชปริยัติกวี อธิการบดี มจร รูปที่ 6

29 กรกฎาคม 2561

ไม่ได้เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เมื่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

โดย วรธาร ทัดแก้ว ภาพ Fb ผ้าขี้ริ้ว ผ้าขี้ริ้ว

ไม่ได้เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เมื่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร ได้มีมติแต่งตั้ง พระราชปริยัติกวี ศ.ดร. (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ) รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และเลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มจร คนใหม่

ต่อจาก พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ที่ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมา 5 สมัย เพราะเจ้าคุณสมจินต์มีคุณสมบัติถึงพร้อมทุกอย่าง ทั้งความรู้ ความสามารถ ความเป็นนักวิชาการและนักบริหารที่ได้รับการยอมรับและความมีโดดเด่นกว่าใครๆ ในเวลานี้

ความเปลี่ยนแปลงตำแหน่งอธิการบดีครั้งนี้ สืบเนื่องจาก พระพรหมบัณฑิต ที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มจร มาครบวาระ 4 ปีของสมัยที่ 5 ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ ว่า ไม่ต้องการรับการสรรหาตำแหน่งอธิการบดีอีกต่อไป เนื่องจากเห็นว่าท่านได้ดำรงตำแหน่งมาเป็นเวลานาน 20 ปีแล้ว จึงอยากเห็น มจร เกิดการเปลี่ยนแปลง และคิดว่าโอกาสนี้เหมาะสมที่สุดที่จะวางมือให้ผู้อื่นที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารงานต่อ

จากมติของสภามหาวิทยาลัย มจร เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2561 ทำให้ พระราชปริยัติกวี (สมจินต์) ได้ก้าวขึ้นมาเป็นอธิการบดี มจร รูปที่ 6 โดย 5 รูปที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มจร ผ่านมา ประกอบด้วย

รูปแรก สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้นชุตินฺธโร) วัดสามพระยา (พ.ศ. 2490-2491)รูปที่ 2 สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณณกมหาเถร) วัดจักรวรรดิราชาวาส (พ.ศ. 2491-2496) รูปที่ 3 พระธรรมวรนายก (สมบูรณ์ จนฺทโก)วัดอุดมธานี จ.นครนายก (พ.ศ. 2496-2529)
พระราชรัตนโมลี ดร. (นคร เขมปาลี) วัดมหาธาตุ (พ.ศ. 2529-2540) รูปที่ 5 พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) วัดประยุรวงศาวาส (พ.ศ. 2540-2561)

บวชเรียนนักธรรม-บาลีและวิชาทางโลก

พระครูปริยัติกิตติธำรง, ผศ.ดร. คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มจร ได้เขียนเล่าประวัติพระราชปริยัติกวี (เมื่อครั้งเป็นพระศรีคัมภีรญาณ) ในหนังสือ 33 ปี คณะสังคมศาสตร์ มจร อ่านผลงานพระศรีคัมภีรญาณ ผ่านผลงานนิพนธ์ร่วมสมัย ศรีคัมภีรญาณวิชาการ โดยตั้งชื่อเรื่องว่า “อัตชีวประวัติ พระศรีคัมภีรญาณ, ศ.ดร. ที่ข้าพเจ้ารู้จัก” ไว้ค่อนข้างละเอียด เลยขอสรุปคร่าวๆ ดังนี้

พระราชปริยัติกวี นามเดิมว่า “สมยง” นามสกุล “วันจันทร์” ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “สมจินต์” ในปัจจุบัน เกิดเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2503 ณ บ้านกวางงอย ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์

พอจบ ป.4 (ขณะอายุ 12 ปี) ก็ได้บวชเรียนและสอบได้นักธรรมตรีที่วัดบ้านเกิด จากนั้นปี 2517 ได้ย้ายมาอยู่วัดเสาไห้ ต.เสาไห้ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี สอบได้นักธรรมโทและเอก ตามลำดับ ต่อมาปี 2519 ได้ย้ายไปอยู่วัดไชยชุมพลชนะสงคราม จ.กาญจนบุรี เพื่อเรียนบาลีและสามารถสอบได้ประโยค 1-2 ในปีนั้น

ปี 2520 ได้ย้ายมาอยู่วัดเพลงวิปัสสนา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ชั่วคราว ก่อนย้ายไปอยู่วัดทองพุ่มพวง ต.ปากเพรียว อ.เมือง จ.สระบุรี และสอบได้ประโยค ป.ธ.3 จากนั้นปี 2521 ได้ย้ายมาอยู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ถึงปัจจุบัน สอบ ป.ธ.4-8 ไม่เคยตก ส่วน ป.ธ.9 ปีแรกสอบไม่ผ่าน แต่ปีที่สอง (พ.ศ. 2528) ก็สอบได้เลย แสดงให้ว่าเป็นผู้ที่เรียนเก่งและมีความขยันตั้งใจอย่างมาก

ในปี 2525 หลังจากที่สอบได้ ป.ธ.7 ก็ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดปากน้ำ โดยมีพระธรรมธีรราชมหามุนี ปัจจุบันคือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากสอบได้ ป.ธ.9 ในปี 2528 ก็เริ่มหันมาเรียนวิชาการทางโลก ปี 2531 จบปริญญาตรี ศึกษาศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปี 2534 จบปริญญาโท สาขาพระพุทธศาสนา มจร จากนั้นเดินทางไปศึกษาปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย (Ph.D. (Pali & Buddhist Studies) BHU, India) และสำเร็จการศึกษาในปี 2537

ชีวิตการทำงาน

พระราชปริยัติกวี อธิการบดี มจร รูปที่ 6

ปี 2537 ได้เข้ามาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประจำกองวิชาการ มจร จากนั้นชีวิตการทำงานก็เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ โดยเป็นรักษาการผู้อำนวยการกองวิชาการ ต่อมาขึ้นเป็นผู้อำนวยการ เป็นรักษาการรองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย รักษาการคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยต่อมาปี 2541 เป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย (วาระที่ 1) ปี 2545 เป็นวาระที่ 2

จากนั้นปี 2549 เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และนั่งในตำแหน่งนี้อีก 2 วาระ ในปี 2553 และ 2557 โดยในปี 2557 นั้นนั่งรักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (รูปแรก) เป็นกรรมการและเลขานุการสภาวิชาการ มจร เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการประจำวิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ มจร และปี 2558-ปัจจุบัน ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง ล่าสุดปี 2561 ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มจร รูปที่ 6

สมณศักดิ์และตำแหน่งวิชาการ

ปี 2551 ได้รับโปรดเกล้าฯ ตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญที่ พระศรีคัมภีรญาณ ต่อมาปี 2559 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชปริยัติกวี ขณะที่ตำแหน่งทางวิชาการ ปี 2542 เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา สังกัดคณะพุทธศาสตร์ มจร ปี 2548 เป็นรองศาสตราจารย์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา สังกัดคณะพุทธศาสตร์ มจร และปี 2559 เป็นศาสตราจารย์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา สังกัดคณะพุทธศาสตร์ มจร

ผลงานทางวิชาการ

มีทั้งผลงานแปลและแต่งหนังสือทางวิชาการ อาทิ พัฒนาการแห่งพุทธจริยศาสตร์ พัฒนาการแห่งความคิดแบบอินเดียโบราณ กรรมและการเกิดใหม่ พุทธทัศนะเบื้องต้น ปรัชญาแห่งนาคารชุน พระพุทธศาสนามหายาน คัมภีร์วิมุตติมรรค ลังกาวตารสูตร บูรณาการพุทธธรรมเพื่อเสริมสร้างพลังบริหาร

ผลงานการเรียบเรียง เช่น คู่มือปฐมสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย คู่มือการเรียนการสอน วิชาแปลไทยเป็นมคธ ป.ธ.5 ประมวลการสอนธรรม โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน พระพุทธศาสนาในจีน ทิเบต เวียดนาม ญี่ปุ่น กฎแห่งความรัก (ปรัชญาความรักในพระพุทธศาสนา)

บทความทางวิชาการ อาทิ บทวิเคราะห์วัชรยาน ตอนที่ 1-5 (บทความทางวิชาการ) นาคารชุนกับปัญหาว่าด้วยกาล ภาวะและอภาวะ แนะนำพระวินัยปิฎก ปรัชญามาธยมิกะ สืบค้นตรรกวิทยาในพระไตรปิฎกและวรรณกรรมพระพุทธศาสนา วิพากษ์ทางสายกลางของอริสโตเติลกับมัชฌิมาปฏิปทาในพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นต้น

งานวิจัย เช่น การศึกษาวิเคราะห์หลักจริยศาสตร์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา พจนานุกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บูรณาการพุทธธรรมเพื่อเพิ่มพลังบริหาร