posttoday

ร่าง พรบ.สงฆ์ บนความกังวลของชาวพุทธ

01 กรกฎาคม 2561

จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและพระสงฆ์ผ่านทางเว็บไซต์

โดย...วรธาร ทัดแก้ว ภาพ พรพรหม สาตราภัย

จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและพระสงฆ์ผ่านทางเว็บไซต์ www.krisdika.go.th เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ในประเด็นเกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เจ้าคณะใหญ่หนต่างๆ และเจ้าคณะภาค ให้เป็นพระราชอำนาจ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่พระสงฆ์ นักวิชาการพระพุทธศาสนา และองค์กรพุทธต่างๆ ปรากฏว่ามีทั้งสนับสนุนและไม่เห็นด้วย การรับฟังความคิดเห็นได้สิ้นสุดเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.

ล่าสุดวันที่ 28 มิ.ย. สำนักงานคณะกรรมการได้รับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช ผู้แทนมหาเถรสมาคม สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างดังกล่าวแล้ว โดยได้นำมาประกอบการพิจารณา เห็นว่า บทบัญญัติที่กําหนดให้พระมหากษัตริย์ มีพระราชอํานาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอน สมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ รวมถึงการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคมนั้น เป็นพระราชอํานาจมาแต่โบราณกาลตามโบราณราชประเพณี ซึ่งรัฐธรรมนูญตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันได้บัญญัติรับรองไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก จึงเป็นพระราชอํานาจที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่พระราชภาระที่กําหนดขึ้นเพิ่มเติมแต่ประการใด ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) จึงได้แก้ไขถ้อยคําให้เหมาะสมยิ่งขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหมายดังกล่าว

ขณะที่ความคิดเห็นของพระภิกษุและประชาชนทั่วไปให้ความเห็นว่า ไม่ควรให้นักการเมืองมีอํานาจในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม เนื่องจากนักการเมืองอาจใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาแล้ว เห็นว่าการที่กําหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการเป็นบทบัญญัติที่จะต้องกําหนดขึ้นในกรณีที่พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการ ซึ่งจําเป็นต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเช่นเดียวกับกฎหมายทั่วไปที่ได้กําหนดให้มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน

เกี่ยวกับประเด็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ น.อ.ทองย้อย แสงสินชัย อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่สำนักงานคณะกรรมการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้น่าสนใจและน่าขบคิดอย่างยิ่ง

“หลักการใหม่นั้นสำคัญมากอยากจะให้อ่านแล้วคิดหลายๆ ชั้น หลักการก็คือ ‘ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้ง’ อันนี้เป็นภาษากฎหมาย ต้องระวังให้ดี ตามตัวหนังสือนั้น ‘พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง’ แต่ตามข้อเท็จจริงหรือเวลาปฏิบัติจริงๆ พระมหากษัตริย์หาได้ทรงคัดสรรตัวบุคคลด้วยพระองค์เองไม่ ผู้มีบทบาทมีอำนาจคัดสรรตัวบุคคลตัวจริงก็คือ ‘ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ’ ซึ่งในที่นี้ระบุไว้ชัดว่าคือ ‘นายกรัฐมนตรี’ ดังนั้น ผู้คัดสรรตัวบุคคลตัวจริงก็คือนายกรัฐมนตรี ถ้าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่จะแก้ไขเพิ่มเติมนี้ผ่าน นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้คัดสรรพระภิกษุที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ และเจ้าคณะภาค เพื่อทูลเกล้าฯ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ‘แต่งตั้ง’ ตามภาษากฎหมาย

โปรดสังเกตว่า ตาม ‘หลักการใหม่’ นี้จำกัดพระสังฆาธิการระดับปกครองไว้เพียงเจ้าคณะภาค คือไม่รวมลงไปถึงเจ้าคณะจังหวัด แต่ไม่มีปัญหาอะไรเปิดรูจมูกไว้ให้หายใจได้สักระยะหนึ่ง ถ้ากฎหมายนี้ผ่านได้สำเร็จ ในอนาคตจะขยายอำนาจการแต่งตั้งลงไปถึง เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล หรือแม้แต่เจ้าอาวาส ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอันใด เพราะฉะนั้น ในอนาคตอันไม่ไกล เมืองไทยเรานี้นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แต่งตั้งเจ้าอาวาสทุกวัดทั่วราชอาณาจักร ปัญหาใหญ่ก็คือ ถ้านายกรัฐมนตรีของประเทศไทยไม่ใช่ผู้นับถือพระพุทธศาสนา อะไรจะเกิดขึ้น? กรุณาอย่าอ้างนะครับว่า-ถ้าเป็นเช่นนั้น โดยมารยาททางการเมือง นายกรัฐมนตรีก็อาจจะมอบหมายให้รองนายกฯ หรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งที่เป็นชาวพุทธเป็นผู้รับผิดชอบ

ที่ผมบอกว่ากรุณาอย่าอ้างก็เพราะว่า เมื่อถึงเวลานั้นไม่มีใครรับประกันได้เลยว่า นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาจะมีมารยาททางการเมืองอย่างที่คาดหวังหรือไม่ ถึงตอนนั้น นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาอาจจะอ้างหน้าตาเฉยเหมือนที่มีผู้นิยมอ้างอยู่ในเวลานี้ว่า ‘ก็กฎหมายเขียนไว้อย่างนั้น ข้าพเจ้าทำตามกฎหมาย’ ใครจะทำอะไรได้

นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาอาจจะคัดสรร ‘พระ’ ที่ตนกำกับดูแลได้เข้าไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ในคณะสงฆ์ไทยได้ตามสบาย ใครจะทำอะไรได้ 

ถ้าจะกำหนด ‘หลักการใหม่’ ให้เหมาะสมแก่การที่เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ ผมมีข้อเสนอดังนี้ ข้อหนึ่ง-ปรับแก้หลักการที่ว่า ‘ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้ง’ โดยเพิ่มเติมข้อความว่า ‘การแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมและเจ้าคณะพระสังฆาธิการทุกระดับชั้นให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย’

นั่นหมายความว่า พระมหากษัตริย์จะทรงคัดสรรตัวพระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งต่างๆ ด้วยพระองค์เอง หรือจะทรงมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของผู้หนึ่งผู้ใดก็สุดแต่พระราชอัธยาศัย นายกรัฐมนตรีหรือใครก็ตามไม่ต้องมายุ่งด้วย

ข้อสอง-ถ้ายังต้องการจะให้นายกรัฐมนตรีเป็น “ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” ให้ได้ ก็ขอให้มีกฎหมายกำหนดไว้ให้ชัดเจนว่า ‘นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยต้องเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาเท่านั้น’ อย่างนี้จึงจะเป็นหลักประกันว่า แม้ฆราวาสจะเป็นผู้แต่งตั้งพระ แต่ฆราวาสผู้นั้นก็เป็นชาวพุทธแน่ๆ ถ้าจะโต้แย้ง (ซึ่งต้องมีผู้โต้แย้งแน่นอน) ว่า ไปกำหนดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพทางการเมือง ผิดหลักประชาธิปไตย

ก็ต้องกำหนดหลักการใหม่ที่มีหลักประกันได้แน่นอนว่า ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งพระ-ถ้ายังยืนยันจะให้เป็นฆราวาส-ก็จะต้องเป็นชาวพุทธเท่านั้น ไม่เปิดโอกาสให้ผู้นับถือศาสนาอื่นเข้ามามีส่วนยุ่งเกี่ยวด้วยเด็ดขาด-ซึ่งเป็นหลักการที่ถูกต้องที่สุดอยู่แล้ว”

ด้าน พระครูปลัดกวีวัฒน์ รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คณะสงฆ์บางส่วนยังมีความหนักใจในกระบวนการสรรหาพระเถระที่จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมนั้นจะมีกระบวนการและขึ้นตอนในการพิจารณาเช่นไร ผู้ใดจะเป็นผู้สรรหา จะมีคณะกรรมการสรรหาร่วมกันระหว่างฝ่ายคณะสงฆ์ และรัฐบาลหรือไม่ หรือจะเป็นการพิจารณาจากฝ่ายรัฐบาลฝ่ายเดียว ในประเด็นที่กล่าวมาซึ่งเป็นประเด็นหลักที่สังคมให้ความสนใจ ถือว่ายังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากคณะกรรกรรมการกฤษฎีกา จึงขอให้ชาวพุทธได้ติดตามในขั้นตอนการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ต่อไปว่าในขั้นตอนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะมีการแสดงความชัดเจนในที่มาของคณะกรรมการมหาเถรสมาคมหรือไม่