posttoday

บวชถวายพระสังฆราช ตามรอยบาทพระศาสดา (1)

17 ธันวาคม 2560

โครงการอุปสมบทพระภิกษุ ณ ดินแดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย ถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช

โดย วรธาร ทัดแก้ว

โครงการอุปสมบทพระภิกษุ ณ ดินแดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย ถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-9 ธ.ค. 2560 ในความริเริ่มและจัดขึ้นของมูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม โดยการนำของ ศ.กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานมูลนิธิฯ ร่วมกับบริษัท การบินไทยสมายล์

ถือเป็นการจัดอุปสมบทหมู่เพื่อถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระสังฆราชในรัชกาลปัจจุบันครั้งแรก ในโอกาสที่พระสังฆบิดรทรงเจริญพระชันษาครบ 91 พระชันษา ในวันที่ 26 มิ.ย. 2561 ทั้งยังเป็นการบวชภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์อันเป็นต้นไม้ที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ พุทธยา ประเทศอินเดียอีกด้วย

โครงการนี้มีผู้ศรัทธาสมัครเข้าร่วมพิธีอุปสมบทหลากหลาย ประกอบด้วยข้าราชการ อัยการ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ทหาร พนักงานรัฐวิสาหกิจ นักธุรกิจ เจ้าของกิจการ ประชาชน และผู้บริหารบริษัทเอกชน รวมจำนวน 95 คน ผู้สมัครบวชสามเณรอีก 4 รวม 99 คน พร้อมกันนี้มีผู้สมัครบวช ชีพราหมณ์ถวายพระกุศลด้วย 21 คน

ในวันที่ 29 พ.ย. ผู้สมัครบรรพชาและอุปสมบททั้ง 99 คน มี ศ.กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ ประธานกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย เป็นต้น ได้เข้าพิธีปลงผม เข้ารับประทานผ้าไตรจีวร และพระโอวาทจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

บวชถวายพระสังฆราช ตามรอยบาทพระศาสดา (1)

จากนั้นวันที่ 30 พ.ย. 2560 คณะโครงการฝ่ายฆราวาสนำโดย ศ.กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ ขณะที่พระสงฆ์นำโดยพระเมธีวรญาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ และรักษาการเจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี หัวหน้าพระธรรมวิทยากรประจำโครงการฯ ได้ออกเดินทางไปประกอบพิธีบรรพชาอุปสมบท ณ ประเทศอินเดีย และจาริกไปยังสังเวชนียสถานทั้งสี่แห่ง ตลอดจนสถานที่สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ระหว่างวันที่ 1-9 ธ.ค. เพื่อศึกษาพุทธจริยาอันควรค่าแก่การน้อมนำมาเป็นหลักในการเป็นพุทธบริษัทที่ดีต่อไป

ในโอกาสนี้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ได้รับโอกาสให้ร่วมเดินทางไปกับคณะด้วย จึงขอประมวลกิจกรรมอันงดงามที่เกิดขึ้นตลอด 9 วัน ณ ดินแดนพุทธภูมิของพระภิกษุสามเณรในโครงการและคณะ โดยแยกเป็น 4 ตอน 4 สัปดาห์ ด้วยหวังว่าการนำเสนอนี้จะเป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชนผู้เห็นมหากุศลกรรมนี้แล้วจะเกิดอุตสาหะศรัทธาอันแรงกล้าหันมาใส่ใจ บำรุงรักษาพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญมั่นคงสถาพร และประพฤติตนเป็นชาวพุทธที่ดีสืบต่อไป

พระธรรมโพธิวงศ์ให้การบรรพชา

การบรรพชาไม่ว่าจะประกอบพิธีที่ไหนขอเพียงมีพระอุปัชฌาย์ให้การบรรพชาก็เป็นอันสำเร็จเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แต่การได้มาบรรพชาภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นไม้ที่พระมหาบุรุษประทับทรงกระทำความเพียรและได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นไม่ใช่จะได้ง่ายๆ ถ้าไม่มีโครงการแบบนี้ถึงมีศรัทธาก็ต้องบอกว่าหาโอกาสยากเต็มที

ทั้ง 99 คนจึงนับว่าโชคดีอย่างยิ่งที่ได้บวชสามเณรภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นสถานที่ 1 ใน 4 ของสังเวชนียสถานอีกด้วย เหนืออื่นใดคือการได้รับความเมตตาจากพระธรรมโพธิวงศ์ (วีระยุทธ วีรยุทโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาและหัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยเริ่มบรรพชาในเวลา 16.00 น. ของวันที่ 30 พ.ย. เสร็จสิ้นในเวลา 19.00 น. โดยประมาณ จากนั้นประกอบพิธีอุปสมบท (บวชพระ) ต่อ ณ พระอุโบสถวัดไทยพุทธคยา

ทว่า เนื่องจากผู้อุปสมบทมีจำนวนถึง 95 รูป การประกอบพิธีอุปสมบทจึงต้องแบ่งเป็น 2 วัน คือ คืนวันที่ 30 พ.ย. ล่วงไปถึงเวลา 02.45 น. และวันที่ 1 ธ.ค. เริ่มเวลา 05.00 น. ไปเสร็จสิ้นในเวลา 11.00 น. โดยประมาณ ดังนั้นจึงต้องมีการสลับพระอุปัชฌาย์ขึ้นทำหน้าที่ 2 รูป ได้แก่ พระธรรมโพธิวงศ์ และพระศรีโพธิวิเทศ เจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล

บวชถวายพระสังฆราช ตามรอยบาทพระศาสดา (1)

การอุปสมบทครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดพระภิกษุตระกูล "โพธิ" ทั้ง 95 รูป กล่าวคือ ฉายาของทุกรูปจะมีคำว่า "โพธิ" อยู่ด้วย ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์และเอกลักษณ์ที่บอกให้รู้ว่าคำว่า โพธิ ในที่นี้หมายถึงผู้ที่ได้รับการบวชภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ (โพธิ-ต้นไม้ที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า-การตรัสรู้ธรรม-ผู้เบิกบานในธรรม) หรือหมายถึงผู้ที่ได้รับการบวชที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย

"คำว่า 'โพธิ' ที่ตั้งในฉายาของทุกรูปเป็นความตั้งใจ เพราะถือว่าทุกคนมาบวชภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ บวชที่พุทธคยา สถานที่จริงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง พอบวชแล้วก็ไม่ได้เรียกพระนวกะ ธรรมดาๆ แต่เราจะเรียกว่า พระนวกโพธิ ส่วนผู้บวชชีพราหมณ์นั้นก็เรียกว่าชีพรหมโพธิ" พระธรรมโพธิวงศ์อธิบายที่มาของการตั้งฉายาพระในโครงการ

อุปัชฌาย์สอนยกระดับจิตใจ

พระธรรมโพธิวงศ์ได้กล่าวให้โอวาทในวันมอบฉายาบัตรแก่พระนวกโพธิ ณ วัดไทยพุทธคยา ว่า ทุกคนที่มาบวชครั้งนี้ถือว่าได้แสดงความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาที่มีในตนอันเป็นอันสิ่งที่บิดามารดาได้เตรียมการไว้ให้ ซึ่งต้องขอบคุณพ่อแม่ที่ได้เตรียมศาสนาไว้ให้ทุกคนเป็นคนมีศาสนาและมีศาสนาเป็นที่พึ่งในการนำมาปฏิบัติให้รอดพ้นจากกองเพลิงทั้งสาม (โลภะ โทสะ โมหะ)

"นั่นเพราะพ่อแม่ต้องการให้มีพระคุ้มครอบครองลูก พ่อแม่คุ้มครองลูกได้เฉพาะในส่วนของตาเห็น เมื่อเว้นจากตาพ่อแม่ไปแล้วเดินไปตามถนน ไปสู่สถานที่ใดๆ พ่อแม่ก็อาศัยคุณของพระศาสนาช่วยดูแลลูกของท่าน ดูแลลูกของท่านไม่เพียงพอถึงขนาดดูแลหลานของท่าน ดูแลหลานของท่านไม่เพียงพอยังดูแลนามสกุลของท่านที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้ด้วย"

บวชถวายพระสังฆราช ตามรอยบาทพระศาสดา (1)

พระธรรมโพธิวงศ์ กล่าวสอนต่อว่า การที่ทุกคนได้บวชในครั้งนี้เพราะได้ผู้ใหญ่ที่มีใจประกอบด้วยธรรมะ คือ ศ.กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งเป็นผู้มีทิศทางการใช้ชีวิตทางโลกที่น่าเคารพและเป็นผู้มีโชคได้ศึกษาพระพุทธศาสนาจนถ่องแท้ และเมื่อได้ศึกษาแล้วยังใช้ความสามารถของตนนำพระพุทธศาสนามาปรับใช้พร้อมถ่ายทอดให้คนอื่นอีกด้วย

"ท่านอาจารย์บวรศักดิ์ได้นำพวกเรามาฝากเนื้อฝากตัวเป็นสาวกระดับใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า ก็ขอให้ลูกพระทั้งหลายจงรู้ว่า เราไม่ได้บวชในสถานที่ธรรมดา เราไม่ได้มาไหว้พระธรรมดา เรามาไหว้พระในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ฉะนั้นจะต้องอัพเกรดกาย วาจา ใจของตัวเองให้ดีขึ้น สูงขึ้น

กายคือการเดิน การห่มผ้า ต้องให้ดุจหนึ่งมีตัวอย่างการเข้าเฝ้า หรือการเข้าไปนั่งอยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่ วาจา การพูดการจาต้องสุภาพสมสมณสารูป บทสวดมนต์ต้องให้คล่องแคล่ว ส่วนใจพยายามเก็บสะสมเอาสิ่งที่เป็นพลังศักดิ์สิทธิ์กลับไปให้มากที่สุด"

เหตุที่เลือกบวช ณ อินเดีย

ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน โครงการฯ ได้ให้สัมภาษณ์ขณะเป็นพระภิกษุ (ได้รับฉายาว่า ญาณปวรโพธิ) ว่า เคยมาอินเดียประมาณ 20 กว่าครั้ง แต่ไม่เคยบวชที่อินเดีย ครั้งนี้เป็นการบวชที่อินเดียครั้งแรกในชีวิตจึงรู้สึกปีติอย่างมาก

"ในชีวิตอาตมาเคยผ่านการบวช 3 ครั้ง แต่ไม่เคยบวชที่แดนพุทธภูมิเลย ครั้งนี้รู้สึกอิ่มใจเพราะตั้งใจอยู่ว่าถ้ามีโอกาสก็อยากบวชที่อินเดียสักครั้ง พอจัดโครงการนี้เลยรู้สึกว่า ถ้าหากว่าคนที่ไม่เคยมาอินเดียและถ้าเขาได้มาในลักษณะพุทธสาวกเต็มตัวคงจะได้อะไรหลายอย่าง เช่น ได้เห็นว่าพระพุทธเจ้านั้นมีจริง ได้เห็นว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นยังเป็นผลปรากฏอยู่จริง

เฉพาะอย่างยิ่งถ้าไปกุสินาราสถานที่ปรินิพพาน ทุกคนจะได้รู้ว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสก่อนปรินิพพานว่า อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ เธอจงตั้งอยู่ในความไม่ประมาทพร้อมเถิดนั้น หมายถึงว่าพวกเราจะต้องลงมือทำความดีตั้งแต่บัดนี้ นับเป็นนาที นับเป็นชั่วโมง นับเป็นวัน มิใช่นับเป็นปี ผัดวันประกันพรุ่งไม่ได้ อย่างอาตมาอายุ 64 แล้ว ต้องถือว่าไฟกำลังไหม้ศีรษะ จะผัดวันประกันพรุ่งไม่ได้ ต้องดับไฟบนศีรษะให้ได้เสียก่อนด้วยการรีบทำความดี ไม่ประมาท นี่คือเหตุผลของการเลือกโครงการบวชที่อินเดีย"

บวชถวายพระสังฆราช ตามรอยบาทพระศาสดา (1)

ด้าน คำนูณ สิทธิสมาน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย เผยว่า ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะบวชจนวันนี้อายุ 62 การบวชครั้งจึงถือว่าเป็นบุญพาวาสนาส่งโดยแท้ที่ทำให้มีโอกาสหวนคืนสู่วิถีดั้งเดิมที่ควรจะเป็น

"เดิมผมคงคล้ายคนไทยจำนวนหนึ่ง กับพุทธศาสนาแล้วเหมือนใกล้จนแทบเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่กลับอยู่ไกลจนแทบจับแก่นสารไม่ได้ เกิดมาก็ปรากฏช่องทะเบียนราษฎรว่านับถือศาสนาพุทธ ทั้งบ้านอยู่ใกล้วัด ใส่บาตร จำบทสวดมนต์พื้นฐานได้ ทว่ายิ่งโตมีความรู้มีประสบการณ์มากกลับยิ่งห่างไกลศาสนาพุทธในเชิงสารัตถะออกไปทุกที"

คำนูณ เล่าต่อว่า เคยใกล้พระพุทธศาสนายิ่งกว่าคนไทยคนอื่น เกิดอยู่หลังวัดประยุรวงศาวาส มีพ่อเป็นอดีตพระมหาเปรียญ 6 ประโยค แต่กลับซึมซับพระพุทธศาสนาน้อยกว่าที่ควร และให้ความสำคัญน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

"การบวชครั้งนี้จึงนับเป็นบุญวาสนาของผมโดยแท้ที่ได้มีโอกาสหวนคืนสู่วิถีดั้งเดิมที่ควรจะเป็น แม้วันนี้ลาสิกขาแล้ว แต่ก็จะพยายามกลับไปใกล้พระพุทธศาสนาที่เป็นแก่นแท้ต่อไปให้มากที่สุด ผมไม่ใช่แค่ต้องการให้การบวชครั้งนี้เป็นเพียงประสบการณ์ล้ำค่าเท่านั้น หากยังต้องการให้เป็นจุดเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่น้อมนำคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มากำกับให้มากกว่าเดิม และให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ด้วย" คำนูณ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามตอน 2 วันอาทิตย์ที่ 24 ธ.ค.