posttoday

บวชถวายพระสังฆราช ตามรอยบาทพระศาสดา (2)

24 ธันวาคม 2560

การจาริกธรรมไปยังสังเวชนียสถานทั้งสี่ ประกอบด้วย สวนลุมพินีวัน สถานที่ประสูติ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ สารนาถ สถานที่แสดงปฐมเทศนา

โดย วรธาร

การจาริกธรรมไปยังสังเวชนียสถานทั้งสี่ ประกอบด้วย สวนลุมพินีวัน สถานที่ประสูติ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ สารนาถ สถานที่แสดงปฐมเทศนา และกุสินารา สถานที่ปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในดินแดนพุทธภูมิ (อินเดีย-เนปาล) ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-9 ธ.ค. 2560 ถือเป็นภารกิจหลักของพระภิกษุสามเณร 99 รูป ในโครงการอุปสมบทพระภิกษุ ณ ดินแดนพุทธภูมิ ถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งจัดโดยมูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม ในความริเริ่มของ ศ.กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานมูลนิธิฯ ร่วมกับบริษัท การบินไทยสมายล์

บวชพุทธคยาแดนสัมมาสัมโพธิญาณ

วันที่ 30 พ.ย.-2 ธ.ค. เป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุสามเณรนวกโพธิ 99 รูป ตลอดจนชีพรหมโพธิ (ชีพราหมณ์) ที่บวชถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระสังฆราช ในโครงการได้พำนักอยู่วัดไทยพุทธคยา โดยได้รับความเมตตาจากพระธรรมโพธิวงศ์ (วีระยุทธ์ วีรยุทโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล เป็นอย่างดี

ทั้งที่พัก อาหาร (อู่ข้าว) น้ำปานะ (อู่น้ำ) ล้วนสัปปายะสะดวกสบาย และชาวพุทธโดยเฉพาะคนไทยที่เดินทางมาแสวงบุญ ณ พุทธคยา มักจะเลือกมาพักที่วัดแห่งนี้ ซึ่งถือเป็นสถานที่รับรองผู้แสวงบุญโดยเฉพาะ ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังสถานที่สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในที่ต่างๆ ต่อไป

บวชถวายพระสังฆราช ตามรอยบาทพระศาสดา (2)

กล่าวถึงพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นถือเป็น 1 ใน 4 สังเวชนียสถาน ที่ทางโครงการได้เลือกเป็นจุดสตาร์ทด้วยการจัดบรรพชาอุปสมบท ก่อนที่จะเดินทางจาริกธรรมไปสังเวชนียสถานที่เหลือในเมืองต่างๆ

ต้องยอมรับว่า การเลือกพุทธคยาและวัดไทยพุทธคยาเป็นที่ประกอบพิธีบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุสามเณรในโครงการถือเป็นความหลักแหลมของผู้ริเริ่มโครงการที่มุ่งหวังอยากให้ผู้บวชทุกคนได้นึกย้อนไปเมื่อครั้งที่พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญความเพียรทางใจ ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์แล้วตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พร้อมทั้งเกิดการอนุสรณ์ในใจว่า การมาบวชครั้งนี้เสมือนการบวช ณ เบื้องพระพักตร์พระพุทธองค์ผู้ประทับอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์จริงๆ และถือเป็นการเกิดใหม่ในทางธรรมหรือทางปัญญาของทุกคนด้วย

ธนิต เสนศักดิ์ หนึ่งในผู้อุปสมบทเผยความรู้สึกของการบวชที่นี่ว่า พุทธ คยาในค่ำวันนี้ (30 พ.ย. วันบรรพชา) วิเศษมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาสละชุดนาคแล้วครองผ้าเหลืองเป็นความปีติที่บอกไม่ถูก ซึ่งการได้บวชพระพุทธศาสนานั้นประเสริฐอยู่แล้ว ทว่าการที่ได้มาบวชภายใต้ ต้นพระศรีมหาโพธิ์สถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้จริงๆ สุดจะพรรณนาความรู้สึกได้

"นี่เป็นการบวชพระครั้งแรกในชีวิต พูดได้คำเดียวว่าตื้นตันมากครับ พอห่มผ้าเหลืองแล้วมานั่งลงตรงเบื้องหน้าพระอุปัชฌาย์ที่เบื้องหลังคือต้นพระศรีมหาโพธิ์ รอเพื่อนๆ ที่กำลังครองผ้าเพื่อมารับไตรสรณคมน์และสิกขาบทสิบพร้อมกัน ผมได้เพ่งมองไปที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ทำให้เกิดปีติขึ้นมาทันที

ลองคิดดูว่า พิธีบวชใช้เวลาค่อนข้างนาน ปกติผมนั่ง 2-3 นาที ก็ปวดขาแล้ว แต่ไม่อยากเชื่อเหมือนกันว่า ตัวเองจะนั่งได้นานโดยไม่รู้สึกปวด ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร แต่นี่คือความรู้สึกตอนบวชเณรใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พอบวชแล้วผมตั้งใจอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองหลังจากลาสิกขา อยากฝึกใจให้อารมณ์เย็นขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน"

ขณะที่ ประชุม โซวิกุล บอกว่า ไม่นึกว่าพอมองจากข้างนอกเข้าไปยังบริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์ เห็นผู้คนมากมาย ดูวุ่นวาย แต่พอเข้าใกล้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ บรรยากาศดูสงบนิ่งมาก แม้ว่าจะมีเสียงสวดมนต์เป็นระยะจากคณะแสวงบุญต่างๆ ก็ตาม แต่ถ้าสังเกตให้ดีคนที่นั่งสมาธิ ทุกคนนิ่งสงบอย่างยิ่ง เงียบไปจนถึงข้างในใจเลยทีเดียว

บวชถวายพระสังฆราช ตามรอยบาทพระศาสดา (2)

"ผมชอบพุทธคยา โดยเฉพาะบริเวณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เวลาพระอาจารย์วิทยากรและพระพี่เลี้ยงพามาทำวัตร สวดมนต์เย็นนั่งสมาธิ แผ่เมตตาในเย็นวันที่ 1 ธ.ค. ผมได้ระลึกถึงการบำเพ็ญเพียรและการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ตามที่พระอาจารย์วิทยากรเล่าให้ฟัง กว่าที่พระองค์จะตรัสรู้ต้องผ่านความยากลำบากแสนสาหัสนานัปการนานเป็นเวลา 6 ปี

การมาบวชที่นี่ทำให้ผมได้เห็นสัจธรรมข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นความจริงเสมอก็คือ การที่คนเราจะประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ว่าจะด้านไหนก็ตาม ถ้าได้ลงมือทำอะไรแล้วจะต้องมีความมุ่งมั่นและไม่ยอมแพ้ง่ายๆ อย่างพระมหาบุรุษและต้องสำเร็จอย่างแน่นอน"

ไปกราบพระพุทธเจ้าที่ยอดเขาคิชฌกูฏ

วันที่ 2 ธ.ค. คณะของโครงการได้เดินออกเดินทางจากวัดไทยพุทธคยามุ่งหน้าสู่เมืองราชคฤห์ โดยมีจุดหมายอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ วัดเวฬุวันมหาวิหาร วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ดำ และมหาวิทยาลัย นาลันทา ทั้งหมดตั้งอยู่ในเขตเมืองราชคฤห์ ปัจจุบันอยู่ในรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

ต้องยอมรับว่า แม้ว่าราชคฤห์ไม่ได้จัดเป็นสังเวชนียสถานทั้งสี่ แต่ก็ถือว่าเป็นแผ่นดินที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประดิษฐานพระพุทธศาสนาเจริญมั่นคงเป็นปึกแผ่นที่แรก

ราชคฤห์ จึงเป็นเมืองที่มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาอย่างมากในหลายๆ ด้าน เช่น เป็นเมืองที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วเสด็จมาแสดงธรรมโปรดและได้บรรลุโสดาบัน (คือพระเจ้าพิมพิสาร) เป็นที่ประชุมทำสังคายนาครั้งที่ 1 อันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมีพระเจ้าอชาตศัตรู โอรสของพระเจ้าพิมพิสาร ทรงให้การอุปถัมภ์ สังคายนา ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา

พระอัครสาวกคู่พระบารมีของพระพุทธเจ้า คือ พระสารีบุตรและ โมคคัลลานะ ก็เป็นชาวเมืองราชคฤห์ เกิดที่นาลันทา วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาก็อยู่ที่ราชคฤห์ พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ (สัพพปาปัสสะ อะกะระณัง กุสลัสสูปะสัมปะทา สะจิตตะปะริโยทะปะนัง ฯลฯ) อันเป็นหลักการของพระพุทธศาสนาก็ที่เมืองนี้

จุดแรกที่คณะได้เดินทางไปคือ พระมูลคันธกุฎี (กุฏิพระพุทธเจ้า) บนยอดเขาคิชฌกูฏ (ภูเขาที่มีลักษณะเหมือนหัวนกแร้ง) เพื่อประกอบพิธีทำวัตรสวดมนต์ เจริญจิตตภาวนา แผ่เมตตา เป็นการบูชาและน้อมรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ก่อนขึ้นไปพระคันธกุฎีของพระพุทธเจ้าจะผ่านสถานที่ที่มีความสำคัญเกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งพุทธกาลมากมาย หนึ่งในนั้นคือ ถ้ำสุกรขาตา ซึ่งเป็นถ้ำที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหัวธรรม "เวทนา ปริคคหสูตร" โปรดทีฆนขปริพพาชก ขณะที่พระสารีบุตรนั่งอยู่ด้วยก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนทีฆนขปริพพาชกได้ดวงตาเห็นธรรม

จากนั้นเดินต่อไปอีกนิดเดียวก็ถึงปากถ้ำแคบๆ และเตี้ย แคบกว่าถ้ำสกรขาตาด้วย ภายในมีแท่นหินพระวิทยากรเล่าว่า เป็นที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอุบายแก้ง่วงแก่พระมหาโมคคัลลานะที่บำเพ็ญเพียรแล้วถูกความถีนมิทธะ (ความง่วง) ครอบงำ ซึ่งภายหลังท่านได้บำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ โดยใช้เวลาหลังจากได้อุบายแก้ง่วงจากพระพุทธเจ้าเพียง 7 วัน

เดินเลยถ้ำที่พระมหาโมคคัลลานะบำเพ็ญเพียรมานิดเดียวก็ถึงพระคันธกุฎีของพระพุทธเจ้า แต่ก่อนถึงพระคันธกุฎีของพระพุทธเจ้าทางซ้ายมือจะเป็นคันธกุฎีของพระอานนท์ พระพุทธอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ลักษณะเป็นอิฐเก่าก่อขอบขึ้นสูงประมาณไม่เกิน 1 ฟุตครึ่ง ขณะที่พระคันธกุฎีพระพุทธเจ้าวัดด้วยศอกกว้าง 3 ศอกคืบ ยาว 4 ศอก

บวชถวายพระสังฆราช ตามรอยบาทพระศาสดา (2)

สวดติโรกุฑฑสูตรที่วัดเวฬุวันมหาวิหาร

คณะใช้เวลาสวดมนต์ เจริญจิตภาวนา แผ่เมตตานานพอสมควรก่อนลงจากเขา เพื่อไปฉันภัตตาหารและรับประทานอาหารพร้อมออกเดินทางต่อไปยังวัดเวฬุวันฯ วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ซึ่งวัดแห่งนี้เดิมเป็นสวนไม้ไผ่ของพระเจ้าพิมพิสาร หลังจากพระองค์สดับพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถาจากพระพุทธเจ้าที่ลัฏฐิวัน (สวนตาลหนุ่ม) และได้บรรลุโสดาบันแล้วก็ได้น้อมถวายสวนไผ่แห่งนี้แด่พระพุทธเจ้า

สำหรับวัดเวฬุวันฯ ถือเป็นวัดที่พระพุทธองค์ได้แสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระอรหันต์ 1,250 รูป ทั้งหมดล้วนอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาและมาประชุมกันโดยไม่ได้นัดหมายในวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวันมาฆบูชานั่นเอง

ทางคณะนำโดย พระเมธีวรญาณ รักษาการเจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิ พุทธชยันตี หัวหน้าพระธรรมวิทยากรประจำโครงการได้นำคณะไปนั่งสวดมนต์ เจริญจิตภาวนา และแผ่เมตตายังลานจาตุรงคสันนิบาต สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระอรหันต์ 1,250 รูปนั่นเอง

ในการสวดมนต์ครั้งนี้ เพื่อให้เข้ากับสถานที่วัดเวฬุวันฯ พระเมธีวรญาณ ได้นำบทติโรกุฑฑสูตรที่ขึ้นต้นด้วยบทว่า อะทาสิ เม อะกาสิ เม ญาติมิตตา สะขา เม ฯลฯ เป็นหนึ่งในบทสวดด้วย เนื่องจากพระเจ้าพิมพิสารหลังจากน้อมถวายวัดเวฬุวันฯ แล้วก็ได้กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญแก่ญาติของพระองค์ในอดีตชาติที่ตายไปแล้วเกิดเป็นเปรตมาขอส่วนบุญ

บวชถวายพระสังฆราช ตามรอยบาทพระศาสดา (2)

จากนั้นได้เดินทางไปสวดมนต์นั่งสมาธิที่วิหารพระพุทธรูปองค์ดำ และได้เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยนาลันทาพร้อมถ่ายรูป ด้านหน้าสถูปปรินิพพานของพระสารีบุตรเป็นที่ระลึกก่อนจะเดินทางกลับวัดไทยพุทธคยาเป็นเสร็จสิ้นโปรแกรมวันที่ 2 ธ.ค.